Page 1 of 1

"หลักประกัน"สุขภาพ : บทนำมติชน

Posted: 14 Mar 2015, 10:48
by brid.ladawan
"หลักประกัน"สุขภาพ : บทนำมติชน


หลักประกัน"สุขภาพ

บทนำมติชน


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจยุติความขัดแย้งในแนวทางบริหารแผนงานสาธารณสุข ระหว่าง นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กับ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวง ด้วยการย้าย นพ.ณรงค์ปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี หลังจากให้เวลา 8 เดือน แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาขัดแย้งได้ เกิดความแตกแยกในหมู่ข้าราชการ แบ่งเป็นฝักฝ่ายชัดเจน การดำเนินนโยบายด้านสาธารณสุขของรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการสาธารณสุขประสบ ปัญหา ชนวนเหตุไม่ลงรอย เกิดจากฝ่ายปลัดกระทรวงเสนอปรับแนวทางการบริหารจัดการ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง เรียกร้องวางกรอบการจัดสรรงบใหม่แบบเขตสุขภาพ ขณะที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ที่มี นพ.รัชตะเป็นประธาน ยืนยันแนวทางบริหารงบแบบเดิม ไม่ปรับเปลี่ยนตามข้อเสนอ กลายเป็นความขุ่นข้องหมองใจ 2 ฝ่ายมีปัญหาการทำงานร่วมกันมาตลอด



การ ย้าย นพ.ณรงค์ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางบริหารจัดการและจัดสรรงบประมาณกองทุนหลัก ประกันสุขภาพฯแบบปัจจุบัน เท่ากับเป็นการส่งนัยยะ รัฐบาลมีนโยบาย ยึดมั่นแผนงานให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาลบัตรทองรูปแบบเดิม การส่งสัญญาณชัดเจนว่า มั่นคงต่อแนวทางนี้สำคัญอย่างยิ่ง กระทรวงสาธารณสุขมีปัญหาความขัดแย้งสูง ประชาคมต่างๆ มีทั้งให้การสนับสนุนแนวทางรัฐมนตรีว่าการ และฝ่ายเห็นด้วยกับ นพ.ณรงค์ หากปล่อยคาราคาซังต่อไป ฝ่ายนโยบายไม่ตัดสินใจเด็ดขาด การเดินหน้า มุ่งให้บริการภาครัฐที่ดีแก่ประชาชนย่อมเป็นปัญหา เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขเป็นฝ่ายผู้ให้บริการรักษาพยาบาลรายใหญ่ของประเทศ ร้อยละ 80 ขณะที่ สปสช.เป็นฝ่ายซื้อบริการ รับผิดชอบดูแลสิทธิรักษาพยาบาลประชาชน 48 ล้านคน การที่ฝ่ายข้าราชการประจำภายใต้กำกับดูแลของปลัดกระทรวง ผู้ให้บริการรักษาและฝ่าย สปสช.ไม่เป็นเอกภาพ ประชาชนคงคาดหวังบริการได้ลำบาก



การปฏิรูประบบให้บริการ รักษาพยาบาลของประเทศ นับแต่ใช้ระบบใหม่ที่แรกก่อตั้งเรียก 30 บาทรักษาทุกโรคกระทั่งปัจจุบัน มีการดำเนินการมาเป็นเวลา 12 ปีแล้ว การมีหลักประกันสุขภาพให้แก่ประชาชนถือเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลต้องดำรงรักษา ไปพร้อมๆ กับการยกระดับให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น มีปัญหาอะไรเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึง เมื่อมีจุดอ่อนเกิดขึ้น รัฐต้องพิจารณาทบทวน หามาตรการแก้ไข ฝ่ายคัดค้านไม่เห็นด้วยกับวิธีบริหารจัดการรูปแบบปัจจุบันก็เช่นกัน หากเห็นว่ามีข้อบกพร่องต้องนำเสนอ เพื่อนำไปสู่การแก้ไข ให้มีระบบหลักประกันสุขภาพที่สมบูรณ์ โดยมีประชาชนเป็นเป้าหมาย มิใช่มุ่งเอาชนะคะคานในทางการเมือง มุ่งล้มล้างนโยบายที่เป็นประโยชน์ ถ้าไม่แก้ไขข้ออุปสรรคการเข้าถึงระบบสาธารณสุข และการรักษาพยาบาลที่ดี ประชาชนจะรู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้ง อยู่โดดเดี่ยว รัฐไม่ดูแลแม้ยามเจ็บไข้


ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 14 มีนาคม 2558