ศาลล้มละลาย ให้ฟื้นฟูสคจ.
ปธ.มั่นใจ-ทําสําเร็จเบื้องต้นเยียวยา10%ให้เจ้าหนี้ยื่นคําร้อง
ศาลล้มละลายกลางสั่งสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยให้คณะดำเนินการสหกรณ์ชุดปัจจุบัน เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูฯ ตามที่สหกรณ์ฯร้องขอ ประธานดำเนินงานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น มั่นใจจะสามารถฟื้นฟูได้สำเร็จ 3 หน่วยงานกระทรวงยุติธรรมร่วมแถลงผลคืบหน้าคดีสหกรณ์ฯ คลองจั่น เผยเจ้าหนี้ยื่นขอรับชำระหนี้ได้ถึง 7 พ.ค. ส่วนดีเอสไอยังรอฟันแพ่ง-อาญา “ธัมมชโย-ธรรมกาย” ปปง.ตามล่าที่ดินผืนงามหลายผืนที่อดีตประธานสหกรณ์ฯคลองจั่นยักเงินไปซื้อ ขณะที่พุทธะอิสระเชื่อเงินที่ “ศุภชัย” โอนให้ธัมมชโยและวัดพระธรรมกายสูงถึงหมื่นล้าน
ความคืบหน้าคดี “ธัมมชโย” ที่พัวพันการยักยอกทุจริตเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น (สคจ.) เป็นเงินกว่าพันล้านบาท และวัดพระธรรมกายยอมคืนเงินกว่า 600 ล้านมาก้อนแรกแล้วนั้น
ที่ศาลล้มละลายกลาง ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถนนแจ้งวัฒนะ เมื่อเช้าวันที่ 20 มี.ค. ศาลอ่านคำสั่งฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผน ตามที่บริษัทสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ผู้ร้อง ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด และตั้งผู้ทำแผน เมื่อวันที่ 26 ส.ค.57 เพื่อขอฟื้นฟูกิจการในหนี้สิน 21,934,374,657.39 บาท ศาลไต่สวนแล้วเห็นว่า สมควรให้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการและเห็นสมควรให้ตั้งสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูตามที่ร้องขอ
หลังมีคำสั่งศาล นายเผด็จ มุ่งธัญญา ประธานดำเนินงานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น กล่าวว่า ศาลให้คณะกรรมการสหกรณ์ชุดปัจจุบันเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูในกรอบระยะเวลา 3 เดือน แต่ขยายเวลาได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 1 เดือน และต้องฟื้นฟูกิจการของสหกรณ์ฯให้เสร็จตามกฎหมายภายในระยะเวลา 5 ปี แต่ขยายเวลาได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 1 ปี มั่นใจว่าจะสามารถฟื้นฟูกิจการได้สำเร็จ เนื่องจากมีหนังสือของ รมว.เกษตรและสหกรณ์ยืนยันสนับสนุนงบประมาณในวงเงิน 5,000 ล้านบาท มีภาครัฐและรัฐวิสาหกิจให้การสนับสนุน การฟ้องร้องคดีเรียกทรัพย์สินคืนจากวัดพระธรรมกายกว่า 100 ล้านบาท รวมทั้งติดตามทวงหนี้สินจากลูกหนี้เก่าของสหกรณ์กว่า 2,000 ล้านบาท ลูกหนี้เริ่มทยอยชำระหนี้คืนแล้วบางส่วน ขณะที่มาตรการเยียวยาสมาชิกจะเริ่มเปิดให้สมาชิกยื่นคำร้องได้ตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค. เบื้องต้นคณะกรรมการจะให้เงินเยียวยา 10% ของเงินที่มี หรือไม่เกิน 2 หมื่นบาทต่อเดือน เชื่อว่าจะเริ่มจ่ายเงินเยียวยาได้ในเดือน เม.ย. มั่นใจว่าสภาพคล่องที่มีปัจจุบันคือเงินบัญชี 250 ล้านบาท เงินคืนจากวัดพระธรรมกายเดือนละ 100 ล้านบาท จะเพียงพอต่อการเยียวยาสมาชิก ทั้งนี้ ในวันที่ 21 มี.ค. จะนัดประชุมคณะกรรมการเพื่อทำแผนการฟื้นฟู
ด้านนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมตรวจบัญชีสหกรณ์และกรมส่งเสริมสหกรณ์เข้าไปช่วยสนับสนุนในด้านข้อมูลเพื่อการจัดทำแผนฟื้นฟู หรือสิ่งที่คณะกรรมการ สคจ.ร้องขอและให้ช่วยเข้าไปไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างสมาชิกรายย่อย กับคณะกรรมการ เนื่องจากเป็นห่วงการบริหารจัดการลูกหนี้ที่เป็นผู้ฝากรายย่อย ขอให้เชื่อมั่นว่าระบบสหกรณ์ในภาพรวมยังมีความเข้มแข็ง เท่าที่ตรวจสอบสถานะการเงินและสภาพคล่องของทั้ง 76 สหกรณ์ที่เอาเงินไปฝากกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ก็ยังมีสภาพคล่องที่ดูแลสมาชิกได้ ส่วนที่มีข้อเสนอให้สหกรณ์ออมทรัพย์ไปอยู่ในการดูแลของกระทรวงการคลัง ต้องมาพิจารณากันให้รอบคอบว่าจะทำได้หรือไม่ ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯกำลังยกร่างแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 เพื่อคุมเข้มสหกรณ์ คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ภายใน 1 สัปดาห์
