Page 1 of 1

"เครื่องดื่ม" รับมือภาษี ต้นทุนพุ่ง...ตลาดสะเทือน !

Posted: 21 Mar 2015, 16:05
by brid.ladawan
"เครื่องดื่ม" รับมือภาษี ต้นทุนพุ่ง...ตลาดสะเทือน !

สร้างความตื่นตัวให้กับบรรดาผู้ประกอบการเครื่องดื่มมากเลยทีเดียว สำหรับความเคลื่อนไหวของกระทรวงการคลังที่เตรียมจะเสนอร่างแก้ไขกฎหมายสรรพสามิตให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาภายใน1-2 สัปดาห์นี้

นั่นเพราะว่ากันว่า หากมติคณะรัฐมนตรีมีผลบังคับใช้ จะทำให้ "เครื่องดื่ม" ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นประมาณ 30-40% จากที่เคยเสียอยู่ในปัจจุบัน

กระแสดังกล่าวสร้างแรงกระเพื่อมในธุรกิจไม่น้อย "ประชาชาติธุรกิจ" ได้รวบรวมมุมมองและความเห็นของค่ายเครื่องดื่มรายใหญ่ ที่สะท้อนมุมมองรวมถึงแผนรับมือเมื่อต้องเผชิญกับโจทย์ดังกล่าว

"มารุต บูรณะเศรษฐกุล" กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นถึงประเด็นดังกล่าวนี้ว่า ตามที่ภาครัฐจะนำกฎหมายภาษีชาเขียวมาใช้นั้น บริษัทพร้อมรับนโยบาย แต่อยากให้พิจารณาให้ดีว่านำมาใช้แล้วจะส่งผลเสียและผลดีอย่างไร ใครจะได้รับผลกระทบบ้าง และหากนำมาใช้จริงควรจะค่อยเป็นค่อยไป

สำหรับโออิชิเองได้เตรียม 3 มาตรการ เบื้องต้นต้องปรับลดต้นทุนการบริหารจัดการต่าง ๆ ให้ดีขึ้น เพื่อจะไม่ผลักภาระไปยังผู้บริโภค หรือให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

"ตอนนี้ยังบอกอะไรได้ไม่มาก แต่ในส่วนที่เป็นผู้ประกอบการต้องเตรียมแผนรองรับอยู่แล้ว เพราะการมีมาตรการใด ๆ ออกมาย่อมเอฟเฟ็กต์ต่อตลาด ขอความชัดเจนก่อนแล้วค่อยมาว่ากันอีกที"

ด้านของ "ตัน ภาสกรนที" กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าการเก็บภาษีตามโครงสร้างใหม่จะออกมาในรูปแบบใด แต่ภาคเอกชนรวมถึงบริษัทก็พร้อมให้ความร่วมมือ แต่ในฐานะนักธุรกิจอยากให้ทุกคนได้มีเวลาปรับตัว เพราะปัจจุบันที่กำลังจะเปิดเออีซีทำให้เราไม่เพียงแต่แข่งขันแค่ในประเทศเท่านั้น ยังรวมถึงบริษัทเครื่องดื่มข้ามชาติที่มีขนาดใหญ่ สามารถทำต้นทุนได้ดีกว่า

"เราจะขึ้นราคาหรือไม่นั้น อยู่ที่ว่าภาษีจะถูกปรับขึ้นเท่าไหร่ ต้องบอกว่าต้นทุนของทุกคนนั้นไม่เท่ากัน จึงอยากให้ทุกคนได้มีเวลาในการปรับตัวด้วย อย่างน้อย 6 เดือนถึง 1 ปี และทยอยขึ้นตามลำดับ"

ส่วนผลกระทบของตลาดชาเขียว หรือตลาดเครื่องดื่มโดยรวม หากผู้ประกอบการรายใดไม่สามารถปรับตัวได้ก็อาจจะอยู่ไม่ได้ เนื่องจากต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นจำนวนมาก

