Page 1 of 1

ลดดอกเบี้ยเดิมพันรัฐพยุงศก. หวังดันจีดีพี4%

Posted: 17 Mar 2015, 15:30
by brid.ladawan
ลดดอกเบี้ยเดิมพันรัฐพยุงศก. หวังดันจีดีพี4%

"การลดดอกเบี้ยของ กนง.ลง 0.25% มาจากแรงกดดันและเสียงเรียกร้องของหลายฝ่าย หลังจากเห็นว่านโยบายรัฐที่ผ่านมายังไม่ได้ช่วยเศรษฐกิจเท่าที่ควร ดังนั้น การลดดอกเบี้ยครั้งนี้ถือเป็นเดิมพันครั้งใหญ่ของรัฐบาลว่า หากเศรษฐกิจโตได้ไม่ถึง 4% จะใช้มาตรการอะไรมาดูแล"

มติของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ให้ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 2% เหลือ 1.75% ถือเป็นการสร้างเซอร์ไพรส์ให้กับวงการการเงินและเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีแรงกดดันให้ กนง.ลดดอกเบี้ยมาโดยตลอด แต่ กนง.ยังกัดฟันคงดอกเบี้ยไว้ที่ 2% นานถึง 1 ปี

การลดดอกเบี้ยครั้งนี้ กนง.มีการโหวตด้วยเสียง 4 ต่อ 3 ถือว่าสูสีมาก โดย กนง. 4 เสียงที่ต้องการให้ลดดอกเบี้ยเนื่องจากเห็นว่านโยบายการเงินควรผ่อนคลายเพื่อเป็นแรงสนับสนุนเศรษฐกิจ และช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชน ส่วน 3 เสียงที่ประเมินกันว่าเป็นคนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทั้งหมด มองว่ายังไม่อยากให้ลดดอกเบี้ยช่วงนี้ เพราะอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันเพียงพอที่จะดูแลเศรษฐกิจ ดังนั้น ควรจะรักษากระสุนที่มีอยู่ไว้ใช้ในยามที่จำเป็น ซึ่งการดูแลเศรษฐกิจในช่วงนี้ควรใช้นโยบายการคลังโดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ กนง. แถลงภายหลังประชุม กนง.ว่า ในการตัดสินลดดอกเบี้ยครั้งนี้ไม่ได้มาจากแรงกดดัน แต่ประเด็นที่ กนง.ให้ความสำคัญคือ เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 และเดือนมกราคม 2558 ยังคงฟื้นได้ช้า เพราะการบริโภคและการลงทุนขยายตัวได้น้อยกว่าที่คาด และมีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจในระยะต่อไปฟื้นตัวได้ต่ำกว่าที่ประเมิน ซึ่งในวันที่ 20 มีนาคมนี้ จะมีการแถลงเป้าหมายเศรษฐกิจไทยใหม่ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะปรับลดลงจากที่ประเมินไว้ว่าจะโต 4% ส่งออกที่ 1%

อย่างไรก็ตาม ก่อนการประชุม กนง.แค่ 1 วัน คือเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการพิจารณาดอกเบี้ยของ กนง.ว่า รัฐบาลจะไม่ส่งสัญญาณใดๆ เกี่ยวกับดอกเบี้ย โดยยืนยันว่าไม่ได้ไปสั่งการให้ กนง.ปรับลดดอกเบี้ยเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งมั่นใจว่า กนง.จะมีการพิจารณาข้อมูลเศรษฐกิจอย่างรอบคอบ และดูแลด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายก่อนพิจารณา แต่การจะพิจารณาปรับลดดอกเบี้ย หากตัดสินใจเร็วเกินไปหรือทำอะไรผลีผลาม ก็จะไม่มีเครื่องมือที่จะนำมาใช้เมื่อจำเป็น

ภายหลังลดดอกเบี้ย มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายภาคส่วน ทั้งรัฐและเอกชน มีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมองว่าการลดดอกเบี้ยครั้งนี้ไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนฝ่ายที่เห็นด้วยมองว่าจะเป็นการช่วยภาคการส่งออก อย่างไรก็ตาม ภายหลังลดดอกเบี้ยตลาดหุ้นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ดีดกลับปิดในแดนบวกถึง 12.80 จุด จากช่วงภาคเช้าที่ยังอยู่ในภาวะติดลบ ส่วนเงินบาทอ่อนค่าทันที 20 สตางค์ ภายในวันเดียว จาก 32.65 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ไปอยู่ที่ 32.86 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

ส่วนหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลอย่าง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ตอบรับการปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้ทันที และมองว่าการลดดอกเบี้ยช่วยให้บาทอ่อนค่าลง เมื่อบาทอ่อนก็ช่วยเรื่องส่งออก พร้อมทั้งยังหวังว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ 4% เพราะจากข้อมูลที่มีอยู่ เชื่อว่า การเบิกจ่ายงบประมาณจะมีออกมามากขึ้นในระยะต่อไปโดยเฉพาะในต่างจังหวัด ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนก็จะเพิ่มมากขึ้น หลังผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาต รง.4 เริ่มมีการก่อสร้างโรงงานแล้ว

แนวคิดของหัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาลสวนทางกับแนวคิดของนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่มองว่าการปรับลดดอกเบี้ยลงของ กนง.ไม่น่าจะมีผลในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้มากนัก เพราะเป็นการปรับลดตามกระแสกดดันของสังคม ดูได้จากมติ 4 ต่อ 3 ที่ไม่ได้เป็นเอกฉันท์



