Page 1 of 1

รัฐเข็นภาษีบ้าน-ที่ดินไม่ถึงฝั่ง ฝ่าแรงต้านไม่ไหวหรือเข้าทาง

Posted: 16 Mar 2015, 10:44
by brid.ladawan
รัฐเข็นภาษีบ้าน-ที่ดินไม่ถึงฝั่ง ฝ่าแรงต้านไม่ไหวหรือเข้าทาง?

ผู้นำรัฐบาล “ท็อปบู๊ต” ก็อดรนทนไม่ไหวต้องยอม “ถอยกรูด” กับเรื่องราวของการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกไปก่อนโดยไม่มีกำหนด

ในที่สุด... “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผู้นำรัฐบาล “ท็อปบู๊ต” ก็อดรนทนไม่ไหวต้องยอม “ถอยกรูด” กับเรื่องราวของการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกไปก่อนโดยไม่มีกำหนด หลังถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์แบบหูดับตับไหม้ ตั้งแต่รากแก้วรากหญ้าไปจนถึงมนุษย์เงินเดือนชนชั้นกลางทั้งหลาย

เพราะอยู่ ๆ จากเป้าหมายเดิมของการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ต้องการสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะการเก็บภาษีจากบรรดาผู้มีอันจะกิน ที่มีที่ดินมากมายแต่ไม่ใช้ทำประโยชน์ หรือพวกชอบช้อปบ้าน คอนโดฯ และอีกสารพัดไว้เก็งกำไร! หรือบรรดามหาเศรษฐีทั้งหลาย กลับแปรเปลี่ยนไปแตะชาวบ้านคนทำมาหากินที่เป็น “เจ้าของบ้าน” กลับต้องมาเสียภาษี ไม่ว่าจะล้านละพัน หรือล้านละ 250 บาท ก็ตาม ถามว่า? ใช่เรื่องหรือไม่...ถูกต้องหรือเปล่า...

แม้ว่าหลักการของการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะเป็นประโยชน์กับประเทศเพราะทำให้ท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้นลดงบประมาณของรัฐบาลลง เพื่อเปิดช่องให้ประเทศมีงบลงทุนมากขึ้น และนำไปพัฒนาประเทศให้เจริญยิ่งขึ้นไปอีก หากทำได้ความเจริญทุกอย่าง รวมถึงรายได้ที่เพิ่มขึ้นของชาวบ้านจะตามมาด้วยก็ตาม!

แต่ในแง่ของความเป็นจริงแล้ว การถ่ายทอดเจตนารมณ์ของรัฐบาลกลับแปรเปลี่ยนไป และไปแตะชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านเบี้ยน้อยเงินน้อยแทน โดยเฉพาะ “บ้าน” ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของการดำรงชีวิตของมนุษย์ปุถุชนจึงเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ว่า “คะแนนนิยม” ของรัฐบาลท็อปบู๊ตจะยิ่งลดน้อยถอยลงไป

ที่สำคัญ ณ เวลานี้คนไทยทุกคนกำลังรู้สึกว่าเงินในกระเป๋าที่มีอยู่เริ่มลดน้อยถอยลงเรื่อย ๆ แถมไม่มีช่องทางเพิ่มรายได้ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ด้วยภาวะที่เวลานี้ข้าวของเครื่องใช้อาหารหยูกยาค่าเดินทางสารพัดค่าใช้จ่ายกลับเพิ่มสูงขึ้นทุกวันแต่รัฐบาลกำลังเพิ่มภาระให้กับคนไทยทั้งประเทศเข้าไปอีก

ถอยตั้งหลักก่อนก้าวใหม่

นายกฯ บิ๊กตู่ บอกว่า ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่เอื้ออำนวยให้รัฐต้องนำภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มาใช้และเพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชนในวงกว้างต้องรับภาระเพิ่มเติมในช่วงที่มีค่าใช้จ่ายสูงอยู่แล้ว อีกทั้งให้เจ้าภาพอย่างกระทรวงการคลังกลับไปกลั่นกรองให้ตกผลึกก่อนไปศึกษาการใช้กฎหมายของต่างประเทศที่เขาใช้ดูด้วยว่าเป็นอย่างไรบ้าง ไม่ต้องรีบร้อนไม่ใช่ออกมาให้ข่าวรายวันโดยเฉพาะอัตราการจัดเก็บภาษีที่เปลี่ยนไป เปลี่ยนมาจนทำให้ประชาชนเกิดความสับสนและหวั่นวิตกไปทั่วแบบนี้เอาไว้เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นประชาชนเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาษีทุกอย่างก็คงต้องเดินหน้าต่อ

