Page 1 of 1

เตือนระวังแพ้ยาอันตรายถึงชีวิต

Posted: 13 Mar 2015, 14:12
by brid.ladawan
เตือนระวังแพ้ยาอันตรายถึงชีวิต


วันที่ 5 มีนาคม นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม(อภ.) เปิดเผยว่า การแพ้ยาเป็นภาวะที่ร่างกายเปลี่ยนแปลงการตอบสนองต่อยา เนื่องจากเคยได้รับยาชนิดนั้นหรือได้รับสารที่มีสูตรคล้ายคลึงกับยานั้นมาก่อน แล้วเกิดการกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า “สิ่งต่อต้าน” ขึ้น โดยใช้เวลาในการสร้างสิ่งต่อต้านประมาณ 7-14 วัน เมื่อร่างกายได้รับยาซ้ำอีกครั้งหนึ่ง จะเกิดการทำปฏิกิริยาซึ่งจะกระตุ้นให้เซลล์ในร่างกายหลั่งสารบางอย่าง เช่น ฮีสตามีน (Histamine) เป็นสารตัวสำคัญในปฏิกิริยาการแพ้ อาการแพ้ที่เกิดจะเกี่ยวข้องกับแทบทุกระบบของร่างกาย และไม่สามารถคาดการณ์ได้เลยว่าจะเกิดกับใครบ้าง มีตั้งแต่อาการเล็กน้อย จนรุนแรงมากถึงขั้นเสียชีวิต


นพ.นพพร กล่าวว่า การแพ้ยาแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ การแพ้ยาชนิดที่เกิดขึ้นทันทีทันใด ได้แก่ แบบอะนาฟัยแลกซีส (Anaphylaxis) พบน้อยแต่มีอาการรุนแรงถึงชีวิต ทำให้หลอดลมตีบ เกิดการบวมบริเวณกล่องเสียง หายใจไม่ได้ เส้นเลือดขยายตัวมาก ทำให้ความดันโลหิตลดลง จนหมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด


ตัวอย่างของยาและสารที่ทำให้เกิดอาการเช่นนี้ ได้แก่ ยาที่ใช้ฉีดทุกชนิด ยาเพนิซิลลิน และสารที่ใช้ฉีดเข้าเส้นเลือดในการเอ็กซ์เรย์ หากพบอาการแพ้ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษาทันที และอาการแพ้แบบอื่นๆ อาการไม่รุนแรงเท่าชนิดแรก อาจมีผื่นคันและบวม เช่น มอร์ฟีน โคเดอีน อาจพบอาการไข้ที่เรียก ฟีเวอร์ ซิคเนสส์ “Fever Sickness”


ถ้าเกิดบ่อยๆ จะทำให้เกิดเส้นเลือดอักเสบ ไตอักเสบ อาการไข้จากยาประเภทซัลโฟนาไมด์ ทำให้มีไข้สูงได้ มักเกิด 1-3 สัปดาห์ภายหลังการให้ยา การที่มีไข้ขึ้นนี้ ทำให้มีความสับสนนึกว่าไข้กลับได้ ต้องแยกให้ออกระหว่างอาการไข้จากการแพ้ยา หรือไข้กลับ ถ้าไข้จากการแพ้ยา ควรหยุดยา 2-3 วัน ไข้จะลดลง อาการหอบหืด คัดจมูก ส่วนใหญ่เกิดจากยาประเภท แอสไพริน ควินิน


นพ.นพพร กล่าวอีกว่า สำหรับอาการแพ้ยาชนิดทิ้งช่วงจะเกิดขึ้นภายหลังได้รับยา 24-48 ชั่วโมง ร่างกายจึงจะตอบสนองแล้วเกิดอาการแพ้ จะพบอาการทางผิวหนัง มีอาการผื่นแดงอักเสบ เช่น แพ้ยาเพนิซิลลิน และซัลโฟนาไมด์ และตรวจพบเม็ดเลือดขาวลดลง และโลหิตจาง เช่น แพ้ยาคลอแรมเฟนิคอล


ในส่วนของการปฏิบัติเมื่อเกิดการแพ้ยา ให้หยุดการใช้ยาไว้ก่อน ในกรณีที่มีอาการแพ้เพียงเล็กน้อย แต่หากมีอาการแพ้รุนแรงมากและเกิดทันทีทันใด ควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที

ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 05 มีนาคม 2558