Page 1 of 1

‘ปิดทองฯ’ เปิดโมเดลแก้จน 5ปีดันศาสตร์พระราชาปลดหนี้

Posted: 18 Mar 2015, 09:31
by brid.ladawan
‘ปิดทองฯ’ เปิดโมเดลแก้จน 5ปีดันศาสตร์พระราชาปลดหนี้

“ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล” เลขาฯมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ และประธานสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองฯ เล่าให้ฟังว่า กิจกรรมปิดทองฯได้เริ่มต้นที่จังหวัดน่านเป็นแห่งแรก

ความพยายามในการแก้ไขปัญหา “ความยากจน” ของคนไทยที่ทุกรัฐบาลพยายามทำมานานหลายสิบปี ตั้งแต่ก่อนเขียนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ปี 2504 จนถึงปัจจุบันด้วยการอัดนโยบายสารพัด “แก้จน” แต่...มาถึงวันนี้ไฉนความยากจนยังไม่หมดสิ้นไปจากคนไทย ซ้ำร้ายกว่านั้นช่องว่างคนรวยกับคนจนยิ่งเพิ่มขึ้นจาก 20 เท่า เมื่อ 25 ปีก่อน เป็น 21 เท่า

ด้วยปัญหาข้างต้นทำให้มูลนิธิปิดทองหลังพระสืบสานแนวทางพระราชดำริซึ่งเป็นหน่วยงานที่น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงหรือแปร “ศาสตร์พระราชา” ออกมาสู่การปฏิบัติจริง จึงได้มีการเร่งดำเนินการแก้ปัญหาความยากจนในพื้นที่ห่างไกล ถึงวันนี้ลองมาดูกันว่า ตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อปี 53 ถึงปัจจุบันประสบผลสำเร็จอย่างไรบ้าง

“ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล” เลขาฯมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ และประธานสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองฯ เล่าให้ฟังว่า กิจกรรมปิดทองฯได้เริ่มต้นที่จังหวัดน่านเป็นแห่งแรก เพราะจังหวัดนี้ติดอันดับจังหวัดยากจน 1 ใน 3 ของประเทศ อีกทั้งพื้นที่ป่าก็ถูกบุกรุก ประชาชนก็อพยพเข้าสู่เมืองหลวงไปรับจ้างก่อสร้าง บางส่วนก็ค้ายาเสพติด ค้าประเวณี จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไข โดยขั้นตอนแรกต้องทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่ก่อน เพื่อสร้างองค์ความรู้และนำคณะของผู้นำชาวบ้านไปศึกษาวิธีสร้างอาชีพที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อนำความรู้ไปขยายผลต่อ พร้อมกับพัฒนาแหล่งน้ำให้เพียงพอเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี

จากนั้นจึงขยายผลไปจังหวัดอื่น โดยจัดทำเป็นพื้นที่ต้นแบบ 5 จังหวัด คือ น่าน อุดรธานี เพชรบุรี อุทัยธานี และกาฬสินธุ์ ขณะนี้ผ่านมา 5 ปีแล้ว พบว่าประสบผลสำเร็จสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนกว่า 285 ล้านบาท ครอบคลุม 2,017 ครัวเรือน และสร้างครัวเรือนต้นแบบ 534 ครัวเรือน โดยชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ ตลอดจนช่วยสร้างงาน และแก้ไขการบุกรุกป่าได้

แก้ยากจนจังหวัดน่าน 100%

ทั้งนี้เมื่อแยกออกเป็นรายจังหวัดพบว่า จังหวัดน่านซึ่งตั้งต้นว่าเป็นโครงการ “พึ่งตน พึ่งป่า รักษ์เจ้าพระยา” และได้นำหลักการ “เข้าใจเข้าถึง พัฒนา” ตามแนวพระราชดำริมาเป็นแนวทางปฏิบัติในพื้นที่นำร่อง 3 อำเภอ คือ อำเภอสองแคว ท่าวังผา และเฉลิมพระเกียรติ ด้วยการพัฒนาการบริหารจัดการน้ำปรับปรุงปัจจัยการผลิตพื้นฐาน ส่งเสริมการแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ส่งเสริมความเข้มแข็งชุมชนด้วยการพัฒนาคนควบคู่กับการปลูกฝังค่านิยมด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนกับธรรมชาติ จัดตั้งกลุ่มกองทุนต่าง ๆ และที่สำคัญช่วยเพิ่มผลผลิตข้าวให้เพียงพอต่อการบริโภค ลดพื้นที่เผาป่าและส่งเสริมการปลูกพืชหลังนา

