Page 1 of 1

เปิดสัญญาจ้าง "กสทช." "สจล." รับเหนาะ ๆ 275 ล้าน

Posted: 12 Mar 2015, 14:33
by brid.ladawan
เปิดสัญญาจ้าง "กสทช." "สจล." รับเหนาะ ๆ 275 ล้าน


เป็นประเด็นให้ได้จับจ้องอีกครั้งสำหรับการใช้จ่ายเงินของ "กสทช." คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ จากการเปิดเผยข้อมูลล่าสุด โดย "กตป." หรือคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของ กสทช.

โดย "ประเสริฐ อภิปุญญา" 1 ใน "กตป." ระบุว่า ภายในสิ้นเดือน มี.ค.นี้ กตป.ต้องทำรายการตรวจสอบและประเมินผลงานของ กสทช. นำส่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่ยังได้ข้อมูลจาก กสทช.ไม่ครบ อาทิ ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างเดือน ธ.ค. 2557 จึงทำหนังสือทวงถามไปอีกครั้ง โดยขอให้ส่งมาให้ภายใน 7 วัน หรือภายในวันที่ 10 มี.ค.นี้

และในการประชุมบอร์ด กตป. เมื่อวันที่ 3 มี.ค. ที่ผ่านมา มีมติให้ตรวจสอบการใช้งบประมาณของ กสทช. ในโครงการจัดจ้างสถาบันการศึกษา หลังจากพบความผิดปกติในหลายประเด็น เช่น การทำสัญญาจัดจ้างที่มีลักษณะเข้าข่ายแบ่งซื้อแบ่งจ้าง เนื่องจากโครงการที่มีมูลค่าไม่เกิน 20 ล้านบาท เลขาธิการ กสทช.สามารถอนุมัติโครงการได้ ขณะที่ประธานบอร์ด กสทช.มีอำนาจอนุมัติโครงการ ที่มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท โดยไม่ต้องเสนอให้ บอร์ด กสทช.พิจารณา

"ตามมาตรา 59 (5) พ.ร.บ. กสทช. กำหนดให้ กสทช.ต้องเปิดเผยข้อมูลที่ได้จ้างหน่วยงานภายนอกศึกษาวิจัย แต่กลับไม่มีการเปิดเผย ทั้งที่งานวิจัยส่วนใหญ่สิ้นสุดโครงการไปแล้ว และหลายโครงการ กตป.ขอเอกสารเพื่อตรวจสอบมา 2 ปีแล้ว แต่ยังไม่ได้ จริง ๆ การจ้างสถาบันการศึกษาก็เหมือนการจ้างหน่วยงานรัฐด้วยกัน ดูแล้วไม่น่ามีปัญหา แต่เมื่อตรวจสอบอย่างละเอียดพบว่าหลายโครงการน่าสนใจ โดยเฉพาะที่จ้าง สจล. (สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง)"

ทั้งนี้ ในการทำสัญญาจ้างพัฒนาระบบบริหารการเงินการบัญชี ระบบการจัดการรายได้ และระบบบริหารสินทรัพย์และการพัสดุ มูลค่า 49.9 ล้านบาท เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2556 และถัดจากนั้นวันเดียว "กสทช." ทำสัญญาจ้างพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล อีก 49.91 ล้านบาท

"เป็นที่สงสัยว่าเข้าข่ายทำสัญญาแบ่งจ้างหรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบย้อนหลัง 3 ปี พบว่า การทำสัญญาจ้าง สจล. เพิ่มอย่างก้าวกระโดดด้วย"

จากการตรวจ สอบข้อมูลของ "กตป." พบว่า ตั้งแต่ปี 2555-2557 กสทช.ทำสัญญาจ้างสถาบันการศึกษาหลายแห่ง แต่สูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง คือ "สจล." รวม 22 สัญญา มูลค่าสูงถึง 275 ล้านบาท แบ่งเป็นในปี 2555 เพียง 1 โครงการ มูลค่า 1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 16 โครงการ มูลค่า 194 ล้านบาทในปี 2556 และ 11 โครงการ มูลค่า 80 ล้านบาท ในปี 2557 ที่ผ่านมา

ถัดมาในแง่มูลค่า คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวม 21 สัญญา มูลค่า 106.56 ล้านบาท แยกเป็นปี 2556 จำนวน 8 สัญญา มูลค่า 53.03 ล้านบาท และปี 2557 จำนวน 13 สัญญา มูลค่า 53.52 ล้านบาท

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 13 สัญญา มูลค่า 43.90 ล้านบาท แบ่งเป็นปี 2556 จำนวน 5 สัญญา มูลค่า 23.5 ล้านบาท และปี 2557 มี 11 สัญญาจ้าง มูลค่า 20.4 ล้านบาท

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหาร ศาสตร์ (นิด้า) มี 5 สัญญา มูลค่า 29.48 ล้านบาท เป็นปี 2556 จำนวน 4 สัญญา มูลค่า 26.5 ล้านบาท และปี 2557 มูลค่า 2.98 ล้านบาท 1 สัญญา

มหาวิทยาลัย บูรพา มี 3 สัญญา มูลค่า 11.99 ล้านบาท แบ่งเป็นปี 2556 1 สัญญา มูลค่า 3.99 ล้านบาท และปี 2557 จำนวน 2 สัญญา มูลค่า 7.9 ล้านบาท

"กตป.พบ ด้วยว่า หลายโครงการไม่เหมาะสม และไม่น่าจะสอดคล้องกับหน้าที่ตามมาตรา 27 พ.ร.บ. กสทช. อาทิ สัญญาจ้างที่ปรึกษาโครงการศึกษาแนวทางกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ และขยะโทรคมนาคมในประเทศไทย (10 ม.ค. 2557) วงเงิน 19.97 ล้านบาท หรือสัญญาจ้างที่ปรึกษา เพื่อศึกษาการใช้ไอพี รุ่นที่ 6 (IPv6) เพื่อนำมาใช้ในสำนักงาน กสทช. (3 มี.ค. 2557) มูลค่า 14.97 ล้านบาท เป็นต้น"

"ประเสริฐ" ย้ำว่า มติคณะกรรมการติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติงานของ กสทช.ล่าสุด ให้ทำหนังสือแจ้ง กสทช.ส่งข้อมูล และรายงานผลการจัดจ้าง เพื่อพิจารณาความเหมาะสม และโปร่งใสในการทำสัญญาในหลายโครงการด้วยกัน และหากยังคงไม่ได้รับความร่วมมือก็จะส่งต่อให้ คตร.ตรวจสอบต่อไป



ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
วันที่ 10 มี.ค. 2558