Page 1 of 1

ปีที่ 33 SVOA ถึงเวลา "ส่งไม้ต่อ" ความท้าทายท่ามกลางบิ๊กเชนจ

Posted: 12 Mar 2015, 14:18
by brid.ladawan
ปีที่ 33 SVOA ถึงเวลา "ส่งไม้ต่อ" ความท้าทายท่ามกลางบิ๊กเชนจ์ธุรกิจไอที


ถือเป็นบริษัทไอทียุคบุกเบิกในประเทศไทยเลยก็ว่าได้ สำหรับ "เอสวีโอเอ" หรือที่ในยุคก่อตั้งรู้จักกันในชื่อ "สหวิริยา" จากวันนั้นถึงวันนี้เข้าสู่ปีที่ 33 แล้ว ซึ่งตลอด 30 กว่าปีที่ผ่านมา อยู่ภายใต้การกุมบังเหียนของ "แจ๊ค มินทร์ อิงค์ธเนศ" หนุ่ม (ใหญ่) สัญชาติไต้หวันหัวใจไทย ที่ปั้นอาณาจักรธุรกิจนี้มากับมือ เริ่มจากการนำอุปกรณ์ไอทีมาจัดจำหน่าย และขยายขอบเขตธุรกิจไปไกลกว่าเดิมมาก จนเรียกได้ว่าครบวงจร ทั้งค้าปลีก ค้าส่ง ติดตั้งระบบ รวมถึงปล่อยสินเชื่ออีกต่างหาก

ไม่เฉพาะเทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วเท่านั้น แต่ต้องยอมรับว่าในช่วงหลายปีมานี้ธุรกิจไอทีเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัว

ในปีที่ 33 "เอสวีโอเอ" ถึงเวลาเปลี่ยนไปสู่ยุคใหม่ เมื่อ "แจ๊ค" ตัดสินใจวางมือจากตำแหน่งแม่ทัพธุรกิจในวัย 60 ปี ไปนั่งเป็นบอร์ดคุมนโยบายในภาพรวมแทน พร้อมกับส่งไม้ต่อให้ผู้บริหารมืออาชีพ "ฐิตกร อุษยาพร" เป็นกรรมการผู้จัดการคนใหม่

"ประชาชาติธุรกิจ" มีโอกาสพูดคุยกับทั้งคู่ถึงจังหวะก้าวใหม่ของเอสวีโอเอ ความท้าทาย ทั้งต่อการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจพฤติกรรมผู้บริโภค และการแข่งขันดังนี้






แจ็ค มินทร์ อิงค์ธเนศ

- ทำไมถึงตัดสินใจวางมือ

ผมคิดว่า 33 ปีที่ทำธุรกิจมาเหมือนนักโต้คลื่นวัยหนุ่ม ที่พร้อมเผชิญกับคลื่นขนาดใหญ่ของอุตสาหกรรมไอทีที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ แต่เพื่อให้สู้กับคลื่นเหล่านี้ได้ดีขึ้นจึงขอเปลี่ยนตำแหน่งตนเองเป็นผู้ก่อตั้งและกรรมการบริหาร จากเดิมที่นั่งเป็นกรรมการผู้จัดการ มาตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อปั้นคนรุ่นใหม่ให้ขึ้นรับตำแหน่งนี้และพาเอสวีโอเอเดินหน้าได้เต็มประสิทธิภาพ จากนี้จะทยอยปรับโครงสร้างองค์กรภายใน และเทรนนิ่ง

- เตรียมการก่อนวางมือนานแค่ไหน

เริ่มวางแผนปรับโครงสร้างองค์กรมาตั้งแต่ปี 2556 ถือเป็นช่วงบิ๊กเชนจ์ในวงการไอทีไทยกำลังเริ่มต้น จากการหดตัวอย่างรวดเร็วของตลาด ทิศทางผลิตภัณฑ์ และความต้องการของผู้บริโภค เราเริ่มควบคุมค่าใช้จ่ายเพื่อรักษากำไร แม้รายได้จะลดลงอย่างรวดเร็ว

ปี 2557 เอสวีโอเอมีรายได้ 6,432 ล้านบาท น้อยกว่าปี 2556 ที่ทำได้ 7,100 ล้านบาท แต่ในแง่กำไรอยู่ที่ 62 ล้านบาท มากกว่าปี 2556 ที่ทำได้ 60 ล้านบาท