ทำให้ผลที่เกิดขึ้นในระยะ 5 ปี มีครัวเรือนเข้าโครงการ 1,793 ครัวเรือน สร้างพื้นที่รับน้ำเพิ่มขึ้น 10,282 ไร่ สร้างรายได้เพิ่มให้ชาวบ้าน 1,700 ครัวเรือน คิดเป็นมูลค่า 137.6 ล้านบาท ลดหนี้สินครัวเรือนได้เฉลี่ย 10% จากครัวเรือนละ 38,536 บาท เหลือ 26,894 บาท ขณะที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯได้เข้ามาปลูกป่าในพื้นที่ตั้งแต่ปี 56 ล่าสุดสามารถปลูกได้ทั้งป่าอนุรักษ์ ป่าใช้สอยและป่าเศรษฐกิจได้ 81,690 ไร่ และมีเป้าหมายปลูกป่าให้ได้ 250,000 ไร่ ซึ่งตอนนี้ที่ 3 อำเภอ ต้นแบบได้ช่วยแก้ปัญหาความยากจนได้เห็นผล 100%

สร้างอ่างเก็บน้ำฟื้นรายได้

ต่อมาที่ จ.อุดรธานี เดิมประสบปัญหาน้ำใช้ทำการเกษตรไม่เพียงพอ และมีปัญหาหนี้สินกับการละทิ้งถิ่นฐาน มูลนิธิจึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ นำหลัก “ทำเล็ก เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด” มาใช้ โดยเสริมประสิทธิภาพของอ่างเก็บน้ำห้วยคล้ายฯ สร้างอ่างพวงต่อจากอ่างเก็บน้ำหลักไว้เก็บน้ำเพิ่มและวางท่อส่งน้ำ ปรับปรุงบำรุงดินเพิ่มผลผลิตข้าว ส่งเสริมการปลูกพืชหลังนา เลี้ยงหมูพันธุ์เหมยซาน และไก่ไข่

ทำให้ผลที่เกิดขึ้นในระยะ 4 ปี 5 เดือน สร้างรายได้ให้ชาวบ้าน 214 ครัวเรือน มูลค่า 8.5 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากการปลูกข้าว 5.3 ล้านบาท รายได้จากเลี้ยงหมู 2.1 ล้านบาท และพืชหลังนาอีก 548,413 บาท สร้างพื้นที่รับน้ำเพิ่มขึ้นเป็น 1,297 ไร่ และจากนี้ยังมีทิศทางการทำงานต่อโดยชาวบ้านพร้อมพัฒนาข้าวปลอดสารแบบครบวงจรพัฒนาศักยภาพกลุ่มอาชีพพร้อมทั้งส่งเสริมการแปรรูปปศุสัตว์ด้วย

แก้ปัญหารุกป่าสร้างอาชีพ

ขณะที่จังหวัดเพชรบุรีเดิมประสบปัญหาชนเผ่ากะหร่างอยู่อาศัยอย่างลำบากในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวด ล้อมอย่างรุนแรงในพื้นที่อุทยานฯแม้จะมีมูลนิธิศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เข้าไปส่งเสริมอาชีพแต่ยังไม่เพียงพอกับการดำรงชีวิตมิหนำซ้ำยังมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานในพื้นที่เข้ามาผสมอีกด้วย โดยการแก้ไขปัญหา ปิดทองฯได้ชวนชาวกะหร่างและราชการในพื้นที่ร่วมกันทำงานเพื่อให้คนป่าและสัตว์ป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเกื้อกูล จึงทำแผนพัฒนาออกมาคือเพิ่มการเข้าถึงแหล่งน้ำส่งเสริมความสามารถในการพึ่งพาตนเองด้วยพืชระยะสั้นปลูกผักสวนครัว และปศุสัตว์ ส่งเสริมปลูกพืชระยะยาวสร้างความยั่งยืนในอาชีพและเพิ่มพื้นที่และศักยภาพของการเพาะปลูก