ไม่เพียงแต่ชาเขียวเท่านั้น แนวโน้มการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่ยังรวมไปถึง "น้ำผลไม้" ที่ปัจจุบันการจัดเก็บภาษีจะได้รับการยกเว้นหากมีสัดส่วนน้ำผลไม้มากกว่า 10% เป็น 30-50% ต่อเครื่องดื่ม 1 ขวด

"ทนุ เนาวรัตน์พงษ์" รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิ-เพรสซิเดนท์ (ประเทศไทย) จำกัด ชี้ว่า เกณฑ์การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตใหม่นั้น ยังไม่มีข้อสรุปอย่างชัดเจน ผู้เล่นในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม รวมถึงบริษัทมีการติดตามข่าวสารอยู่ตลอด และคาดการณ์กันว่าเกณฑ์การปรับขึ้นจะออกมารูปแบบใด

สำหรับบริษัท ได้คาดการณ์ภายใต้สมมุติฐานที่ว่า การปรับขึ้นราคาของกลุ่มเครื่องดื่มน้ำผัก น้ำผลไม้ จะหันมาใช้เกณฑ์ความเข้มข้นของเปอร์เซ็นต์น้ำผลไม้มากกว่า 50% ถ้าเข้มข้นมากกว่าอาจจะไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งวันนี้ยูนิฟมีผลกระทบอยู่กลุ่มหนึ่ง เป็นน้ำผักผลไม้ที่มีความเข้มข้นประมาณ 40%

การเตรียมตัวของบริษัทขณะนี้จึงอยู่ระหว่างการพัฒนาให้มีความเข้มข้นมากกว่า 50% เพื่อรับมือหรือแม้กระทั่งธุรกิจชา เดิมจัดเก็บภาษีความเข้มข้นของค่ากาเฟอีน แต่จากที่ได้รับรู้มาพบว่าเกณฑ์ใหม่อาจจะเปลี่ยนไปเก็บอีกแบบ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับค่ากาเฟอีนแล้ว ซึ่งส่งผลให้ผู้เล่นในอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบหมด โดยเฉพาะผู้เล่นรายใหญ่ ๆ

ขณะที่ "สมชาย พูลสวัสดิ์" อธิบดีกรมสรรพสามิต ระบุถึงการปรับโครงสร้างดังกล่าวว่า เพื่อปรับปรุงกระบวนการเก็บภาษีสรรพสามิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผ่านการรวมกฎหมายต่าง ๆ ของกรมสรรพสามิต 7 ฉบับ ให้เป็นฉบับเดียว และปรับเปลี่ยนการเก็บภาษีจากฐานราคาหน้าโรงงาน หรือราคาสำแดงนำเข้า (ซีไอเอฟ) มาเป็นราคาขายปลีก ซึ่งกระทรวงการคลังจะเสนอร่างแก้ไขกฎหมายสรรพสามิตให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาภายใน 1-2 สัปดาห์นี้

สำหรับสินค้าที่ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นได้แก่ บุหรี่ รองลงมาเป็นเครื่องดื่มต่าง ๆ ซึ่งสินค้าดังกล่าวต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นประมาณ 30-40%

"พรวุฒิ สารสิน" นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย มีความเห็นในกรณีนี้ว่า สมาคมเห็นด้วยกับกรณีดังกล่าว เพราะเชื่อว่าจะสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บตามราคาขายปลีก เป็นราคาที่รวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าขนส่งและค่าการตลาด ซึ่งอาจทำให้ผู้ประกอบการต้องกลับมาพิจารณาว่ายังสามารถตรึงราคาต่อไปได้หรือไม่

"หากจำเป็นต้องขึ้นราคาจะทำให้ภาระค่าครองชีพของผู้บริโภคสูงขึ้นในที่สุด"

การเขย่าโครงสร้างภาษีครั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนที่รับภาระไปเต็ม ๆ ก็คือ "ผู้บริโภค" นั่นเอง



ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
วันที่ 20 มี.ค. 2558