Page 1 of 1

SMEs แฟชั่นปั้นแบรนด์ไทยได้แล้ว 150 แบรนด์

Posted: 18 Mar 2015, 17:21
by brid.ladawan
SMEs แฟชั่นปั้นแบรนด์ไทยได้แล้ว 150 แบรนด์

นายประสงค์ นิลบรรจง ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา 1 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กสอ.พยายามผลักดันให้กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อม (SMEs) สร้างแบรนด์เพิ่มขึ้นปี 30% จากปัจจุบันที่มีการสร้างแบรนด์เสื้อผ้า เครื่องหนัง และเครื่องประดับรวม 150 แบรนด์ เพื่อจะได้ก้าวไปสู่การเป็นนำผู้ส่งออกอันดับ 1 ของอาเซียน ในปี 2560

"กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs แฟชั่นมีศักยภาพในการผลิตสูงขึ้น สามารถต่อยอดไปขายต่างประเทศได้ ปัจจุบันมูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมแฟชั่นอยู่ที่ 670,200 ล้านบาท เช่น เสื้อผ้า แบรนด์ Highbury สามารถต่อยอดผลิตสินค้าเสื้อผ้าระดับกลาง ส่งออกไปขายที่เมียนมาร์ เพราะศักยภาพทั้งการผลิต การออกแบบดีไซต์ และวัตถุดิบไทยมีคุณภาพดีที่สุด"

ทั้งนี้ หลังจากล้มเลิกโครงการกรุงเทพเมืองแฟชั่นไป กระทรวงอุตสาหกรรมได้เริ่มโครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ พัฒนาแบรนด์จนสามารถเปิดช่องทางตลาดส่งออกขายยังต่างประเทศได้มากขึ้น

"กรมฯได้งบประมาณปีละ 100 ล้านบาทในการจัดทำโครงการส่งเสริม SMEs รูปแบบโดยในปีนี้เริ่มโครงการส่งเสริมและให้ความรู้ผู้ประกอบการใหม่ในอุตสาหกรรมแฟชั่นให้ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลาง (Hub) แฟชั่นของภูมิภาคนี้ ซึ่งอุตสาหกรรมดังกล่าวสร้างรายได้ให้กับประเทศปีละมากกว่า 600,000 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงาน 2.2 ล้านคน"

สำหรับการช่วยเหลือ SMEs ที่มีปัญหาเรื่องของเงินทุนจาก กสอ.ตามกระบวนการขอสินเชื่อจากธนาคารนั้นต้องทำแผนธุรกิจ (Business Plan) โดย SMEs ขนาดเล็กจะได้รับการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนหรือ วงเงินกู้ไม่เกินรายละ 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 6% สำหรับรายใดที่ต้องการวงเงิน 5-10 ล้านบาท จะต้องนำเสนอเรื่องเข้าบอร์ดพิจารณาก่อน

นอกจากนี้ กสอ.จะช่วยในการทำ Business Plan สำหรับ SMEs รายใดที่ต้องการขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ ซึ่ง กสอ.จะสนับสนุนให้ยังธนาคารเครือข่าย อาทิ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME Bank), ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกร และธนาคารไทยพาณิชย์ SMEs รายใดที่ผ่านโครงการจากเรา ก็คล้ายว่ามีหน่วยงานรับรองว่าสามารถดำเนินธุรกิจได้ ทำให้เวลาไปกู้เงินจากแบงก์ง่ายขึ้น แต่อย่างไรก็ตามก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาตามเงื่อนไขของแบงก์เช่นกัน

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กลยุทธ์เร่งด่วนเพื่อพัฒนา SMEs ไทยให้พร้อมก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) รองรับฐานผู้บริโภคที่ใหญ่ขึ้นเป็นกว่า 600 ล้านคนทั่วอาเซียน ด้วยการดำเนินงานใน 3 โครงการหลัก ได้แก่ 1.โครงการเตรียมความพร้อมภาคอุตสาหกรรมในการเข้าสู่ AEC ในปี 2557 สามารถพัฒนาผู้ประกอบการ กิจการ และบุคลากรในธุรกิจอุตสาหกรรมได้กว่า 7,094 ราย 600 กิจการ และ 5,145 ราย

2.โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย และ 3.โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทย สู่การเป็นเถ้าแก่ใหม่ มุ่งเน้นการสร้างผู้ประกอบการให้สามารถเริ่มต้นธุรกิจและดำเนินธุรกิจให้เติบโตและเข้มแข็ง โดยปีนี้ตั้งเป้าสร้างผู้ประกอบการใหม่ 1,890 ราย ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2545 ถึงปัจจุบันเกิดผู้ประกอบการใหม่ 16,280 ราย มูลค่าการลงทุน 25,642.83 ล้านบาท การจ้างงาน 62,067 ราย


ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
วันที่ 18 มี.ค. 2558