Page 1 of 1

UIH เสริมเขี้ยวรุก AEC

Posted: 27 Mar 2015, 12:34
by brid.ladawan
UIH เสริมเขี้ยวรุก AEC

UIH เสริมเขี้ยวรุก AEC
พันเอกเรืองทรัพย์ โฆวินทะ กรรมการผู้จัดการ (ซ้าย) และสันติ เมธาวิกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส (ขวา) บริษัท ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด หรือ UIH
UIH หวังการได้มาตรฐานโลก MEF CE 2.0 รายแรกในไทย ช่วยเพิ่มโอกาสขยายฐานลูกค้าเข้าสู่ AEC หลังก่อนหน้านี้ วางเป้าขยายฐานลูกค้าใน 4 กลยุทธ์หลัก มั่นใจแม้สภาพเศรษฐกิจยังซบเซา แต่ยังมีโอกาสเติบโตตามตลาดราว 10%

พ.อ.เรืองทรัพย์ โฆวินทะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด หรือ UIH กล่าวว่า ปัจจุบันแม้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะนิ่ง แต่ต้องดูอุตสาหกรรมต่างๆ ที่อาจจะเกิดผลกระทบเพราะเศรษฐกิจค่อนข้างซบเซา จากที่วางแผนไว้ว่าจะลงทุนเพิ่ม ก็เห็นแววว่าจะลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ลง ทำให้การเติบโตของบริษัทจะใกล้เคียงกับตลาด

“ปีที่ผ่านมารายได้ของ UIH อยู่ที่ราว 3,500 ล้านบาท ขณะที่ในปีนี้ตั้งเป้าเติบโตตามตลาดที่ราว 10% โดยเป็นรายได้จากภาคเอกชนราว 75% อีก 25% เป็นรายได้จากธุรกิจภาครัฐ และคาดว่าฝั่งของเอกชนจะเติบโตมากกว่า เพราะภาครัฐส่วนใหญ่บริการเหล่านี้จะผูกขาดโดยรัฐวิสหกิจอยู่แล้ว”

โดยตอนนี้ UIH ถือว่าเป็นผู้นำในกลุ่มผู้ให้บริการบรอดแบนด์ในกลุ่มลูกค้าเอกชน ที่ไม่รวมคอนซูเมอร์ โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ที่มีสาขาอย่างธนาคาร ไฟแนนซ์ อุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ เกือบ 3,000 บริษัท

ล่าสุด ทาง UIH ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานจาก MEF ที่ถือเป็นองค์กรที่กำหนดมาตรฐานของผู้ให้บริการ Carrier Ethernet ในระดับสากล เพื่อให้สามารถใช้งานระบบเครือข่ายร่วมกับผู้ให้บริการจากทั่วโลกกว่า 220 ราย ในมาตรฐาน CE 2.0 จากเดิมที่เคยได้มาตรฐาน CE 1.0 ในปี 2011 ที่ผ่านมา

สันติ เมธาวิกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส UIH อธิบายความแตกต่างของมาตรฐาน MEF CE ว่าใน CE 1.0 จะเน้นไปที่การสร้างมาตรฐานให้แก่โอเปอเรเตอร์ ว่ามีบริการแบบมาตรฐาน แต่พอเป็น MEF CE 2.0 ต้องเน้นไปที่ความสามารถในการบริหารจัดการข้อมูลแต่ละประเภทให้ได้ตามมาตรฐานเป็นเครือข่ายที่สามารถควบคุมจัดการได้ตลอดเวลา และมีความพร้อมในการเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการรายอื่น

“ปัจจุบันมีผู้ที่ผ่านมาตรฐาน MEF CE 2.0ทั้งหมด 11 รายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก UIH เป็นรายแรกในประเทศไทย ขณะที่ผู้ให้บริการรายอื่นอย่าง กสท โทรคมนาคม ซิมโฟนี และทรู ยังอยู่ในมาตรฐาน CE 1.0 แต่เชื่อว่าผู้ให้บริการเหล่านี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณามาตรฐานดังกล่าว”

