การบริหารกองทุน Relative Benchmark VS Absolute Benchmark

Post Reply
brid.ladawan
Posts: 7045
Joined: 29 Mar 2013, 13:36

การบริหารกองทุน Relative Benchmark VS Absolute Benchmark

Post by brid.ladawan »

การบริหารกองทุน Relative Benchmark VS Absolute Benchmark

การบริหารกองทุน Relative Benchmark VS Absolute Benchmark
การลงทุนของกองทุนโดยทั่วไปจะทำการวัดความสามารถของผู้จัดการกองทุนโดยเทียบผลตอบแทนกับดัชนีชี้วัด (Benchmark)

สำหรับกองทุนหุ้นไทยส่วนใหญ่มักนำไปเทียบกับ SET Index แต่ในความเป็นจริงแล้ว Benchmark สามารถจัดออกได้เป็น 2 รูปแบบ คือ Relative Benchmark และ Absolute Benchmark

Relative Benchmark เป็นการเปรียบเทียบผลดำเนินงานกับดัชนีอ้างอิงที่สอดคล้องกัน เช่นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นที่จดทะเบียนขนาดใหญ่ก็จะนำไปเทียบกับดัชนี SET50 มากกว่าดัชนี SET ส่วนกองทุนที่ลงทุนในสหรัฐฯ ก็จะนำไปเปรียบเทียบกับดัชนี Dow Jones หากผู้จัดการกองทุนสามารถบริหารได้ผลตอบแทนดีกว่า Benchmark ก็จะถือว่าประสบผลสำเร็จ

เช่น Benchmark ลบ 20% บริหารขาดทุน 15% ก็ถือว่าประสบผลสำเร็จ ซึ่งวิธีการวัดแบบนี้อาจสร้างความไม่สมดุลระหว่างความต้องการของนักลงทุนกับผู้จัดการกองทุน

เนื่องจากผู้จัดการกองทุนอาจมีความพอใจกับผลตอบแทนที่ดีกว่า Benchmark แต่นักลงทุนกลับขาดทุน absolute Benchmark เป็นการเปรียบเทียบผลดำเนินงานกับผลตอบแทนที่คาดหมาย โดยมุ่งเน้นผลตอบแทนที่เป็นบวกไม่สนใจการเปลี่ยนแปลงของราคาสินทรัพย์ใดๆ ในภาพรวมถึงดัชนีต่างๆ ผู้จัดการกองทุนจะประสบผลสำเร็จก็เมื่อสามารถส่งมอบผลตอบแทนได้ตามที่ตั้งไว้

เช่นตั้งเป้าหมายที่ 8% ต่อปี ถ้าสามารถบริหารให้ผลตอบแทนได้ 8% โดยไม่มีการคำนึงถึงว่าดัชนีจะมีการปรับตัวขึ้นหรือลง ซึ่งวิธีการวัดแบบนี้อาจทำให้สูญเสียโอกาสในกรณีที่ราคาหุ้นมีการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การบริหารสำหรับ Benchmark ทั้ง 2 รูปแบบนี้เหมาะต่อนักลงทุนที่แตกต่างกัน มาลองพิจารณาดูการลงทุนโดยใช้ Relative Benchmark จะมีสมมติฐานที่ว่า เศรษฐกิจ และราคาหุ้นเติบโตในระยะยาว

ดังนั้น หากลงทุนอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องแม้ในบางช่วงเวลาอาจมีผลขาดทุนแต่ในที่สุดก็จะได้กำไรหากลงทุนในระยะเวลาที่ยาวเพียงพอ จึงเหมาะสำหรับนักลงทุนทั่วไปที่มุ่งเน้นการสะสมความมั่งคั่งให้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ในขณะที่ Absolute Benchmark จะมีสมมติฐานว่าระยะเวลาการลงทุนนั้นจำกัด ดังนั้นต้องการผลตอบแทนที่เหมาะสมในระยะเวลาดังกล่าว จึงเหมาะต่อนักลงทุนที่มีเงินลงทุนในช่วงเวลาไม่นานนัก ก่อนจะนำเงินลงทุนดังกล่าวไปใช้จ่ายอย่างอื่น

การบริหารจัดการแบบ Relative Benchmark จะเป็นแนวทางการบริหารของกองทุนรวม (Mutual Fund) ส่วนใหญ่จะเน้นวินัยการออม และต้องการสร้างความมั่งคั่งไว้สำหรับวัยเกษียณหรือส่งมอบต่อให้ลูกหลาน ในขณะที่ Absolute Benchmark จะเป็นแนวทางการบริหารของกองทุนถัวความเสี่ยง (Hedge Fund) เนื่องจากเป็นกองทุนที่พิจารณาผลตอบแทนเป็นช่วงเวลาสั้นๆ (ส่วนใหญ่ ปีต่อปี) ซึ่งหากผลตอบแทนไม่ดีก็จะถูกไถ่ถอน

จากการที่โลกได้หมุนเร็วขึ้น มนุษย์เริ่มเปลี่ยนไปต้องการหลายสิ่งหลายอย่างเร็วขึ้นรวมถึงการลงทุนด้วย ดังนั้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่ากองทุนประเภท Hedge Fund มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดมากกว่าประเภทกองทุนรวมหลายเท่า อย่างไรก็ตาม ปี 2008 Hedge Fund จำนวนมากมีการปิดตัวลงจากผลขาดทุนที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาวิกฤตการณ์ดังกล่าว

เนื่องจากเมืองไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับ Hedge Fund ดังนั้น Trigger Fund ที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเป็นการนำความต้องการ Absolute Benchmark ของนักลงทุนมาประยุกต์ใช้โดยพิจารณาผลตอบแทนในลักษณะของ Absolute มากกว่า Relative ส่วนใหญ่บริษัทจัดการกองทุนจะออกกองในจังหวะที่เหมาะสม มีโอกาสทำกำไรได้ตามเป้าหมายในเวลาที่กำหนด

นักลงทุนควรพิจารณาว่าวัตถุประสงค์ของการลงทุนคืออะไร หากต้องการสร้างความมั่งคั่งในระยะยาวก็ควรลงทุนในกองทุนรวมทั่วไป หากคิดว่าต้องการลงทุนในระยะเวลาสั้นๆ ตามที่กำหนดกองทุนประเภท Trigger ก็จะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมกว่า

โดย ธนวัฒน์ พานิชเกษม
รองกรรมการผู้อำนวยการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน
กลุ่มจัดการลงทุนตราสารทุน
บลจ.ไทยพาณิชย์

ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 16 มีนาคม 2558
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”