อย่างไรก็ตามในแง่ของเจ้าของเรื่อง ขุนคลัง ’สมหมายภาษี“ ได้ยืนยันว่าจะเดินหน้าผลักดันร่างภาษีฉบับนี้ ต่อไปตราบใดที่ยังคงดำรงตำแหน่ง รมว.คลัง เพราะกว่า 40 ประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศที่เจริญแล้วต่างใช้กฎหมายนี้กันทั้งนั้น แต่ระหว่างที่ชะลอไว้นี้จะเร่งปรับปรุงแก้ไขร่างกฎหมายให้ครอบคลุมและกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด และพร้อมยื่นเสนอให้ ครม.เห็นชอบก่อนมีการเลือกตั้งใหม่ในเดือน พ.ค. 59 แน่นอน

ที่สำคัญล่าสุด! กระทรวงการคลังได้แจ้งเกิดสูตรการจัดเก็บแล้วคือ สำหรับที่อยู่อาศัยจัดเก็บจริงอัตรา 0.1% โดยที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 0-2 ล้านบาท เสียภาษี 25% ของราคาประเมินหรือล้านละ 250 บาท, ราคา 2-4 ล้านบาท เสียภาษี 50% ของภาษีที่คำนวณได้เสียภาษีล้านละ 500 บาท และสูงกว่า 4 ล้านบาท เสียภาษี 100% ของภาษีที่คำนวณได้เสียภาษีล้านละ 1,000 บาท

คิดง่าย ๆ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมูลค่า 1 ล้านบาท มีภาระเสียภาษีปีละ 250 บาท, 2 ล้านบาท เสีย 500 บาท, 3 ล้านบาทเสีย 1,000 บาท, 4 ล้านบาท เสีย 1,500 บาท, 5 ล้านบาท เสีย 2,500 บาท, 10 ล้านบาท เสีย 7,500 บาท และ 20 ล้านบาท เสีย 17,500 บาท รวมทั้งเว้นภาษีเพิ่มเติมให้ผู้เกษียณอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปอาศัยอยู่มาไม่ต่ำกว่า 15 ปี

ชาวบ้านสวดยับจ่ายเงินเพิ่ม

ด้วยความไม่ชัดเจนทั้งจากภาครัฐและอัตราการจัดเก็บภาษีของร่างกฎหมายนี้เองที่ทำให้ประชาชนตื่นตระหนกกับการต้องเสียภาษีเพิ่มเติมด้วยเหตุผลง่าย ๆ ที่ว่าอะไรที่เป็นรายจ่ายมากขึ้นก็ถือว่ามีผลกระทบอยู่แล้วเงินในกระเป๋ายิ่งมีน้อยลงเท่าใดก็ยากยิ่งนักที่จะควักออกมาจ่ายโดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจที่กำลังซื้อถดถอยเช่นนี้การต้องจ่ายภาษีเพิ่มก็เหมือนรีดเลือดกับปูอยู่ดี อย่าง “นันทนา หาญทวิชัย” พนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง มองว่าตัวเองมีบ้านราคา 5 ล้านบาท ในฐานะประชาชน พร้อมที่จะทำตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่หากรัฐมีความชัดเจนว่า มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอนอย่างไรมีข้อยกเว้นอะไรบ้างและกฎหมายดังกล่าวนี้มีผลกระทบต่อประชาชนมากน้อยเพียงใด รวมทั้งต้องลงรายละเอียดด้วยเพราะการเก็บภาษีบ้านราคา 3 ล้านบาทขึ้นไปนั้นแค่บ้านที่อยู่ต่างจังหวัดกับที่อยู่ใน กทม. มีราคาต่างกันอยู่แล้วขณะที่เจ้าของบ้านต่างมีค่าครองชีพต่างกันด้วย ที่สำคัญหากมีรายได้ที่ต่างกันหรือมีความสามารถในการจ่ายที่ต่างกันโดยเฉพาะเจ้าบ้านที่ไม่มีภาระผ่อนบ้านอาจรับภาระได้โดยไม่เดือดร้อนมากนัก ซึ่งต่างกับเจ้าบ้านที่มีภาระค่าใช้จ่ายอื่น ๆ สูงอยู่แล้วอาจรับภาระภาษีไม่ไหว