นายโอภาส กลั่นบุศย์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าหรือวันที่ 21 มี.ค.นี้ จะเชิญคณะกรรมการ สคจ.ชุดที่ 30 พร้อมด้วยกรมบังคับคดีมาหารือพร้อมกันถึงรายละเอียดการจัดทำแผนฟื้นฟู ส่วนกลุ่มสมาชิก สคจ.รายย่อยที่ต่อต้านกรรมการชุดปัจจุบัน กรมฯอาจจะประสานงานกันนอกรอบก่อนว่าจะให้มาหารือร่วมกัน เพื่อทำความเข้าใจและช่วยกันเดินหน้า สคจ. แต่ถ้าเชิญมาประชุมร่วมอาจจะเผชิญหน้าและกระทบกระทั่งกันอีกได้ ส่วนเรื่องวาระของคณะกรรมการ สคจ. ชุดปัจจุบันที่จะสิ้นสุดลงในเดือน พ.ค.นี้ กรมฯจะกลับไปหารือกับกรมบังคับคดีว่าสถานะของกรรมการ สคจ.ชุดนี้ มีสถานะมาจากการเลือกตั้งของสมาชิกตามปกติ หรือเป็นกรรมการชั่วคราวที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา หากมาจากการเลือกตั้งตามปกติ ก็จะต้องหมดวาระไปตามข้อบังคับของสหกรณ์ และให้สมาชิกสคจ.จัดการเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมาแทน
ส่วนการติดตามเงินที่ถูกยักยอกไปนั้น วันเดียวกันนี้ ที่กระทรวงยุติธรรม พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยธ. นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะโฆษกกระทรวงยุติธรรม นางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีดีเอสไอ พ.ต.ท.สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ ผบ.สำนักคดีอาญา 3 ดีเอสไอ พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลาขาธิการ ปปง. และ น.ส.รื่นฤดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี แถลงความคืบหน้าคดีดังกล่าว
พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า คดีที่เกิดขึ้นกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ถือเป็นกรณีศึกษาในเรื่องของการเกิดทุจริตขึ้นภายในองค์กร เมื่อวันที่ 19 มี.ค. ได้หารือร่วมกับ รมว.เกษตรและสหกรณ์ หาแนวทางการป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นในลักษณะเดียวกันนี้ เน้นย้ำมาตลอดว่า การวางมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตนั้นสำคัญกว่าการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ขณะนี้สหกรณ์ในประเทศ มีเงินหมุนเวียนประมาณ 2 ล้านล้านบาท จาก 7,700 สหกรณ์ทั่วประเทศ ซึ่งมีความเสียหายจากคดีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นเพียงร้อยละ 0.59 ถือว่าน้อยมากในระบบสหกรณ์ ขอให้มั่นใจว่า รัฐบาลยังดูแลเรื่องนี้
ขณะที่ น.ส.รื่นฤดีกล่าวว่า กรณีที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น พร้อมให้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เป็นผู้จัดทำแผนฟื้นฟูเอง ในส่วนของกรมบังคับคดีจะประสานไปสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จากนั้นจะประกาศคำสั่งศาลล้มละลายกลางลงในราชกิจจานุเบกษา ก่อนในวันที่ 7 เม.ย.นี้ พร้อมทั้งส่งเอกสารแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่สหกรณ์ฯ ทุกรายจำนวน 56,599 ราย โดยเจ้าหนี้เขียนคำร้องขอรับชำระหนี้ที่สำนักฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ และสำนักบังคับคดีทั่วประเทศได้ ถึงวันที่ 7 พ.ค. หากเลยกำหนดถือว่าหนี้นั้นจะไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย
