Page 1 of 1

"ทีดีอาร์ไอ"สำรวจปราบโกง รบ.หืดขึ้นคอ แต้มเฉลี่ยได้ไม่ถึง40%

Posted: 20 Mar 2015, 16:42
by brid.ladawan
"ทีดีอาร์ไอ"สำรวจปราบโกง รบ.หืดขึ้นคอ แต้มเฉลี่ยได้ไม่ถึง40% แก้ระบบผูกขาดเหลว

วันที่ 18 มีนาคม ที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดเสวนา "เกาะติดมาตรการต่อต้านคอร์รัปชั่นของรัฐบาลประยุทธ์" โดยนายบรรยง พงษ์พานิชย์ กรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ กล่าวว่า ปัญหาคอร์รัปชั่นที่ผ่านมาเกิดขึ้นเพราะรัฐมีอำนาจผูกขาด และให้อำนาจรัฐในการใข้ดุลพินิจมากเกินไป ซึ่งไม่มีกรอบ วัตถุประสงค์ และการควบคุมที่ชัดเจน ส่งผลให้คอร์รัปชั่นกลายเป็นปัญหาหยั่งรากลึกจนฉุดภาวะเศรษฐกิจและสังคม แม้รัฐบาลแต่ละสมัยประกาศต่อต้านการคอร์รัปชั่น ก็เป็นแค่แนวทางที่เป็นนามธรรม

http://www.matichon.co.th/online/2015/0 ... 36327l.jpg

"ประเทศไทยสวนทางกระแสของโลกที่พยายามลดทอนอำนาจของรัฐ แต่ไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กลับพบว่ามีการใช้จ่ายงบประมาณ ทั้งงบประจำ งบลงทุน และงบรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังมีการใช้เงินนอกงบประมาณในการค้ำประกันราคาสินค้าเกษตร ทำให้เกิดคอร์รัปชั่น รวมทั้งยังขยายบทบาทและเพิ่มอำนาจให้กับรัฐด้วยออกกฎหมายต่างๆ ที่ทำให้รัฐกลับมีอำนาจมากขึ้น ดังนั้น หากจะลดปัญหาคอร์รัปชั่นก็ต้องลดอำนาจและบทบาทของรัฐ พร้อมทั้งจัดระเบียบรัฐให้อยู่ในกรอบ รวมทั้งการดำเนินการต่างๆ ทุกขั้นตอนของรัฐ ต้องเน้นเรื่องความโปร่งใส คือกระบวนการทุกอย่างของรัฐต้องถูกเปิดเผยข้อมูลให้ภาคประชาสังคมรับรู้ สามารถตรวจสอบได้" นายบรรยงกล่าว

นายมานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า สถานการณ์คอร์รัปชั่นใน 10 ปีที่ผ่านมากับ 6 รัฐบาล จากผลสำรวจขององค์กรต่างชาติ พบว่าการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นในประเทศไทยยังคงเป็นนามธรรมยากต่อการนำไปปฏิบัติ สิ่งที่รัฐบาลทำออกมาคือ เป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่นเดียวกับงานวิจัยของรัฐสภาที่ระบุว่ามาตรการต่างๆ ในการป้องกันคอร์รัปชั่นของภาครัฐนั้นยังเป็นนามธรรมเช่นกัน โดยสาเหตุที่เกิดขึ้นเพราะรัฐสามารถใช้อำนาจผ่านดุลพินิจ ขยายบทบาทของตนเอง รวมถึงการใช้อำนาจดุลพินิจของรัฐเปลี่ยนวิธีในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐมาเป็นใช้วิธีพิเศษจึงทำให้การตรวจสอบเป็นไปได้ยากขึ้นเกิดการคอร์รัปชั่นตั้งแต่ส่วนกลางไปจนถึงท้องถิ่น

"ภาพรวมของประเทศในปัจจุบันน่าพอใจเพราะรัฐบาลแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่นเป็นรูปธรรมมากขึ้น อย่างเรื่องการออก พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น ข้าราชการ นักการเมืองไม่สามารถรีดไถได้เหมือนที่ผ่านมา" นายมานะกล่าว

นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ นักวิชาการประจำทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ทีดีอาร์ไอได้เก็บข้อมูลการทำงานของรัฐบาลปัจจุบัน ตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2557-17 มีนาคม 2558 ใน 4 ด้านหลัก ประกอบด้วย 1.มาตรการควบคุมอำนาจการใช้ดุลพินิจของรัฐ 2.มาตรการควบคุมการใช้เงินแผ่นดิน 3.มาตรการการใช้อำนาจผูกขาด และ 4.มาตรการเพิ่มต้นทุนและความเสี่ยงให้กับพฤติกรรมคอร์รัปชั่น พบว่ายังเดินหน้าไปไม่ถึง 50% โดยเฉพาะมาตรการควบคุมอำนาจผูกขาดมีความคืบหน้าน้อยที่สุด โดยกฎหมายที่เกี่ยวข้องมีเพียงการผลักดัน แต่ยังไม่เป็นรูปธรรม

"สิ่งสำคัญอีกเรื่องสำหรับแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นเห็นว่าการร่างกฎหมายต่างๆ ที่ดีต้องทำให้เป็นสากล ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนร่างกฎหมายใดกฎหมายหนึ่ง และกฎหมายฉบับนั้นต้องมาจากความคิดเห็นหลายภาคส่วน ไม่ใช่รัฐเป็นผู้ร่างอย่างเดียว พอร่างเเล้วเสร็จก็เพียงขอความคิดเห็นจากภาคประชาชน โดยที่ไม่ถามความคิดเห็นจากประชาชนตั้งแต่ช่วงเริ่มดำเนินการร่าง ซึ่งเห็นว่ากระบวนการแบบนี้ไม่เป็นสากล อาจร่างเพื่อให้เกิดประโยชน์กับคนเฉพาะกลุ่มก็เป็นได้" นางเดือนเด่นกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทีดีอาร์ไอได้เผยแพร่เอกสารการเก็บข้อมูลดังกล่าว โดยมาตรการควบคุมอำนาจการผูกขาดมีความก้าวหน้าน้อยที่สุด เพียง 25% ตามด้วยมาตรการควบคุมอำนาจการใช้ดุลพินิจของรัฐ อยู่ที่ 33% มาตรการเพิ่มต้นทุนและความเสี่ยงให้กับพฤติกรรมคอร์รัปชั่น ทำได้ 35% และมาตรการควบคุมการใช้เงินแผ่นดิน ทำได้ดีที่สุดที่ 38%


ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 19 มีนาคม 2558