ส่งผลให้ในช่วง 2 ปี 3 เดือน ที่ผ่านมาสามารถสร้างความรู้ สร้างอาชีพ รายได้ให้ชนกลุ่มน้อยในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้ 133 ครัวเรือน มูลค่า 730,000 บาท มีพื้นที่รับน้ำเพิ่มขึ้น 497 ไร่ ต่อไปยังมีแผนพัฒนาด้วยการเพิ่มผลผลิตข้าวให้เพียงพอต่อการบริโภคปลูกพืชสวนระยะสั้น เช่น กล้วย ส่งเสริมการจัดทำบัญชีครัวเรือนและจัดตั้งกลุ่มต่าง ๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชน

ปัดฝุ่นหนองน้ำแก้แล้ง-น้ำท่วม

ส่วน จ.กาฬสินธุ์ แม้เริ่มลงมือทำเมื่อปี 56 แต่ปัจจุบันก็เริ่มเห็นผลสำเร็จแล้ว โดยปัญหาแหล่งน้ำหนองเลิงเปือยที่ตื้นเขิน ทำให้เกิดปัญหาขาดน้ำในหน้าแล้ง และน้ำท่วมในหน้าน้ำหลากทุกปี มูลนิธิก็เข้าไปร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยกันขุดลอกหนองเลิงเปือยและบริหารจัดการน้ำครบวงจร สร้างองค์ความรู้ด้านการเกษตร ทำให้ในช่วง 2 ปี 1 เดือน สามารถเพิ่มพื้นที่รับน้ำได้ 5,938 ไร่ สร้างครัวเรือนต้นแบบ 534 ครัวเรือน ในการทำเกษตรผสมผสานและเกษตรทางเลือก

รายได้เพิ่มด้วยสตรอเบอรี่

สุดท้ายที่ จ.อุทัยธานี เริ่มงานในปี 56 เช่นกัน แต่มีปัญหาพื้นที่ชายขอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งถูกคุกคามจากการแผ้วถางทำไร่ชาวกะเหรี่ยง ปัญหาการขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ การเป็นหนี้สินกับนายทุน ตลอดจนการบริหารจัดการน้ำ ปิดทองฯจึงได้ร่วมกับท้องถิ่นและหน่วยงานในพื้นที่พัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนท้องถิ่นสร้างงานและอาชีพป้องกันการบุกรุกทำลายป่าด้วยการส่งเสริมอาชีพระยะสั้นกับการปลูกสตรอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน 80

โดยในปีแรกของการดำเนินงานสามารถสร้างรายได้ให้กับชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่รอยต่อมรดกโลกห้วยขาแข้งจากการปลูกสตรอเบอรี่ 24 ครัวเรือน มูลค่า 485,000 บาท และในปัจจุบันก็มีชาวบ้านปลูกสตรอเบอรี่เพิ่มเป็น 36 ราย รวมพื้นที่เพาะปลูก 24 ไร่ 1 งาน ส่งผลให้ชาวบ้านมีรายได้เฉลี่ยต่อพื้นที่ 1 งานต่อเดือนอยู่ที่ 4,949 บาท หรือไร่ละ 19,796 บาท

ผลงานทั้งหมดของปิดทองฯดังที่ยกตัวอย่างมาแม้ว่าจะเป็นแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ เพียง 5 ปี แต่ก็มีทิศทางแก้ปัญหา “คนจน” ให้มี รายได้เพิ่ม และที่สำคัญแนวทางนี้ยังไม่สงวนหากฝ่ายนโยบายจะหยิบไปเป็นโมเดลแก้ปัญหาที่สั่งสมมานานเพื่อดึงประเทศไทยก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางเสียที.

วสวัตติ์ โอดทวี

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 18 มีนาคม 2558