Page 1 of 1

อุตฯท่องเที่ยวไทยตามหลังเพื่อนบ้าน

Posted: 14 Mar 2015, 09:21
by brid.ladawan
อุตฯท่องเที่ยวไทยตามหลังเพื่อนบ้าน

“ทีดีอาร์ไอ” ชี้ไทยยังไม่มีนโยบายปั้นคนด้านท่องเที่ยวจริงๆ แม้คนจะสนใจเรียนเยอะ แต่จบมาเข้าตลาดแรงงานไม่ได้ เพราะมีจุดอ่อนสารพัด

นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีนโยบายเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรด้านท่องเที่ยว แม้ว่าตลาดแรงงานไทยจะมีผู้สนใจงานด้านการท่องเที่ยวกว่า 2 ล้านคน ทั้งโรงแรม ตัวแทนท่องเที่ยว ภัตตาคาร และร้านอาหาร เห็นได้จากจำนวนนักศึกษาที่เข้าเรียนและจบการศึกษาในสาขาการท่องเที่ยว และโรงแรมเป็นจำนวนมาก แต่กลับถูกดูดซับเข้าไปในตลาดแรงงานไม่หมด เพราะผู้เรียนบางคนเห็นว่า การเรียนสาขานี้ เรียนง่ายจบง่าย ไม่ได้ตั้งใจจะทำงานในสาขาที่จบมาอย่างจริงจัง ขณะที่บางคนหันไปเรียนต่อระดับปริญญาโทในสาขาอื่น ๆ ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาต้องเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างโดยเร็ว

“ขณะนี้อาเซียนได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยว 5 ปี ซึ่งปี 58 นี้จะเป็นปีสุดท้ายของแผนฯ ส่วนหนึ่งของแผนของอาเซียนที่สำคัญคือ มีความพยายามร่วมกันในการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว การบริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวดังกล่าวยังไม่เป็นที่รู้จัก และขาดทรัพยากรสนับสนุนจนไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรกับการเตรียมความพร้อมของประเทศสมาชิกด้านบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานสำคัญในธุรกิจโรงแรม ภัตตาคาร และการท่องเที่ยว”

ทั้งนี้จากการศึกษาผลกระทบ พบว่า เหตุผลหนึ่งที่ประเทศไทยขาดแคลนบุคลากรระดับต่าง ๆ ในภาคบริการนี้ เป็นเพราะสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องสาขาโรงแรมและการท่องเที่ยว ในปี 57 มีจำนวนมากกว่า 13,000 แห่ง และจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ความต้องการแรงงานในกลุ่มนี้มีประมาณ 27,000 คนต่อปี และยังไม่สามารถหาคนบรรจุได้ภายใน 6 เดือน ซึ่งอยู่ในภาวะขาดแคลนแรงงานสูงถึง 17,000 หมื่นคน

อย่างไรก็ตามถ้าพิจารณาข้อได้เปรียบและเสียเปรียบของแรงงานไทย ยังพบว่า ในสาขาโรงแรม ไทยได้เปรียบลักษณะการบริการแบบวิถีไทย และบริการที่มีคุณภาพ มีวัฒนธรรมไทยที่เป็นเอกลักษณ์ เอื้อต่อการทำงานของบุคลากรวิชาชีพท่องเที่ยว มีสถานศึกษาที่เปิดการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องอย่างหลากหลาย แต่ก็เสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้าน เรื่องภาษาและการสื่อสาร มีการขาดแคลนบุคลากรในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ รวมทั้งทัศนคติของคนรุ่นใหม่ที่เลือกงานและต้องการเรียนสูง


ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 13 มีนาคม 2558