ด้าน พ.ต.อ.สีหนาทกล่าวว่า ในส่วนการติดตามทรัพย์ ขณะนี้มีความคืบหน้าไปมาก มีการอายัดทรัพย์สินเพิ่ม สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ได้ร้องต่อศาลเพื่อขออายัดทรัพย์สินนั้นต่อไปแล้ว 3,811 ล้านบาท แต่ยังมีทรัพย์สินจำนวนมากที่ยังอยู่ในการอายัดของ ปปง. สัปดาห์หน้าจะเรียกผู้บริหารสหกรณ์ฯมาร่วมหารือ ประเมินมูลค่าทรัพย์สิน โดย เฉพาะที่ดิน ที่ ปปง.สืบทราบว่า นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ยักยอกเงินไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ประเภทที่ดินทำเลดี แถบจังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี และนครราชสีมา ปัจจุบันมีราคาสูงมาก ส่วนของภาครัฐจะมีการพิจารณาแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.ฟอกเงิน ในส่วนของการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย โดยเฉพาะการนำทรัพย์สินที่อายัดได้ไปขายทอดตลาดทันที โดยไม่ต้องรอคำชี้แจงจากเจ้าของทรัพย์ หรือรอคำสั่งศาล ส่วนนี้ก็คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงเวลาเดียวกันกับการทำแผนฟื้นฟูสหกรณ์
จากนั้น น.ส.สุวณากล่าวว่า ดีเอสไอมีความคืบหน้าของการติดตามดำเนินคดีกับนายศุภชัย และพวก ขณะนี้ได้รับรายงานว่า ในส่วนของชุดติดตามร่องรอยทางการเงินจากเช็ค 878 ฉบับ ได้ติดตามไปลึกถึงระดับที่ 2 ของการจ่ายเช็คแล้ว ขณะที่ชุดตรวจสอบเกี่ยวกับกฎหมายพบว่า มีการปล่อยกู้ให้กับสมาชิกสมทบที่เป็นนิติบุคคลอีก 28 แห่ง เป็นการปล่อยกู้ที่ผิดคุณสมบัติและวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ โดยมอบหมายให้ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ ผู้เชี่ยวชาญคดีพิเศษดีเอสไอ เป็นผู้รับผิดชอบในการขยายผลเรื่องดังกล่าวแล้ว ส่วนกรณีวัดพระธรรมกายคืนเงิน 684 ล้านบาทให้กับสหกรณ์ฯคลองจั่น มีการยื่นหนังสือแจ้งความประสงค์ ที่จะไม่ดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญากับธัมมชโยและวัดพระธรรมกาย ดีเอสไอต้องรอให้พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานให้แล้วเสร็จ จึงจะมีความเห็น
อีกด้าน เวลา 12.45 น.ที่ดีเอสไอ พระครูปลัดวิจารย์ อดีตเลขาฯ เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และพระมนตรี สุตาภาโส เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไปฝ่ายอบรมต่างประเทศ วัดพระธรรมกาย พร้อมทนายนายศิระพรชัย เดชสุนทรวัฒน์ เข้าพบพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ชี้แจงกรณีที่นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ผู้ต้องหาคดียักยอกเงินสหกรณ์ยูเนี่ยนคลองจั่นเกือบ 13,000 ล้านบาท สั่งจ่ายเช็คจำนวน 878 ฉบับ โดยในจำนวนนี้ได้สั่งจ่ายเช็คให้กับพระครูปลัดวิจารย์ 109 ล้านบาท ส่วนพระมนตรีจำนวน 100 ล้านบาท
พระมนตรีเผยว่า มาชี้แจงต่อพนักงานสอบสวนดีเอสไอในฐานะพยาน พร้อมนำเอกสารหลักฐานการเงินมาประกอบคำชี้แจง ยืนยันว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการรับเช็คหรือรับเงินจำนวน 100 ล้านบาท ยอมรับว่ารู้จักนายศุภชัยจริง แต่ในฐานะคนทำบุญทั่วไป โดยรู้จักกันเมื่อปี 2552 นายศุภชัยเคยร่วมทำบุญในโครงการผลิตสื่ออบรมสามเณร ซึ่งได้โอนเงินเข้าบัญชีเพื่อร่วมบุญช่วงปี 52-53 จำนวนไม่เกิน 5 ล้านบาทและเงินจำนวนนี้ ถูกโอนเข้าบัญชีบางส่วนเท่านั้น
ต่อมาเวลา 14.00 น. ที่ดีเอสไอ พุทธะอิสระมาสอบถามความคืบหน้า หลังจากเคยมายื่นหนังสือให้ดีเอสไอตรวจสอบ 3 เรื่อง พร้อมทั้งยื่นหนังสือใหม่ ให้ดีเอสไอตรวจสอบเพิ่มเติมอีก 1 ข้อเรียกร้อง โดยให้ตรวจสอบความเชื่อมโยงระหว่างนายศุภชัย ศรีศุภอักษร กับธัมมชโยและวัดพระธรรมกายว่าได้ร่วมกันฉ้อโกงเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนหรือไม่ แม้ว่าวัดจะยอมคืนเงินให้สหกรณ์ฯกว่า 600 ล้านบาทแล้วก็ตาม โดยคาดว่าเงินที่นายศุภชัยโอนให้วัดพระธรรมกายกับธัมมชโยน่าจะสูงถึงหลักหมื่นล้านบาท ไม่น่าแค่ใช่ 600 ล้าน จึงอยากให้ตรวจสอบเส้นทางการเงินเพิ่มเติมอีก มี พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.