- อดีตและปัจจุบันของตลาดไอที

ผมอยู่มานานทำให้รู้ว่าตลาดไอทีไม่เคยอยู่นิ่ง โดยเฉพาะในไทย ทั้งกีฬาสี, ภัยธรรมชาติ และการเมือง จากนี้ต้องเปลี่ยนแปลงอีกแน่นอน ดังนั้นเราต้องเตรียมตัวโดยคาดการณ์ล่วงหน้า 4-5 ปี เพราะบริษัทไอทีขนาดใหญ่ทั้งระดับโลกและในไทยค่อย ๆ ล้มหายไปทีละราย ไม่เหมือนอุตสาหกรรมอื่นที่ไม่ต้องคาดการณ์ เพราะตลาดเปลี่ยนแบบบังคับ เช่น รถยนต์ ทุกรายต้องผลิตรถที่ใช้พลังงานทางเลือกรองรับน้ำมันที่จะไม่มีอีกต่อไปก่อนหน้านี้มีคนมาชวนผมทำธุรกิจพลังงานทางเลือกแต่ผมว่ามันช้าไปแล้วและไม่ถนัดดังนั้นไม่เอาดีกว่า

ส่วนการประมูลโครงการ เราค่อนข้างโดดเด่น เคยทำโครงการใหญ่ ๆ ทั้งระบบคำนวณคะแนนเลือกตั้ง ระบบตู้เอทีเอ็ม คลาวด์ภาครัฐ และระบบจัดการข้อมูลของ สพธอ. แต่ไม่มีใครครองโปรเจ็กต์ได้ทุกงาน เราหวังแค่ 10% ของมูลค่าก็โอเคแล้ว

- ความหวังในรุ่นต่อไป

จริง ๆ แล้วการทำธุรกิจซื้อมาขายไป หรือธุรกิจอื่น ๆ สุดท้ายไม่ได้ดูที่รายได้ แต่ดูที่กำไรว่าสามารถเลี้ยงบริษัทได้หรือไม่ ซึ่งเอสวีโอเอก็จะทำอย่างนี้เหมือนกัน เน้นหาสินค้าใหม่ ๆ เข้ามาตอบโจทย์ลูกค้าฝั่งผู้บริโภคและองค์กร ที่สำคัญคือต้องให้เกิดกำไรด้วย โดยดีลกับพาร์ตเนอร์มากขึ้น เพราะขณะนี้อุตสาหกรรมไอทีเหมือนอยู่ในหน้าหนาว ต้องหาเสื้อผ้าหนา ๆ มาให้ความอบอุ่น หาที่อยู่ที่อบอุ่น เพื่อเวลาหิมะละลายจะได้พร้อมเดินต่อ

เราจะนำทุกบริษัทในเครือเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ธุรกิจเรามี 5 ขา ได้แก่ ธุรกิจช่องทางจำหน่าย, โครงการไอที ดำเนินการโดยเอสวีโอเอ, ไอทีซุปเปอร์สโตร์ โดยไอทีซิตี้, สินเชื่อและผลิตภัณฑ์การเงิน โดยลีช อิทธุรกิจที่ปรึกษาวางระบบคอมพิวเตอร์ โดยดาต้าวัน เอเชีย อีก 2 ปีจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

- ดิจิทัลอีโคโนมีช่วยดันธุรกิจ

เราคาดหวังพอสมควร เพราะปีที่แล้วหายไปเยอะทำให้รายได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด การที่ภาครัฐใช้นโยบายดิจิทัลอีโคโนมีจะทำให้วงการไอทีกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากที่ปีก่อนรัฐบาลอยู่ในภาวะสุญญากาศ แต่ต้องช่วยกันถามด้วยว่า ดิจิทัลอีโคโนมีเอามาช่วยอะไรได้บ้าง ฝั่งประชาชนด้วยกันก็ทำผ่านดิจิทัลแล้ว เหลือฝั่งภาครัฐที่ยังไม่มีการขยับตัว


ฐิตกร อุษยากร

- เข้ามารับตำแหน่งนี้เมื่อไหร่

ตั้งแต่ 26 ก.พ. หลังนั่งในตำแหน่งผู้อำนวยการบริหาร กลุ่มธุรกิจช่องทางการจำหน่ายมา 2 ปี ก่อนหน้านี้เคยอยู่ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย 6 ปี, ดีแทค 4 ปี และเอ็มพิกเจอร์อีก 3 ปี

ตำแหน่งนี้ในบริษัท เรียกว่าซีอีโอจะดูทุกขาของเอสวีโอเอ ใหญ่ขึ้นมากและเป็นความท้าทายที่จะขับเคลื่อนองค์กรเก่าแก่ให้เดินหน้าในตลาดไอทีที่ผันผวนอยู่ในขณะนี้ได้อย่างไรซึ่งจุดยืนทางธุรกิจที่ชัดเจนคือทำธุรกิจต้องมีกำไรรายได้เราไม่เน้น

