Page 1 of 1

บิ๊ก "โนเกีย ซีเมนส์ เน็ตเวิร์คส" ปอกเปลือกโทรคมนาคม (ไทย)

Posted: 06 Apr 2013, 11:01
by brid.ladawan
ladawan
Hero Member
*****
Posts: 824


View Profile Email


บิ๊ก "โนเกีย ซีเมนส์ เน็ตเวิร์คส" ปอกเปลือกโทรคมนาคม (ไทย)
« on: November 16, 2012, 01:48:40 pm »

บิ๊ก "โนเกีย ซีเมนส์ เน็ตเวิร์คส" ปอกเปลือกโทรคมนาคม (ไทย)

คร่ำหวอดอยู่ในวงการสื่อสารโทรคมนาคมไทยมาอย่างยาวนาน ในฟากของซัพพลายเออร์ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคม ตั้งแต่สมัยยังเป็น "โนเกีย เน็ตเวิร์คส" จน 2 ยักษ์ใหญ่รวมกันกลายเป็นหนึ่งเดียว "โนเกีย ซีเมนส์ เน็ตเวิร์คส" โดย "กฤติกา มหัทธนกุล" ดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มธุรกิจเอเชียเหนือ ภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก

พิจารณาชื่อ "ตำแหน่ง" แน่นอนว่า ความรับผิดชอบของเขา ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย "ประชาชาติธุรกิจ" ฉบับนี้มีโอกาสพูดคุย "กฤติกา" หลากหลายแง่มุม

ดุ เด็ด เผ็ด มัน และไม่ใช่เรื่องลับเฉพาะแต่ประการใด หากแต่น้อยคนนักที่จะกล้าพูดตรงไปตรงมา

- มองธุรกิจโทรคมนาคมไทยขณะนี้อย่างไร

อย่างที่ทราบ เมื่อเร็ว ๆ นี้เพิ่งเสร็จสิ้นการประมูลคลื่น 2.1 GHz เพื่อให้โอเปอเรเตอร์ไปทำ 3G แต่ความชัดเจนทั้งเรื่องการให้ใบอนุญาตว่า สรุปแล้วจะได้หรือไม่ยังไม่ออก ทำให้ค่อนข้างล่าช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านเรา ที่บางแห่งมี 4G แล้ว คงต้องรอดูต่อว่า จะจบลงเมื่อไร

- ทำไมไม่มีหน้าใหม่มาประมูล

หลายคนคงเข้าใจว่า เรื่องราคาของใบอนุญาตแพง แต่จริง ๆ แล้วน่าจะเป็นเรื่องระบบของประเทศไทยมากกว่า หลังคุยกับโอเปอเรเตอร์ระดับโลกหลายราย ทุกคนบอกตรงกันว่า ไม่น่าสนใจ เพราะความไม่มั่นคงในเรื่องนี้ ถ้าจะอธิบายให้ชัด ราคาประมูลเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการลงทุนแต่จุดหลัก ๆ คือการลงทุนด้านเน็ตเวิร์ก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไซต์สัญญาณ, ศูนย์บริการทั่วประเทศ และที่สำคัญคือการตลาด

ถ้าเปรียบง่าย ๆ ค่าไลเซนส์แค่ 3-4 ร้อยล้านเหรียญ แต่โครงข่ายกว่า 2 พันล้านเหรียญเป็นอย่างน้อย หรือ 6 หมื่นล้านบาท ดังนั้นต้นทุนสูงมาก ทั้งไม่มีอะไรการันตีว่าจะได้กำไรหรือไม่ รวมถึงการตลาดที่ต้องดึงลูกค้ามาจากเจ้าเดิมถ้าไม่คุ้ม เขาก็ไม่ลงทุน