จวกซ้ำเสียภาษีซ้ำซ้อน

เช่นเดียวกับ “ลักขณา พงษ์ประพันธ์” พนักงานบริษัทเอกชน ที่บอกว่า เวลานี้ตัวเองมีบ้าน 1 หลัง ราคา 4 ล้านบาท ต้องเสียภาษีครึ่งหนึ่งโดยภาพรวมแล้วก็พอรับได้หากจ่ายแค่ปีละครั้งและยามที่ประเทศไม่มีเงินก็พร้อมช่วย แต่ผู้ที่มีบ้านต่ำกว่า 4 ล้านบาท ลงมาจนถึงเกณฑ์ที่ยกเว้นหรือ 2.5 ล้านบาท นั้นเป็นชนชั้นที่น่าเห็นใจที่สุดเพราะทั้งมีปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงเช่นเดียวกับมีค่าครองชีพที่สูงขณะที่เงินเฟ้อไปเรื่อย ๆ การต้องจ่ายเพิ่มอีกนั้นถือว่าเป็นภาระพอสมควร เพราะกว่าจะซื้อบ้าน 1 หลัง ต้องจ่ายภาษีหลายรายการแล้วโดยเฉพาะภาษีแวตไม่ว่าจะเป็นบ้านที่ก่อสร้างเองหรือบ้านจัดสรร เมื่อซื้อมาแล้วยังต้องเสียภาษีฯรายปีอีกหรือ ทั้ง ๆ ที่เป็นบ้านของตัวเองและเสียภาษีไปแล้วหลายรายการ ถือว่าซ้ำซ้อน

ด้านเสียงสะท้อนของ “เบญจมาศ เพชรภูทอง” ประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัว กล่าวว่า ตัวเองมีบ้านเอื้ออาทร 1 หลัง ซึ่งอยู่ในข่ายไม่ต้องเสียภาษีแต่ในส่วนของที่ดินนั้นจะต้องเสียภาษี และมีคอนโดมิเนียมอีก 1 ยูนิต ที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีด้วยและเห็นว่า รัฐไม่ควรเก็บภาษีกับผู้ที่มีบ้านเพียงหลังเดียว เพราะบ้านหนึ่งหลังคือความจำเป็นของชีวิตไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนคนหนึ่งจะเก็บหอมรอมริบเพื่อซื้อบ้านเป็นของตัวเองยังถูกเก็บภาษีอีก และทุกวันนี้บ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท แทบหาได้ยากมากแล้วจากต้นทุนที่สูงขึ้นทุกด้านแต่หากผู้ที่มีบ้านตั้งแต่หลังที่ 2 ขึ้นไปสมควรต้องเก็บภาษีถือว่าเกินความจำเป็นโดยเฉพาะบ้านราคาหลังละ 5 ล้านบาท ขึ้นไป

“ในชีวิตจริงคนยังต้องการซื้อบ้านกันทุกคน และทุกวันนี้เราไม่ได้จ่ายภาษีแค่ตัวเดียวแต่ยังมีอีกหลายรายการ หากนำมารวมกันและคำนวณภาษีแล้วมาดูว่าคนที่มีบ้านราคา 3 ล้านบาทลงไปจะมีปัญญาจ่ายหรือไม่ เชื่อว่าแทบไม่มีพอจ่าย นั่นยิ่งเป็นแหล่งทำให้เกิดปัญหาหนี้บัตรเครดิตขึ้นมา และตามมาด้วยปัญหาหนี้นอกระบบอีก ระบบต่าง ๆ จะพินาศกันไปหมดนี่คือปัญหาของชนชั้นกลางในไทยอย่างแท้จริง”

กระทบความเชื่อมั่นรัฐบาล

ไม่เพียงความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับฝั่งของผู้ที่เป็นเจ้าของบ้านเท่านั้น ในมุมมองของภาคเอกชนด้านอสังหาริมทรัพย์โดยตรงอย่าง “ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต” นายกสมาคมอาคารชุดไทย บอกว่า เป็นเรื่องที่กระทบกับคนในวงกว้างและอาจเกิดแรงต่อต่านได้ ดังนั้นรัฐต้องพิจารณาให้รอบคอบกำหนดเพดานภาษีไม่ให้สูงจนเกินไปซึ่งเห็นว่าการกำหนดกรอบเพดานภาษีที่สูงจะส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างรุนแรงและบั่นทอนความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในชุดนี้อย่างมาก เนื่องจากราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์จะเปลี่ยนแปลงทุก 4 ปี ก็มีผลต่อฐานภาษีที่ทำให้ต้องเสียภาษีสูงขึ้นทุก 4 ปี รวมทั้งเห็นว่าต้องปรับปรุงโครงสร้างภาษีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ให้เหมาะสม เช่น การโอนกรรมสิทธิ์อสังหาฯ ภาษีการจดจำนอง เป็นต้น