- แบ่งตามธุรกิจ

จากที่เพิ่งขึ้นมาไม่ถึงเดือนจึงมีข้อมูลเฉพาะธุรกิจจัดจำหน่าย ขณะนี้ในกรุงเทพฯแทบไม่เติบโต แต่ในต่างจังหวัดเติบโตในอัตราเลขสองหลักขั้นสูงเมื่อเทียบกับ 2 ปีที่แล้ว เพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคเริ่มกลับมา ปีนี้จะพยายามสร้างมูลค่าเพิ่มในการดำเนินธุรกิจส่วนต่าง ๆ เช่น รับซ่อมโทรศัพท์มือถือ จากเดิมซ่อมแต่คอมพิวเตอร์ รวมถึงขยายสินค้าใหม่ ๆ เช่น เครื่องพิมพ์ผ้า เพื่อเจาะตลาดแฟชั่น, เครื่องสร้างฟันปลอมเจาะลูกค้าโรงพยาบาล

ทั้งหมดนี้เป็นบลูโอเชี่ยน หรือตลาดที่มีการแข่งขันน้อย เน้นที่ประสิทธิภาพของสินค้า

- เป้าหมายปีนี้

ผมต้องรักษาอัตรากำไรของบริษัทเอาไว้ให้ได้ ในธุรกิจจัดจำหน่ายที่เคยดูแลอยู่ มีสัดส่วนรายได้รวม 50-60% ของกลุ่ม ในปีนี้ต้องเติบโตในแง่กำไร 15% โดยจะควบคุมสต๊อกให้อยู่ในระยะไม่เกิน 90 วัน เพิ่มศูนย์บริการอีก 2 แห่ง ในภาคอีสานและใต้ จากปัจจุบันมีอยู่ 11 แห่ง

ส่วนโครงการไอทีก็จะต้องเติบโตกว่าปีที่แล้วมาก เพราะภาครัฐเริ่มอัดฉีดเงินเข้าระบบ บริษัทอื่นผมไม่รู้ แต่เอสวีโอเอปี 2557 ที่ว่าตลาดไอทีแย่ ๆ เราเติบโต 13% ในแง่กำไร เพราะจัดการเป็น

ที่สำคัญเรามีจุดต่างจากคู่แข่งคือ เอสวีโอเอเป็น Integrated IT ครอบคลุมตั้งแต่การนำเข้าสินค้า, มีจุดขายสินค้าให้ผู้บริโภค และเข้าโครงการต่าง ๆ มีบริษัทวางระบบ และธุรกิจให้กู้เงินเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมไอทีที่กำลังจะเป็นเหมือนปูนซีเมนต์ เพราะเป็นโครงสร้างพื้นฐานของทุกอย่าง เมื่อภาครัฐผลักดันนโยบายดิจิทัลอีโคโนมี 100% แต่เราคงไม่โตดับเบิลแล้วในแง่รายได้ แค่โตตามจีดีพีก็พอใจ

- งานโปรเจ็กต์ล่ะ

เราถือโปรดักต์เกือบครบทุกแบรนด์ในวงการไอที ไม่ต้องห่วงเรื่องการเข้าโปรเจ็กต์ เพราะเข้าได้เกือบทุกอัน แต่จะเลือกที่สร้างกำไรให้มากที่สุดเป็นหลัก ด้วยประสบการณ์ดีลงานกับภาครัฐมานาน เช่น เดินสายไฟเบอร์ออปติกโรงเรียน สพฐ.กว่า 10,000 แห่ง ทำให้ได้รับความเชื่อใจมากกว่ารายอื่น ถึงสมาร์ทคลาสรูมจะหายไป แต่ก็ยังมีโครงการคอมพิวเตอร์แล็บที่เราคอยดูอยู่ว่าจะมาเมื่อไร รูปแบบไหน

- การบริหารองค์กรที่มีส่วนผสมระหว่างคนรุ่นใหม่กับเก่า

ที่นี่แทบไม่มี แม้คนเก่าที่ทำงานมา 10-20 ปีจะมีไม่น้อย และไม่ได้ออกกันง่าย ๆ การนำคนรุ่นใหม่เข้ามาก็เพื่อให้เอสวีโอเอมีความคิดใหม่ จะมานั่งประชุมในระดับบริหารด้วย ผมเองถึงจะอายุงานน้อยที่สุดในกลุ่มซีเนียร์แมเนจเมนต์ แต่ก็มั่นใจได้ว่าจะทำงานได้เต็มที่ และถือเป็นการกลับมาวงการไอทีอีกครั้ง หลังหายไป 3 ปี ส่วนที่หลายคนถามว่า จะขายมือถือด้วยมั้ย ผมยืนยันว่า แค่รับซ่อมเครื่องให้แบรนด์ต่าง ๆ ก็น่าจะพอแล้ว


ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
วันที่ 10 มี.ค. 2558