- ต่างชาติก็ไม่สนใจ

คงยาก ไม่มีบริษัทไหนที่เดินมาตัวเปล่าเพื่อลงทุน 3G แล้วประสบความเร็จ ถ้าจะเข้ามาต้องหาพันธมิตรเพื่อร่วมทำธุรกิจทำแชร์เน็ตเวิร์ก นักธุรกิจรู้ว่า ความไม่แน่นอนเกิดขึ้นเสมอ ใบอนุญาตจะได้เมื่อไร ก็ไม่รู้ เข้ามาใหม่ ต้องสร้างเสาเองทั้งหมด ซึ่งพื้นที่ก็น้อยเต็มที ในทางกลับกัน การประมูลไลเซนส์ของประเทศรอบ ๆ ประเทศไทยมีคนสนใจเยอะ เช่น เวียดเทลของเวียดนามไปลงทุนทั้งในลาวและกัมพูชา หรือแอ็กซิอาต้าของมาเลเซียไปที่เขมร และบังกลาเทศ หรือเอสเคทีของเกาหลี และเอ็นทีที โดโคโมของญี่ปุ่น แต่ทำไมไม่มองประเทศไทย สาเหตุเพราะความไม่แน่นอนอย่างเดียวเลย

- ทำให้มีแต่รายเดิม

ในแต่ละประเทศจะมีโอเปอเรเตอร์ที่อยู่ได้อย่างมาก 3 ราย ไทยก็เป็นเช่นนั้น ถ้ามีหน้าใหม่เข้ามาคงอยู่ยาก กรณีฮัทช์ที่พยายามเข้ามาเป็นตัวอย่างได้ ขณะที่บริษัทในประเทศที่มีเงิน เช่น ธุรกิจเบียร์ ถามว่าเขาจะลงทุน 6 หมื่นล้านกับธุรกิจนี้ไหม

ธุรกิจนี้ใช้เงินลงทุนจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง หลักพื้นฐานของธุรกิจคือความครอบคลุมพื้นที่ให้บริการ และคุณภาพสัญญาณ จากนั้นค่อยมาคุยเรื่องราคาค่าบริการ และความแตกต่างของแพ็กเกจ สรุปง่าย ๆ คือลงทุนเยอะมาก การทำการตลาดแข่งกับเจ้าเดิมเป็นไปได้ยาก

- เทียบไทยกับประเทศอื่นที่ดูแลอยู่

เวียดนามตัดสินใจอะไรต่าง ๆ ค่อนข้างเร็ว 3G เริ่มตั้งแต่ปี 2009 ตอนนี้ครอบคลุมทั่วประเทศแล้ว ทั้งที่เศรษฐกิจไม่ได้ดีเท่าไทย คนก็ไม่พร้อมใช้งานเท่า

โอเปอเรเตอร์ทุกเจ้าในเวียดนามใช้อุปกรณ์ของเรา ทั้งเวียดเทล, โมบิโฟน และวีนาโฟน คิดเป็นกว่า 95% ของการใช้งานทั้งหมด

ถ้าเจาะไปในเรื่องการวางโครงข่าย ต้องทำทั่วประเทศในจำนวนที่ใกล้เคียงกันในแต่ละเมือง ประชากร 84 ล้านคนไม่ได้กระจุกอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ แต่กระจายไปทั่วประเทศ และใน 8-9 หัวเมือง มีประชากรแห่งละ 1-2 ล้านคนจำเป็นต้องกระจายให้ทั่วประเทศจริง ๆ

ส่วนในไทยกลับกัน ในแง่คนเราค่อนข้างพร้อม แต่เทคโนโลยียังไม่มา การติดตั้งโครงข่ายก็แตกต่าง จะลงให้ครอบคลุม 50% ของประชากรตามที่ กสทช.กำหนด เร่งติดตั้งตามหัวเมืองใหญ่ไม่กี่ 10 แห่ง ก็ครบตามกฎเกณฑ์

- ประเทศไหนที่เหมือนหรือคล้ายไทย

บังกลาเทศกำลังจะประมูล 2G ด้วยราคาที่ตั้งไว้สูงมาก เพราะมองว่า พื้นที่ประเทศมีเพียง 5 หมื่น ตร.กม. เมื่อเทียบกับประชากรกว่า 160 ล้านคน ผู้ควบคุมกิจการโทรคมนามคมจึงตั้งราคาสูงมาก แต่ลืมไปว่า คนในประเทศมีรายได้ต่อหัวเท่าไร ทำให้ไม่มีใครเข้าประมูลเลย

