Page 1 of 1

ททท.จับมือเอกชนลุย ‘ไอทีบี’

Posted: 17 Mar 2015, 14:21
by brid.ladawan
ททท.จับมือเอกชนลุย ‘ไอทีบี’

ขณะเดียวกันก่อนหน้านี้ การบินไทย ยังได้ยกเลิกเส้นทางบินในตลาดยุโรปในหลายเส้นทางทั้งกรุงเทพฯ-มอสโก, กรุงเทพฯ-มาดริด, กรุงเทพฯ–แฟรงก์เฟิร์ต หรือแม้แต่เที่ยวบิน กรุงเทพฯ–ลอนดอน

ททท.จับมือเอกชนลุย ‘ไอทีบี’

ดึงยุโรปเที่ยวไทยเพิ่มรายได้

กลายเป็นศึกหนัก...ของการท่องเที่ยวไทยอีกครั้งในปี 58 ที่ต้องโหมขับเคลื่อนกลยุทธ์ด้านการตลาด ด้านประชาสัมพันธ์กันอย่างหนักเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาท่องเที่ยวเมืองไทย เพราะในปีนี้ตลาดนักท่องเที่ยวใหญ่และสำคัญอย่างตลาดยุโรปกำลังเผชิญปัญหาเรื่องของภาวะเศรษฐกิจยุโรปที่กำลังตกต่ำ จนทำให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงเรื่อย ๆ

ขณะเดียวกันก่อนหน้านี้ การบินไทย ยังได้ยกเลิกเส้นทางบินในตลาดยุโรปในหลายเส้นทางทั้งกรุงเทพฯ-มอสโก, กรุงเทพฯ-มาดริด, กรุงเทพฯ–แฟรงก์เฟิร์ต หรือแม้แต่เที่ยวบิน กรุงเทพฯ–ลอนดอน ก็ล้วนกระทบกับการตลาดของ ททท. และบริษัททัวร์ ด้วยกันทั้งนั้น ดังนั้นแม่งานหลักอย่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. จึงต้องทำหน้าที่และรุกตลาดอย่างหนัก และต้องจับตาดูปัจจัยเสี่ยงอย่างใกล้ชิด

ที่สำคัญเรื่องของการท่องเที่ยวนั้น...ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่จะเข้ามาช่วยเสริมทัพให้เศรษฐกิจของไทยแข็งแกร่งเพิ่มมากขึ้นได้ เพราะท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่สดใสและยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่นั้น ทำให้เครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างการ “ส่งออก” เกิดอาการซวนเซ และยังไม่แน่ชัดว่าจะช่วยพยุงเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใด ดังนั้นเครื่องยนต์น้อย ๆ อย่างการท่องเที่ยวที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศในสัดส่วน 13% ของจีดีพี จึงเข้ามามีความสำคัญ เพราะเป็นเครื่องยนต์ที่ไม่มีต้นทุน

“ธวัชชัย อรัญญิก” ผู้ว่าการ ททท. บอกว่า แม้ตลาดยุโรปประสบปัญหาเศรษฐกิจแต่ตัวเลขนักท่องเที่ยวยังเติบโตได้ดี เพราะการวางแผนเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวยุโรปนั้นต้องวางแผนจองทัวร์กันล่วงหน้า ดังนั้นปัญหาค่าเงินที่อ่อนค่าลงในช่วงนี้จึงไม่ใช่ปัญหาหลักมากนัก และตลาดนักท่องเที่ยวยุโรปตัวเลขนักท่องเที่ยวยุโรปในช่วงไฮซีซั่นของปีนี้จะยังสดใส

แม้ตัวเลขนักท่องเที่ยวยุโรปยังดียังขยายตัวมาก แต่ไม่ได้หมายความว่าจะวางใจได้ เพราะปัญหาเศรษฐกิจของยุโรปที่เกิดขึ้นเวลานี้อาจส่งผลในอนาคต ดังนั้นการรักษาตลาด การช่วงชิงตลาด การเพิ่มตลาดนักท่องเที่ยวยุโรปให้ได้ตามเป้าหมาย จึงยังเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องตอกย้ำและปูฐาน ดังนั้นทั้ง ททท. และเอกชนด้านการท่องเที่ยวกว่า 60 ราย ต่างรวมตัวมุ่งตรงสู่งาน ’ไทยแลนด์ ทัวริสซึ่ม เอ็กซ์เชนจ์“ หรือไอทีบี ครั้งที่ 50 ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เมื่อต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อใช้พื้นที่กว่า 540 ตารางเมตร เปิดบูธโชว์ศักยภาพของการท่องเที่ยวไทย รวมทั้งตั้งโต๊ะเพื่อขายสินค้าด้านการท่องเที่ยวกับบรรดาเอเย่นต์ทัวร์จากนานาประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มยุโรป ทั้งตลาดใหม่และตลาดเก่า

“ไทยเนส” หรือสินค้าด้านการท่องเที่ยวที่แสดงความเป็นไทย ไม่ว่าจะเป็นมวยไทย สปาไทย วัฒนธรรมไทย อาหารไทย และอีกมากมายสารพัดที่แสดงความเป็นไทย ถือเป็นสินค้าหลักที่นำไปเจรจาดึงดูดนักท่องเที่ยวยุโรปในครั้งนี้ เพราะ ททท. ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะดึงรายได้จากนักท่องเที่ยวยุโรปให้ได้ 4.48 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 9% โดยนักท่องเที่ยวยุโรปต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวไทยครั้งละ 70,246 บาทต่อหัว