โดยยอมรับว่า กนง.ลดดอกเบี้ยเพราะมองว่าเศรษฐกิจในช่วงนี้แย่นั้นเป็นเรื่องจริง และยังไม่มั่นใจว่าปีนี้จะโตได้ถึง 4% หรือไม่ เพราะเศรษฐกิจปีนี้มีแนวโน้มแย่กว่าปีที่แล้ว เนื่องจากเศรษฐกิจโลกไม่ดีและส่งผลกระทบต่อการส่งออก ซึ่งการส่งออกมีสัดส่วนถึง 70% ของจีพีดี ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐที่ทุกคนหวังให้มาช่วยผลักดันเศรษฐกิจนั้นมีสัดส่วนเพียง 21-22% ของจีดีพีเท่านั้น

ส่วนที่มีการมองกันว่าต้องใช้นโยบายการคลังเพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมนั้น ที่ผ่านมาคลังทำมาโดยตลอด และในอีก 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า น่าจะมีมาตรการการคลังออกมาเพิ่มเติม โดยจะเป็นมาตรการเกี่ยวกับการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ ทำให้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า มาตรการทางด้านการคลังที่จะออกมาในอีกเร็วๆ นี้ ประกอบด้วยการกู้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 8 หมื่นล้านบาท ที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) จะช่วยกู้ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ได้อนุมัติงบ 4 หมื่นล้านให้กระทรวงคมนาคมนำไปพัฒนาปรับปรุงทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงชนบท ตามแผนพัฒนาระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน และโครงการเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ 4 หมื่นล้านบาท หากในปีงบ 2558 สามารถใช้เงินกู้นี้ได้ตามแผนที่ สบน.วางไว้ว่าจะกู้ 5.7 หมื่นล้านบาท น่าจะมีส่วนช่วยเศรษฐกิจได้มากขึ้น เพราะ สศค.นำงบดังกล่าวใส่ไว้ในแบบประเมินภาวะเศรษฐกิจเพียง 1 หมื่นล้านบาทเท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีในส่วนของกองทุนหมู่บ้านที่จะใส่เงินเพิ่มอีก 6.8 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการเพิ่มทุน 2.5 หมื่นล้านบาท สำหรับ 2.5 หมื่นหมู่บ้าน ซึ่งล่าสุด ครม.มีมติใส่เงินเพิ่มในส่วนของ 5 พันหมู่บ้าน เป็นเงิน 5 พันล้านบาทไปแล้ว คาดว่าจะใส่เงินในส่วนหมู่บ้านที่เหลือในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ส่วนการให้กู้เพิ่มจากธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกตร (ธ.ก.ส.) อีก 4.3 หมื่นล้านบาทนั้น ถ้าหมู่บ้านไหนที่พร้อมสามารถมากู้ได้ทันที

นายกฤษฎากล่าวต่อว่า ยังมั่นใจว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะสามารถยืนได้ในระดับ 3.9-4% อย่างที่ สศค.เคยประเมินไว้ แม้ว่าหลายๆ หน่วยงานจะปรับลดคาดการณ์ลง แต่ยังมีปัจจัยบวกจากการเบิกจ่ายงบประมาณที่คาดว่าจะเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่ผ่านมาการเบิกจ่ายทำได้ต่ำกว่าเป้าหมายมาก เพราะอยู่ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ส่วนการส่งออก สศค.ประเมินไว้เพียง 1.4% ดังนั้น หากกระทรวงพาณิชย์สามารถทำได้อย่างที่ประเมินไว้ว่าจะโต 4% น่าจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจปีนี้ แม้การส่งออกในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมามีแนวโน้มที่ไม่ดี แต่การท่องเที่ยวดีขึ้นมาก ซึ่ง สศค.จัดกลุ่มการท่องเที่ยวและส่งออกอยู่ในกลุ่มเดียว ดังนั้น หากการส่งออกลดลงมากแต่การท่องเที่ยวดี จะสามารถชดเชยกันได้

จากข้อมูลข้างต้นพบว่า ภาครัฐยังคงใจแข็งกับเป้าหมายเศรษฐกิจ 4% และพยายามอัดฉีดมาตรการอย่างต่อเนื่อง และการที่ กนง.ตัดสินใจลดดอกเบี้ยคงเห็นว่ามาตรการด้านการคลังในช่วงที่ผ่านมายังไม่ช่วยเศรษฐกิจเท่าที่ควร รวมถึงมาตรการอัดฉีดเงินลงไปให้ชาวนา ชาวสวนยาง และการใช้งบเพื่อสร้างงาน 2.3 หมื่นล้านบาท ยังไม่ได้ผลนัก

ขณะที่นักวิชาการหรือแม้แต่คนในรัฐบาลบางคนยังมองว่า การลดดอกเบี้ยไม่ได้ช่วยเศรษฐกิจมากนัก แต่ที่ กนง.ตัดสินใจลดน่าจะเป็นแรงกดดันและเรียกร้องจากหลายๆ ฝ่ายในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากเห็นว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทยไม่ได้ปรับลดมานานนับตั้งแต่ 12 มีนาคม 2557

ดังนั้นการลดดอกเบี้ยครั้งนี้ถือเป็นเดิมพันครั้งใหญ่ของรัฐบาลว่า ถ้าเศรษฐกิจไม่เติบโตอย่างที่คิด และนโยบายที่เตรียมไว้ไม่เพียงพอ รัฐจะทำอย่างไร?


ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 16 มีนาคม 2558