- ประเทศไหนน่าไปลงทุน

พม่า ทุกอย่างเอื้อให้เข้าไป ไม่ว่าจะเป็นภาษี, การเช่าที่ หรือเรื่องการเงิน

- ใกล้สิ้นปีมีอะไรต้องเร่งทำบ้าง

ถ้าในเวียดนาม ก็รีบเคลียร์การส่งของ และเตรียมติดตั้งงาน เพราะช้าไป 6 เดือน เนื่องจากภาครัฐมีการตรวจสอบบริษัทคู่ค้าของเราประจำปีต้องรอให้เสร็จก่อน

ในไทย เราเป็น 1 ในคอนซอร์เตี้ยมวางเครือข่าย 3G ทีโอทีเฟสแรก ก็อยู่ระหว่างดำเนินการ แต่ที่ต้องเสร็จทั้งหมด พ.ย.นี้ไม่น่าจะทัน เพราะต้องรอบอร์ดใหม่พิจารณาสถานที่ตั้งสถานีฐาน เรารับผิดชอบ 1,772 ไซต์ใหม่ กับอีก 500 ไซต์เดิมในกรุงเทพฯ ต่อให้ถึงสิ้นปี ก็น่าจะขาดอีก 250 ไซต์ ที่ไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะไปลงตรงไหน สรุปคือต้องรอทีโอทีหาที่ให้

- ใช้สถานีฐานร่วมกับรายเดิมไม่ทำให้เร็วขึ้น

เข้าใจว่า ไซต์ที่มีไม่พอจริง ๆ บางไซต์ก็เต็มแล้ว ไม่สามารถแขวนอุปกรณ์ใด ๆ เพิ่มได้เลย ขณะที่การสร้างไซต์ใหม่ขึ้นมาในบริเวณใกล้เคียงมีขั้นตอนเยอะ ทั้งการประชาพิจารณ์กับคนในพื้นที่ การเทปูนสร้างรากฐานเพื่อตั้งเสา ก็หลายอาทิตย์แล้ว

ทั้งกรุงเทพฯทำได้แค่ 60% หลังจากเซ็นสัญญาณกันไปตั้งแต่เมษายนปีที่แล้ว

- ติดตั้งช้าที่สุดในโลก

คงไม่ช้าที่สุดในโลก (หัวเราะ) แต่ถ้าถามว่า 18 เดือนทำได้พันไซต์ในกรุงเทพฯ ถือว่าช้ามาก ต้นทุนเพิ่มขึ้นด้วย

- มีโอกาสได้งานเฟส 2 ที่จะไม่ใช่แค่ 3G

แม้จะเปิดกว้างว่า น่าจะไปที่เทคโนโลยีใหม่มากขึ้น แต่ยังไงจุดหลักก็ต้องอยู่ที่ 3G ในเชิงเทคนิค คลื่น 2.3 GHz ที่มี เหมาะกับฟิกซ์มากกว่า ดีไวซ์ต่าง ๆ ก็มีไม่เยอะ ต่างจาก LTE บน 700 850 หรือ 1800 MHz มีการใช้ในประเทศต่าง ๆ แล้ว

- การนำคลื่น 1800 MHz มาประมูลใหม่

1800 MHz ใช้งาน LTE หรือ 4G ได้ แต่มูลค่าจะมากกว่า 2.1 GHz ไหม คิดว่าคงไม่มากกว่า เพราะรายได้หลักของโอเปอเรเตอร์ยังเป็นวอยซ์ ไม่ใช่ดาต้า ด้วยความที่ LTE ใช้ดาต้าอย่างเดียว หากประมูลมาสูง ก็ไม่คุ้ม และที่เคยมีการพูดกันว่า 2G จะหายไป ก็คงยาก ไม่จบเร็ว ๆ นี้แน่ เพราะการใช้งานเริ่มขยับไปทางการสื่อสารไร้สายระหว่างอุปกรณ์ หรือ Machine to Machine เช่น นำไปวัดระดับน้ำในแม่น้ำ หรือใช้กับตู้หยอดเหรียญ

- การเติบโตของธุรกิจในประเทศไทย

ตัวเลขปีที่แล้วและ 2-3 ปีก่อนหน้านี้คงไม่ต่างกันมาก เพราะสภาวะตลาดโดยรวม ส่วนการมี 3G คลื่น 2100 MHz ทำให้มีการลงทุนใหม่ ๆ ไม่ได้มีผล

เฉพาะโนเกีย ซีเมนส์ แต่เป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคม และประเทศในภาพรวม

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์