Page 1 of 1

ถุงมือแปลภาษา ช่วยคนหูหนวก-ตาบอด “Lorm Gloves”

Posted: 23 Mar 2015, 08:57
by brid.ladawan
ถุงมือแปลภาษา ช่วยคนหูหนวก-ตาบอด “Lorm Gloves”

ถุงมือแปลภาษา ช่วยคนหูหนวก-ตาบอด “Lorm Gloves”
ในขณะที่หลายๆ คนบนโลกนี้กำลังตื่นเต้นกับนาฬิกาอัจฉริยะ รถอัจฉริยะ และสารพัดสิ่งของอัจฉริยะที่บางครั้งสิ่งของเหล่านั้นก็ดึงเวลาของเราออกจากคนรอบข้าง คนอีกกลุ่มหนึ่งกลับต้องการแค่ตัวช่วยให้พวกเขาสามารถติดต่อสื่อสารกับคนอื่นได้ และเพื่อให้พวกเขามีเพื่อนมากขึ้น

แม้จะเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเหมือนๆ กัน แต่สิ่งที่ถุงมือแปลภาษา สำหรับคนพิการทั้งหูหนวกและตาบอดทำได้อาจแตกต่างจากสิ่งประดิษฐ์ล้ำยุคอื่นๆ เพราะมันได้ช่วยเปิดโลกให้คนพิการกลุ่มหนึ่งได้มีสังคมที่กว้างมากขึ้น เนื่องจากคนกลุ่มนี้ มองไม่เห็น และหูก็ไม่ได้ยิน ช่องทางการติดต่อสื่อสารของพวกเขาจึงมีไม่มากนัก หนึ่งในนั้นก็คือ การเขียนตัวอักษรลงบนฝ่ามือ อย่างไรก็ดี การจะให้คนที่ไม่รู้จักมักคุ้นเข้าถึงตัวจนมาเขียนลงบนฝ่ามือก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต้องอาศัยสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันในระดับหนึ่งทีเดียว สุดท้ายคนรอบตัวของผู้พิการหูหนวกตาบอดจึงไม่มีใครมากนัก นอกจากครอบครัว คุณหมอ หรือคุณครู

แต่สิ่งเหล่านั้นกำลังจะเปลี่ยนไป โดยถุงมือแปลภาษานี้เป็นผลงานของ Tom Bieling นักวิจัยแห่ง The Design Research Lab ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี พัฒนาถุงมือจากเส้นใย Gore-Tex ที่มีเซนเซอร์รับแรงกดติดตั้งไว้จำนวนมาก รวมถึงมอเตอร์ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนด้วย โดยมันจะแปลการสัมผัส และการเคลื่อนไหวของนิ้วมือของผู้สวมไปเป็นข้อความดิจิตอลเพื่อส่งออกไป และหากฝ่ายตรงข้ามมีการสื่อสารกลับมา มันจะแปลข้อความเหล่านั้นและส่งมายังมอเตอร์ตามจุดต่างๆ เพื่อสร้างเป็นข้อความส่งกลับไปให้คนพิการได้รับรู้ด้วย ซึ่งในการพัฒนาครั้งล่าสุด ผู้สวมถุงมือสามารถปรับระดับความสั่น และความเร็วของข้อความที่ไหลเข้ามาได้แล้ว

ไม่เพียงเท่านั้น หากผู้สวมขยับนิ้วผิด จนอาจกลายเป็นคำที่ผิดไปจากที่ตั้งใจ ถุงมือก็มีระบบแก้ไขคำผิดให้ โดยจะค้นหาคำที่ใกล้เคียงที่สุดมาแทน

สำหรับภาษาที่ผู้พิการใช้ เนื่องจากผู้วิจัยและพัฒนาอยู่ในประเทศเยอรมนี ซึ่งมีการใช้ภาษา Lorm กันมากในหมู่คนพิการหูหนวกตาบอด ถุงมือดังกล่าวจึงยึดภาษา Lorm เป็นหลักในการแปลข้อความเพื่อการติดต่อสื่อสาร และได้ทดลองให้ผู้พิการหูหนวกตาบอดได้ใช้ถุงมือภาษา Lorm ในการสื่อสารกับคนอื่นๆ ด้วย

ถุงมือแปลภาษา ช่วยคนหูหนวก-ตาบอด “Lorm Gloves”
ผู้ที่เข้าทดสอบรายหนึ่งคือ Edi Haug วัย 22 ปี เขาสูญเสียการได้ยิน และการมองเห็นตั้งแต่ 9 ขวบ คนรอบตัวเขามีเพียง 5 คน คือ แม่, เพื่อนในวัยเด็กชื่อ Laura Schwengber คุณครู และนักบำบัด เหตุที่เขาไม่มีสังคมมากนัก เนื่องจากมีน้อยคนที่จะเสียสละเวลามาเรียนรู้ภาษา Lorm เพื่อสื่อสารกับเขา แต่ด้วยถุงมือดังกล่าว ปัจจุบัน เขาสามารถเล่นทวิตเตอร์ได้แล้ว

โปรเจกต์ถุงมือแปลภาษาของ Bieling เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่ต้องการแสดงให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างการออกแบบและความสามารถอันไม่มีขีดจำกัดของมนุษย์ ซึ่ง Bieling ให้ความเห็นว่า ความรู้สึกพิการนั้นเกิดจากปัญหาด้านการออกแบบ ยกตัวอย่างเช่น ทุกคนสามารถเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ แม้กระทั่งคนพิการถ้าพวกเขานั่งอยู่ในวีลแชร์

สำหรับ Haug ตอนนี้เขาสนุกกับการเล่นทวิตเตอร์อย่างมาก โดย Haug อธิบายว่า มันเหมือนคุณอยู่ในงานคาร์นิวัล ที่ทุกคนใส่หน้ากากและสามารถพูดอะไรก็ได้ที่อยากจะพูด ซึ่งนั่นอาจเป็นสิ่งที่เขารอคอยตลอดมาก็เป็นได้

หมายเหตุ: ภาษา Lorm พัฒนาขึ้นในศตวรรษที่ 19 โดย Hieronymus Lorm ปัจจุบันยังคงใช้งานอยู่ในหมู่คนหูหนวกและตาบอดในประเทศที่พูดภาษาเยอรมันเป็นหลัก


ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 19 มีนาคม 2558