ศูนย์บริหารคดีพิเศษ รับหนังสือพร้อมแจ้งความคืบหน้า อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้พุทธะอิสระไปที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เข้ายื่นหนังสือติดตามความคืบหน้าเรื่องที่ร้องเรียนให้มีการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอัยการเกี่ยวกับธัมมชโย โดยมีนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นผู้รับเรื่อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ คณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการ พระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธาน ได้สรุปผลการพิจารณาศึกษาการปฏิรูปแนวทางฯ เสนอต่อนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ แล้ว โดยมีสาระสำคัญคือ ให้มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินของวัดและพระภิกษุ โดยอย่างน้อยต้องกำหนดให้มีการจัดทำงบบัญชีทรัพย์สินของวัด ประกอบด้วย ทรัพย์สิน เงินทอง รายได้ รวมถึงผลประโยชน์อื่นใดที่ได้มาจากการดำเนินการภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ ย่อมตกเป็นของพระพุทธศาสนา หาใช่ทรัพย์สินส่วนบุคคลของผู้ใด ไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์รูปไหนหรือวัดใดก็ตาม ด้วยการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม.1623 จากเดิมที่บัญญัติว่า “ทรัพย์สินพระภิกษุที่ได้มาระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศนั้น เมื่อพระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพให้ตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น เว้นไว้แต่พระภิกษุนั้นจะได้จัดจำหน่ายไปในระหว่างมีชีวิตหรือโดยพินัยกรรม” แก้เป็น “ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างเป็นพระภิกษุให้ตกเป็นของวัดตั้งแต่วันที่ได้มา แต่ให้พระภิกษุสามารถใช้ได้โดยผ่านไวยาวัจกรไม่สามารถจำหน่ายจ่ายโอนหรือพินัยกรรมยกให้บุคคลอื่นได้” เพื่อให้เกิดความโปร่งใสสูงสุดต่อพุทธศาสนา
ที่มา ไทยรัฐออนไลน์
วันที่ 21 มี.ค. 2558
- Board index การใช้งานบอร์ด และข่าวสาร ERP ไทย / PlanetOne ERP / งานบัญชี / Linux แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ
ศาลล้มละลาย ให้ฟื้นฟูสคจ.
-
- Posts: 7045
- Joined: 29 Mar 2013, 13:36
Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”
Jump to
- การใช้งานบอร์ด และข่าวสาร ERP ไทย / PlanetOne ERP / งานบัญชี / Linux
- ↳ กฏการใช้บอร์ด
- ↳ แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ
- คำถาม คำตอบเกี่ยวกับระบบ ไทย ERP: AdvanceBusinessSystem - PlanetOne และ ERP ระบบบัญชี
- ↳ ข้อมูลหลัก (Master Data)
- ↳ ระบบสินค้าคงคลัง (Inventory)
- ↳ ระบบบัญชีเจ้าหนี้ (Account Payable)
- ↳ ระบบบัญชีลูกหนี้ (Account Receivable)
- ↳ ระบบขาย (Sales System)
- ↳ ระบบจัดซื้อ (Purchasing System)
- ↳ ระบบบัญชีทั่วไป (General Ledger and Financial Statement)
- ↳ ระบบผลิตและวางแผนการผลิต (Manufacturing / Shop Floor Control / Production Planning)
- ↳ ระบบบริหารงานบุคคล (Human Resource Management / HRM)
- ↳ ระบบบริหารสินทรัพย์ (Assets Management)
- ↳ ระบบลูกค้าสัมพันธ์ และบริการ (CRM / Service Center / Call Center)
- ↳ ระบบต้นทุนสินค้า (Product / Job Costing)
- ↳ หัวข้อทั่วไป
- การติดตั้ง ใช้งาน Linux, OSX และ OpenSource Softwares
- ↳ การใช้งาน PostgreSQL
- ↳ การใช้งาน Java และ JVM
- ↳ การใช้งาน Dart
- ↳ การใช้งาน Linux
- ↳ การใช้งาน Mac และ OSX
- AdvanceBusinessSystem Developer Forum
- ↳ Java Programming Techinics
- ↳ ABS Developer Exchange
- ↳ การ admin ระบบ