Page 1 of 1

เตือนอ่านเอกสารให้รอบคอบก่อนให้ข้อมูลส่วนตัว

Posted: 20 Mar 2015, 09:16
by brid.ladawan
เตือนอ่านเอกสารให้รอบคอบก่อนให้ข้อมูลส่วนตัว

เตือนอ่านเอกสารให้รอบคอบก่อนให้ข้อมูลส่วนตัว เพราะอาจเสียความเป็นส่วนตัวและเสี่ยงต่ออาชญากรรมทางไซเบอร์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่งานเสวนาเพื่อนำเสนอหลักการและแนวคิด พร้อมสะท้อนความสำคัญในฐานะนักวิชาการและพลเมือง ในประเด็นเสวนา “ความยินยอมกับสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล - ยอมให้เก็บ ยอมให้ใช้ ยอมอย่างไรให้เป็นธรรม ไม่จำยอม” จัดโดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงไอซีที โดย ICT Law Center โดย รศ.คณาธิป ทองรวีวงศ์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น ได้ให้คำแนะนำไว้เกี่ยวกับการให้ข้อมูลส่วนตัวว่าต้องอ่านข้อมูลหรือเอกสารต่างๆให้รอบคอบก่อน

รศ. คณาธิป กล่าวว่า คงมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ใส่ใจกับเรื่องความเป็นส่วนตัว ไม่มีใครตั้งใจอ่านข้อตกลงยาว ๆ ก่อนเริ่มใช้บริการ เมื่อเราต้องการใช้บริการ ต้องการส่วนลดในการซื้อสินค้า ต้องการสิทธิพิเศษ ก็มักจะให้ความยินยอมไปโดยลืมระวังข้อมูลส่วนตัวที่กำลังกรอก รวมถึงไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากำลังทำการยินยอมตกลงตามสัญญาที่แม้ว่าคุณจะอ่านไม่จบก็ตาม ดังนั้น ควรส่งเสริมให้ทุกคนตระหนักรู้ถึงความเป็นส่วนตัว หรือ ภัยคุกคามทางไซเบอร์ก่อน ว่าถ้าคุณสูญเสียความเป็นส่วนตัว สูญเสียข้อมูลส่วนบุคคลไปจะเกิดผลเสียอย่างไร ซึ่งเสี่ยงต่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ในอนาคตแน่นอน สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องเริ่มปลูกฝังให้ทุกคนรอบคอบในการกรอกข้อมูลหรือการทำการตกลงยินยอมใด ๆ

ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยจะต้องมีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเช่นเดียวกับสหภาพยุโรปและอีกหลากหลายประเทศ เพราะแนวโน้มการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยที่บางครั้งประชาชนทั่วไปอาจไม่รู้ตัว ซึ่งหัวใจหลัก ๆ ของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ประชาชนทั่วไปควรรู้ คือ การเก็บข้อมูลใด ๆ ต้องขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลทุกขั้นตอน ตั้งแต่ 1) ขั้นตอนการเก็บข้อมูล 2) ขั้นตอนการนำข้อมูลไปใช้ประมวลผล และ 3) ขั้นตอนการเผยแพร่ข้อมูล ดังนั้นในฐานะที่ผู้บริโภคซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งความยินยอมในขั้นตอนการเก็บข้อมูล นับเป็นปราการด่านแรกและด่านสำคัญที่สุดที่จะสามารถควบคุมการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนได้ หรือพูดอย่างเข้าใจง่ายๆ ว่าข้อมูลเพียงเล็กน้อยที่ได้รับการเก็บไปจะนำไปสู่ข้อมูลอื่น ๆ ที่จะบอกเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเรา แม้ว่าแท้จริงแล้วเราอาจจะไม่ได้ต้องการเปิดเผยมันเลยเสียด้วยซ้ำ

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 18 มีนาคม 2558