Page 1 of 1

ประยุกต์เทคโนโลยีช่วยอนุรักษ์ลวดลายบนผืนผ้าไทย

Posted: 20 Mar 2015, 08:44
by brid.ladawan
ประยุกต์เทคโนโลยีช่วยอนุรักษ์ลวดลายบนผืนผ้าไทย

ออกแบบอุปกรณ์ควบคุมตะกอทอผ้าขึ้น เพื่อใช้งานกับเครื่องทอผ้าที่ชาวบ้านใช้กันอยู่ทั่วไป แต่ผสมผสานเทคโนโลยีไปช่วยให้ผู้ใช้ทอผ้าได้เร็วขึ้น ไม่ต้องจดจำลายที่มีเป็นจำนวนมาก ใช้งานง่าย

ด้วยเป้าหมายที่ต้องการอนุรักษ์ลวด ลายบนผืนผ้าไทยไม่ให้เลือนหายไปจากท้องถิ่น

ทำให้ “นางศิริลักษณ์ วงศ์เกษม” อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม คิดที่จะประดิษฐ์ “อุปกรณ์ควบคุมการทำงานของตะกอทอผ้า” ขึ้น

นางศิริลักษณ์ บอกว่า การทอผ้าถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งมีลวดลายและเอกลักษณ์เฉพาะ เป็นศิลปะที่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น

จากการลงพื้นที่เพื่อศึกษาการทอผ้า ยกดอก ที่ชาวบ้านนิยมทอไว้ใช้เองในโอกาส พิเศษต่าง ๆ นั้น พบว่าวิธีการทอและเทคนิคการผูกลายต่าง ๆ นั้น จะใช้การสอนแบบสืบทอดกันมาจากรุ่นปู่ย่าตายาย ซึ่งปัจจุบันเยาวชนคนรุ่นใหม่จะเข้าไปเรียนหนังสือและทำงานในเมืองมากขึ้น ทำให้ผ้าทอที่มีลวดลายวิจิตรงดงามเป็นจำนวนมาก อาจขาดผู้สืบ ทอดได้ จึงคิดที่จะนำเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมมาประยุกต์ใช้กับการทอผ้ายก

โดยออกแบบอุปกรณ์ควบคุมตะกอทอผ้าขึ้น เพื่อใช้งานกับเครื่องทอผ้าที่ชาวบ้านใช้กันอยู่ทั่วไป แต่ผสมผสานเทคโนโลยีไปช่วยให้ผู้ใช้ทอผ้าได้เร็วขึ้น ไม่ต้องจดจำลายที่มีเป็นจำนวนมาก ใช้งานง่าย ผู้ที่ไม่มีทักษะการทอผ้าก็สามารถทำได้

ทั้งนี้อุปกรณ์ดังกล่าวใช้กลไกผูกไว้แทนเขาและตะกอเพื่อใช้ดึงเส้นยืน กลไกนี้ใช้กระบอกลมเป็นตัวส่งกำลัง โดยปรับระดับแรงดึงให้สม่ำเสมอได้

นอกจากนี้ยังบรรจุลายผ้ายกต่าง ๆ ซึ่งเป็นลายผ้าอีสานโบราณ เช่น ลายเต่า ลายหมี่นาค และลายต้นสน ลงในไมโครคอนโทรลเลอร์ ซึ่งจะสั่งการทำงานของกระบอกลมให้ดึงเส้นยืนตามลวดลายของผ้า สามารถบันทึกข้อมูลแต่ละลายผ้าได้ถึง 160 ขั้นตอน

ในการทอผู้ใช้เพียงเลือกลายผ้าและกดปุ่มเริ่มทำงานบนแผงควบคุมเครื่อง และสอดเส้นพุ่งและกระตุกฟีมหวีตามจังหวะการทำงานของกลไกที่ดึงเส้นยืน ก็จะได้ผ้าที่มีความแน่น มีความถูกต้องและต่อเนื่องของลวดลาย และทอได้เร็วขึ้นกว่าสองเท่า

ปัจจุบันมี 15 ลาย สามารถทอได้กับผ้าทุกชนิด ส่วนเวอร์ชั่นต่อไปจะมีการพัฒนาให้ปุ่มกดสามารถเลือกลายได้ง่ายขึ้น

สำหรับผลงาน “อุปกรณ์ควบคุมการทำงานของตะกอทอผ้า” ได้รับรางวัลที่ 2 (ไม่มีผู้ได้รับรางวัลที่ 1) ในการประกวดสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำปี 2557 ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับมูลนิธิธนาคารกรุงเทพ จัดขึ้น

นอกจากผลงานดังกล่าวแล้ว ยังมี ผลงานประดิษฐ์ของคนไทยที่น่าสนใจอีกหลายผลงาน เช่น “เครื่องผ่ามะพร้าวกึ่งอัตโนมัติ” ผลงานของนายสาทิป รัตนภาสกร จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาด กระบัง ที่ได้รับรางวัลที่ 2 เหมือนกัน โดยเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ประโยชน์ช่วยเกษตรกรแปรรูปอาหาร เร็วกว่าแรงงานคนกว่า 10 เท่า และใช้ประโยชน์มาแล้วกว่า 10 ปี

และ “เครื่องผ่าถั่วปากอ้า” ผลงานของนายมานพ แย้มแฟง จากมหา วิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ที่ได้รับรางวัลที่ 3 โดยพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ทดแทนแรงงานคน สามารถเคลื่อนย้ายและทำงานได้อย่างสะดวก

สิ่งประดิษฐ์เหล่านี้ ถือเป็นความสามารถของนักประดิษฐ์คิดค้นไทย ที่ช่วยลดต้นทุน เพิ่มมูลค่าและประสิทธิภาพในการผลิตให้กับเกษตรกร รวมถึงยังช่วยรักษามรดกด้านวัฒนธรรมของไทยไว้อีกด้วย.

นาตยา คชินทร

nattayap.k@gmail.com

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 19 มีนาคม 2558