Page 1 of 1

20 มีนาคม วันความสุขที่ยั่งยืนกับการพัฒนาที่ยั่งยืน

Posted: 20 Mar 2015, 16:54
by brid.ladawan
20 มีนาคม วันความสุขที่ยั่งยืนกับการพัฒนาที่ยั่งยืน


คนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่ทราบว่าวันที่ 20 มีนาคมของทุกๆปี เป็นวันความสุขสากลของสหประชาชาติ ที่ได้มีการประกาศมาตั้งแต่การประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในปี 2555 และเพื่อเป็นการฉลองวันความสุขสากลของปีนี้ ทางเครือข่ายงานวิจัยนานาชาติเพื่อสังคมอยู่เย็นเป็นสุข (ไอร่าห์) และศูนย์วิจัยเศรษฐกิจธุรกิจเพื่อการปฎิรูป คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้จัดงานประชุมนานาชาติเรื่อง ความสุขอย่างยั่งยืนกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในวันศุกร์ที่ 20 มีนาคม 2558 ที่มหาวิทยาลัยรังสิต โดยได้รับความร่วมมือจากองค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กร อาทิ สถานทูตภูฎานประจำประเทศไทย องค์กรสหประชาชาติเพื่อการพัฒนาภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค องค์กรอนามัยโลกประจำประเทศไทย เป็นต้น


การที่เลือกหัวข้อนี้สำหรับการประชุมครั้งนี้เพราะเพื่อต้องการเชื่อมโยงประเด็นในเรื่องของความสุขกับการพัฒนาที่ยั่งยืน เนื่องจากปีนี้เป็นปีที่องค์กรการพัฒนาทั่วโลกจะนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) มาใช้แทนเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ หรือ Millennium Development Goals (MDGs) ที่จะสิ้นสุดลงในปี 2558 นี้ ดังนั้นตั้งแต่ปีนี้ SDGs จะถูกใช้เป็นเป้าหมายหลักในการวัดความก้าวหน้าในการพัฒนาจนถึงปี 2573


นับเป็นเวลากว่าสี่ทศวรรษตั้งแต่การประชุมของสหประชาชาติด้านสิ่งแวดล้อมครั้งแรกที่กรุงสต้อกโฮม ประเทศสวีเดน เมื่อปี 2515 จนถึงการประชุม ที่เมืองริโอ เดจาเนโร ประเทศบราซิล ในปี 2535 และ 2555 ตามลำดับ ปํญหาด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืนก็ยังคงเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงและมีแนวโน้มที่จะเป็นปัญหามากขึ้นในอนาคต ดังนั้น อาจถึงเวลาแล้วที่ควรทบทวนกระบวนทัศน์ในการพัฒนา วิธีคิด และพิจารณาแนวคิดใหม่ เพราะกรอบการพัฒนาที่ยั่งยืนแบบกระแสหลักมักจะขึ้นอยู่กับสามมิติ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเท่านั้น


สิ่งที่ขาดหายไปจากกรอบแนวคิดนี้ก็คือด้านจิตใจมนุษย์ที่เป็นปัจจัยหลักในการที่จะอยู่อย่างประสานกลมกลืนกับธรรมชาติหรือทำลายธรรมชาติด้วยความเห็นแก่ตัว หรือยึดติดกับความสุขในระดับล่างที่ติดกับวัตถุและใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากมายมาตอบสนองความต้องการของตน ถ้าหากคนสามารถมีความสุขภายในมากขึ้นโดยพึ่งพิงปัจจัยภายนอกและวัตถุน้อยลง คนจะสามารถมีความสุขกับการใช้ชีวิตที่พอประมาณตามแนวทางเศรษฐกิจทางสายกลาง มีการบริโภคพอประมาณและใช้ทรัพยากรธรรมชาติน้อยลงได้


การพัฒนาคนให้มีความสุขภายในให้ขึ้นสู่ระดับจิตใจและปัญญาซึ่งอยู่เหนือวัตถุเป็นการพัฒนามนุษย์ให้มีคุณภาพสูงขึ้นไปด้วย ความสุขภายในนี้จะมีความยั่งยืนกว่าความสุขที่อิงกับวัตถุที่ไม่ยั่งยืน ยิ่งพัฒนาความสุขภายในให้มีระดับสูงขึ้นให้เกิดปัญญามากขึ้นก็จะเป็นความสุขที่ยั่งยืนมากขึ้น และพึ่งพิงความสุขทางวัตถุน้อย นำไปสู่การบริโภคที่น้อยลงและการใช้ทรัพยากรที่น้อยลง การเบียดเบียนมนุษย์ด้วยกันและธรรมชาติจะน้อยลงด้วย


ดังนั้นการพัฒนาความสุขของมนุษย์ให้ถึงระดับความสุขภายในจึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่จะทำให้การพัฒนาแบบยั่งยืนมีประสิทธิผลมากขึ้น เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ กำจัดความโลภและความต้องการที่ไม่สิ้นสุดในจิตใจมนุษย์ ดังนั้นกรอบความคิดในการพัฒนาที่ยั่งยืนควรจะเพิ่มมิติด้านการพัฒนามนุษย์ในด้านจิตวิญญานที่เน้นการพัฒนาความสุขภายในด้วย ซึ่งจะทำให้การพัฒนาแบบยั่งยืนเกิดประสิทธิผลได้มากกว่าที่เป็นอยู่


บทความ โดย ดร.เสาวลักษม์ กิตติประภัสร์
ผู้อำนวยการ เครือข่ายงานวิจัยนานาชาติเพื่อสังคมอยู่เย็นเป็นสุข (ไอร่าห์) และ
ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจธุรกิจเพื่อการปฎิรูป คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
Email: skittiprapas@gmail.com



ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 19 มีนาคม 2558