ขณะเดียวกันยังต้องขนกลยุทธ์ใหม่เพื่อดึงตลาดนักท่องเที่ยวใหม่ ๆ มารองรับตลาดที่กำลังประสบวิกฤติเศรษฐกิจยุโรป โดยเฉพาะยุโรปตะวันออก เช่น โปแลนด์ ฮังการี โรมาเนีย ที่เศรษฐกิจยังไม่เกิดปัญหาชะลอตัว และกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้ใช้ค่าเงินยูโร อย่าง สวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ ตลาดนอร์ดิก คือสวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ จะเป็นตลาดที่เข้ามาช่วยเสริมทัพในช่วงที่ปัญหาการทำตลาดในฝั่งยุโรปอีกด้านถูกถาโถมเข้ามาได้

อย่างสำนักงาน ททท. ประจำกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ นั้น ได้รายงานว่า แม้การบินไทยได้ตัดสินใจลดเที่ยวบินจากลอนดอน-กรุงเทพฯ เหลือวันละ 1 เที่ยวบิน จากเดิมจากวันละ 2 เที่ยวบิน และทำให้จำนวนที่นั่งลดลงไปกว่า 20% แต่ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ยังสามารถทำตลาดร่วมกับสายการบินที่ไม่ได้บินตรงได้ขณะที่ค่าเงินปอนด์ในขณะนี้ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น ๆ เช่น ยูโร ดอลลาร์ หรือเยน จึงเป็นโอกาสดีของการทำตลาด แต่แม้ว่าเงินยูโรจะอ่อนค่าลงมาก แต่เชื่อว่าตลาดยุโรปยังเติบโตเป็นบวกอยู่ได้ เพราะ “ไทย” ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คุ้มค่ากับราคา

ส่วนสำนักงานสตอกโฮล์ม ที่ดูแลตลาดนอร์ดิก สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ตลาดเริ่มติดลบน้อยลง และมีโอกาสดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจากนี้ไปจะมุ่งเจาะตลาดผ่านกลุ่ม เฟิร์สวิสิท หรือการมาท่องเที่ยวเป็นครั้งแรก และการจัดงาน จัดอีเวนต์ต่าง ๆช่นเดียวกับตลาด “ดูไบ” ที่อัตราการจองล่วงหน้าเติบโตทั้งประเทศดูไบ จอร์แดน เลบานอน อียิปต์ รวมถึงอิหร่าน โดยหลังจากนี้สำนักงานดูไบจะเร่งโหมกระตุ้นตลาดทำโปรโมชั่น กับสายการบินชั้นนำในตะวันออกกลางและสายการบินระดับรองลงมาให้มากขึ้น โดยมีกิจกรรมเด่นคือ “มุสลิม เฟรนลี่ เดสติเนชั่น”

ต้องยอมรับว่าสถานการณ์วิกฤติในแต่ละประเทศ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ และไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เมื่อใด และอย่างไร? ดังนั้นตัวแปรสำคัญที่เป็นจุดกระตุ้นการท่องเที่ยวให้มั่นคงและเดินหน้าอยู่ต่อไปได้ คือ...การหันมารุกตลาดการท่องเที่ยวในประเทศให้หนักขึ้นให้มากขึ้นด้วยเช่นกัน เพื่อให้ทั้งการท่องเที่ยวในประเทศมีการหมุนเวียนและเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยค้ำยันให้กับเศรษฐกิจไทย

โดยหลังจากนี้ไป ททท. เอง ได้ปรับกลยุทธ์ ปรับบทบาท โดยโหมกระหน่ำมาใช้แนวคิดสร้างการรับรู้ด้านการเที่ยวไทย ในลักษณะแนวคิดเดียวกับแคมเปญ “เที่ยวไทย ครึกครื้น เศรษฐกิจไทยคึกคัก” ที่เคยเป็นแคมเปญกระตุ้นเศรษฐกิจท่องเที่ยวในประเทศได้ โดย ททท. จะเตรียมปลูกฝังให้ การโปรโมตการท่องเที่ยวมีคำว่า “ไทย” เข้าไปมากขึ้น เช่น ท่องเที่ยวไทย, กินอาหารไทย, ขับรถเที่ยวไทย เป็นต้น

เพราะสิ่งหนึ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยก็คือการท่องเที่ยวในประเทศ ที่เมื่อทุกคนท่องเที่ยวกันเอง นั่นคือสร้างประโยชน์ให้กับภาคการท่องเที่ยวมากที่สุด เหมือนกับที่หลาย ๆ ประเทศได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการท่องเที่ยวในประเทศที่จะต้องเข้มแข็งก่อน

สุดท้ายนี้...ต้องมาดูกันว่า การรุกคืบเพื่อดึงตลาดที่ยังมีแนวโน้มเติบโตได้ดี เข้ามาเสริมทัพตลาดที่ขาดหายไปด้วยปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้นั้น! จะได้มาซึ่งรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยวตามเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ที่ 2.2 ล้านบาท ได้หรือไม่?.

เอวิกานต์ บัวคง

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 17 มีนาคม 2558