เอกชนแนะแก้อัตราภาษีใหม่

ส่วน “อิสระ บุญยัง” นายกกิตติมศักดิ์และที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า เป็นผลดีต่อภาครัฐที่เลื่อนร่างภาษีฯออกไปก่อน เพราะที่ผ่านมามีความสับสนมากจริง ๆ หากรัฐต้องการลดความเหลื่อมล้ำจริง ๆ ควรเน้นเก็บภาษีพื้นที่รกร้างว่างเปล่าก่อนเช่น อาจกำหนดให้พื้นที่รกร้างว่างเปล่าต้องเสียภาษีสูงสุด หากเจ้าของนำมาทำประโยชน์ได้ เช่น ให้เช่าทำการเกษตรในราคาไม่แพง ก็ลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีให้ระหว่างที่เช่าใช้ประโยชน์นั้นเป็นต้น ส่วนรายการภาษีอื่นชะลอไปก่อนและระหว่างนี้ให้ปรับปรุงข้อกฎหมายที่ลดการใช้ดุลพินิจอุดช่องโหว่ของการทุจริต

ขณะที่ “อธิป พีชานนท์” นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ระบุว่า สมาคมฯ ร่วมกับสมาคมอาคารชุดไทยและสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทยได้ร่วมกันยื่นข้อเสนอให้แก้ไขเกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าวให้ คสช.แล้วในประเด็นที่เห็นว่าเป็นผลกระทบต่อประชาชนแน่และประเด็นที่ซ้ำซ้อนกัน เช่น ให้กำหนดเพดานการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการโอนค่าจดจำนองใหม่ซึ่งเดิมเป็นการจัดเก็บของภาษีบำรุงท้องที่อยู่แล้วแต่หากเก็บภาษีใหม่นี้ก็จะซ้ำซ้อนทันที ดังนั้นจึงต้องกำหนดเป็นเพดานราคาไว้แทนการจัดเก็บเป็นอัตราตามราคาประเมินของกรมธนารักษ์โดยค่าธรรมเนียมโอนเดิมอัตรา 2% ปรับเป็นจัดเก็บ 2% แต่ไม่เกินมูลค่า 5,000 บาท ค่าจดจำนองเดิม 1% ปรับเป็นจัดเก็บ 1% แต่ไม่เกิน 5,000 บาท

ที่สำคัญยังขอให้ยกเว้นภาษีทรัพย์ส่วนกลางในโครงการบ้านจัดสรร และอาคารชุด เนื่องจากทรัพย์ส่วนนี้ลูกบ้านเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาไม่ใช่ท้องถิ่นอีกทั้งได้คำนวณรวมเข้าไปในราคาบ้านแล้วซึ่งลูกบ้านจ่ายภาษีบำรุงท้องที่อยู่แล้วหากจัดเก็บอีกจะซ้ำซ้อน ต่อมาคือ ให้ยกเว้นภาษีฯสำหรับโครงการจัดสรรที่ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างแล้วและอยู่ระหว่างการก่อสร้างแต่ยังไม่ได้ขายไปจนถึง 5 ปี หรือสต๊อกของผู้ประกอบการซึ่งเบื้องต้นรัฐเห็นด้วยกับการยกเว้นภาษีทรัพย์ส่วนกลางแล้วส่วนประเด็นอื่น ๆ กำลังพิจารณาที่สำคัญรัฐน่าจะหาข้อสรุปสุดท้ายให้แล้วเสร็จก่อนค่อยแจ้งให้ประชาชนทราบเพื่อไม่ให้สับสน

ด้าน “ชนะ นันทจันทูล” กรรมการผู้จัดการบริษัท เซ็นจูรี 21 เรียลตี้แอฟฟิลิเอทส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า แนวคิดการจัดเก็บภาษีที่ดินฯของไทยยังไม่เหมือนของต่างประเทศโดยเฉพาะประเด็นการจัดเก็บภาษีจากส่วนต่างของราคาขายเช่น บ้านราคา 4 ล้านบาท หากขายต่อแล้วได้ราคา 5 ล้านบาท ควรเก็บเฉพาะอัตราภาษีของส่วนต่าง 1 ล้านบาทเท่านั้นไม่ใช่คิดทั้ง 5 ล้านบาทรวมทั้งยังไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจน เช่น ในทำเลต่างกันอาคารที่ก่อสร้างต่างกันก็ทำให้มูลค่าของทรัพย์สินนั้นต่างกันแล้วดังนั้น ต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าจะใช้ราคาประเมินหรือราคาตลาด ส่วนบ้านเก่าหรืออาคารเก่าจะหักค่าเสื่อมอย่างไร เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้ไม่ควรปล่อยให้มีช่องว่างในการใช้ดุลพินิจ

เป็นอีกหนึ่งครั้งที่...ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ได้กลายเป็นของร้อนให้กับรัฐบาลท็อปบู๊ต เช่นเดียวกับรัฐบาลพลเรือน เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมายังไม่มีรัฐบาลชุดใดสามารถก้าวข้ามออกไปได้ เพราะผลประโยชน์ที่แฝงอยู่นั้นมากมายมหาศาลอย่างแท้จริง!!!.

ทีมเศรษฐกิจ

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 16 มีนาคม 2558