Page 1 of 1

หุ่นยนต์เต่าน้อยชายหาดจากดิสนีย์

Posted: 25 Mar 2015, 08:47
by brid.ladawan
หุ่นยนต์เต่าน้อยชายหาดจากดิสนีย์

Beach ก็คือชายหาด Bot ก็มาจากคำว่า Robot หรือก็คือหุ่นยนต์นี่แหละครับ เพราะฉะนั้นก็ความหมายตามชื่อเลยก็คือ หุ่นยนต์ชายหาด แต่ด้วยหุ่นยนต์ตัวนี้ออกแบบมาเป็นเต่าน้อยกระดองสีส้ม ๆ น่ารัก ๆ

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 เราเริ่มเห็นการใช้งานหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในงานวิจัยมากขึ้นเรื่อย ๆ หรือแม้แต่ในชีวิตประจำวันเราก็เริ่มเห็นการนำหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่มนุษย์มากขึ้นทีละนิดทีละน้อยนะครับ เพื่อไม่ให้คุณผู้อ่านประจำคอลัมน์วัน

พุธตกเทรนด์เทคโนโลยีหุ่นยนต์ วันนี้ผมจะชวนคุณผู้อ่านมารู้จักหุ่นยนต์อีกตัวหนึ่งที่ใช้ในการวาดลวดลายบนชายหาดที่สวิตเซอร์แลนด์ โดยหุ่นยนต์ตัวนี้ชื่อว่า BeachBotBeach ก็คือชายหาด Bot ก็มาจากคำว่า Robot หรือก็คือหุ่นยนต์นี่แหละครับ เพราะฉะนั้นก็ความหมายตามชื่อเลยก็คือ หุ่นยนต์ชายหาด แต่ด้วยหุ่นยนต์ตัวนี้ออกแบบมาเป็นเต่าน้อยกระดองสีส้ม ๆ น่ารัก ๆ ผมเลยขอเติมคำว่าเต่าน้อยลงไปด้วยละกันครับว่าเป็น “หุ่นยนต์เต่าน้อยชายหาด”

หุ่นยนต์เต่าน้อยชายหาด เป็นงานวิจัยที่ได้รับความร่วมมือจากสองที่หลัก ๆ ครับ ซึ่งก็คือจากศูนย์วิจัยของดิสนีย์แห่งซูริค (Disney Research Zurich) และสถาบันเทคโนโลยีสวิสซูริค (ETH Zurich) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชื่อดังทางเทคโนโลยีของสวิตเซอร์แลนด์ ที่ผลิตบุคลากรอย่าง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) ออกมาเมื่อศตวรรษที่แล้ว

ซึ่งทีมนักวิจัยจากทั้งสองที่ได้ร่วมกันพัฒนาหุ่นยนต์เต่าน้อยชายหาด ที่สามารถวิ่งวาดภาพบนพื้นทรายได้โดยใช้การระบุตำแหน่งตัวเองเทียบกับเสา 4 ต้นที่ปักไว้ที่มุมพื้นที่บนชายหาดทั้ง 4 มุม และเจ้าหุ่นยนต์เต่าน้อยนี้ก็จะเคลื่อนที่ด้วยล้อพร้อมทั้งใช้คราดที่ติดอยู่ที่ตัวหุ่นยนต์ ในการสร้างลวดลายบนพื้นทรายออกมาเป็นรูปต่าง ๆ โดยสามารถวาดภาพบนชายหาดได้มีขนาดใหญ่ถึง 10 x 10 เมตร เลยทีเดียวครับ

อ่านถึงตรงนี้คุณผู้อ่านอาจจะมีคำถามในใจว่าการพัฒนาหุ่นยนต์อย่างนี้ ก็ไม่น่าจะยากอะไรมากมายใช่ไหมครับ แต่ในมิติมุมมองทางด้านวิศวกรรม มีความยาก ความท้าทาย อยู่หลายจุดหลายประเด็นเลยทีเดียวครับ อย่างแรกเลยอยู่ที่การออกแบบกลไกวิศวกรรมที่สามารถสร้างลวดลายบนพื้นทรายให้ได้ตามที่เราต้องการ ตลอดทั้งการกำหนดความหนาความบางของลายเส้นที่หุ่นยนต์จะใช้คราดในการวาดได้ ซึ่งทีมนักวิจัยได้ใช้กลไกที่สามารถกดซี่คราดแต่ละซี่ให้ขึ้นลงได้อิสระแยกออกจากกัน ซึ่งก็สามารถให้ควบคุมความหนาความบางของลายเส้นที่วาดได้อย่างอิสระ ความยากอีกอย่างก็คือรูปแบบของล้อที่จะทำอย่างไรไม่ให้สร้างร่องรอยของล้อบนพื้นทราย ไม่เช่นนั้นร่องรอยของล้อก็จะทำให้ภาพลวดลายที่เราต้องการวาดเสียหาย ซึ่งเขาได้ใช้ล้อแบบสูบลมเพื่อให้หุ่นยนต์ทิ้งรอยไว้เฉพาะตรงรอยคราดที่เราอยากจะวาดรูปลวดลายเท่านั้น

ความยากในมิติสุดท้ายนี้เกี่ยวกับทางด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ครับ ซึ่งเกี่ยวโยงกับคอมพิวเตอร์วิทัศน์ (Computer Vision) อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ เราจะใช้วิธีอะไรในการแปลงภาพให้เป็นลายเส้นเพื่อควบคุมการเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์เต่าน้อยตัวนี้ให้ไปตามลายเส้นนั้น ๆ เพราะถ้าหุ่นยนต์ไม่สามารถเข้าใจลายเส้นนั้นก็จะไม่สามารถเดินไปตามจุดต่าง ๆ เพื่อวาดรูปบนชายหาดได้ ซึ่งในปัจจุบันหุ่นยนต์เต่าน้อยชายหาดตัวนี้ ก็ยังต้องให้คนช่วยในการแปลงไฟล์ภาพอยู่ครับ ซึ่งในอนาคตทางทีมวิจัยกำลังพัฒนาให้หุ่นสามารถเห็นภาพแล้วสามารถวิเคราะห์เส้นทางในการวิ่งที่สามารถสร้างลวดลายภาพได้ด้วยตนเองอย่างอัตโนมัติและทันที

เห็นไหมครับว่าศิลปะใหม่ ๆ หุ่นยนต์ใหม่ ๆ นวัตกรรมใหม่ ๆ ไม่จำเป็นต้องแยกระหว่างศิลปศาสตร์กับวิทยาศาสตร์ออกจากกันอีกต่อไป ผมเชื่อว่านี่ล่ะครับคือความมหัศจรรย์ของโลกศตวรรษที่ 21 ของพวกเรา ที่เราสามารถนำศาสตร์ความรู้แต่ละอย่างมาบูรณาการกันภายในสาขา (Intradisciplinary) บูรณาการกันในลักษณะพหุวิทยาการ (Multidisciplinary) และบูรณาการกันในรูปแบบสหวิทยาการ (Interdisciplinary) ที่สามารถสรรค์สร้างนวัตกรรมสุดยอด ๆ ออกมาหล่อเลี้ยงขับเคลื่อนโลกสมัยใหม่ของพวกเราให้หมุนไปอย่างสร้างสรรค์ อย่างพลวัต และอย่างไม่มีที่สิ้นสุดภายใต้จินตนาการของมนุษย์.

ผศ.ดร.ชุติสันต์ เกิดวิบูลย์เวช

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

chutisant.ker@nida.ac.th

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 25 มีนาคม 2558