โดยทั้ง 11 รายจะมาจากประเทศจีน ฮ่องกง ไทย และเวียดนาม ประเทศละ 1 บริษัท ส่วนอินโดนีเชีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ จะมีบริษัทที่ผ่านการรับรอง 2 บริษัท ที่สำคัญมาตรฐานนี้ถือว่าเป็นการทำให้ UIH อยู่ในกลุ่มนำร่องในการให้บริการ เพราะต่อไปเมื่อมีการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เครือข่ายที่มีมาตรฐานก็สามารถทำการเชื่อมต่อไปยังต่างประเทศได้ทันที

ทั้งนี้ คุณสมบัติหลักขององค์กรที่จะผ่านมาตรฐาน MEF CE 2.0 ต้องมี Multiple-Classes of Service (Multi-COS) เพื่อช่วยให้การให้บริการสามารถรองรับแอปพลิเคชันได้หลากหลาย โดยที่ข้อมูลไม่สูญหาย หรือล่าช้า รวมทั้งมีคุณสมบัติในการจัดการระบบเครือข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง และรองรับการเชื่อมต่อระหว่างผู้ให้บริการเครือข่ายระหว่างประเทศ

ผลของการได้ใบรับรอง MEF CE 2.0 จะทำให้ลูกค้าองค์กรทั้งภาครัฐ และเอกชน ในทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะลูกค้าองค์กรที่มีสาขาทั้งใน และต่างประเทศ ที่เลือกใช้บริการจาก UIH จะสามารถพัฒนา หรือออกแบบเครือข่ายให้รองรับการใช้งานทั้งดาต้า คอมมูนิเคชัน และแอปพลิเคชัน ได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น

“เนื่องจากทาง UIH ไม่ได้เน้นการแข่งขันด้านราคา เพราะมองว่าการให้บริการราคาถูก แต่ไม่มีประสิทธิภาพลูกค้าก็จะเสียหาย ดังนั้น จึงเชื่อว่าการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้ลูกค้ามีความเชื่อมั่นมากขึ้น และยอมที่จะเสียค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นเพื่อแลกกับคุณภาพจากบริการที่ได้รับ”

ปัจจุบัน UIH อยู่ในจุดที่ให้บริการลูกค้าองค์กรที่มีขนาดใหญ่ มีความสำคัญต่อธุรกิจของประเทศ เช่น ธุรกิจธนาคาร ธุรกิจประกัน ธุรกิจค้าปลีก ดังนั้น จึงมองว่าคุณภาพของบริการเป็นสิ่งสำคัญ โดยที่จะทำให้ลูกค้าไม่ติดขัดในการใช้บริการ สามารถส่งต่อข้อมูลได้อย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือมีมาตรฐานระดับโลกมารองรับ

ขณะเดียวกัน บุคลากรของ UIH ยังมีผู้ที่ได้รับการประกาศนียบัตรผู้เชี่ยวชาญทางด้าน Carrier Ethernet Certified Professionals (CECP) ที่มีความรู้ทั้งด้านทฤษฎี ด้านการอินทริเกดระบบเครือข่ายคนเดียวในประเทศไทยอีกด้วย

ที่ผ่านมา UIH จะให้ความสำคัญต่อบุคลากรเป็นหลัก โดยปัจจุบันในกลุ่ม UIH ที่ให้บริการทางด้านบรอดแบนด์จะมีพนักงานราว 600 คน เป็นวิศวกร และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางราว 350 คน ที่เหลือเป็นฝ่ายการเงิน ฝ่ายขาย และไอทีบางส่วน

“ในมุมของผู้ให้บริการ คือ ถ้าให้บริการดีคนไม่ชม แต่ถ้าห่วยก็จะโดนด่า ทำให้ต้องมีความอดทนในการรองรับแรงกระแทกแรงๆ ได้ จึงต้องมีการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง เพราะในการให้บริการที่ดีบุคลากรต้องมีเซอร์วิสมายด์ และความรู้คู่กันไป”

***พร้อมเป็นพันธมิตรเมื่อเปิด 4G

พ.อ.เรืองทรัพย์ ให้ข้อมูลต่อว่า UIH ไม่มีความสนใจที่จะเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 4G แต่ก็พร้อมเข้าร่วมให้บริการ เนื่องจาก UIH มีคอร์เน็ตเวิร์กที่เชื่อมโยงทั่วประเทศกว่า 6 หมื่นกิโลเมตร ครอบคลุม 90% ของประเทศไทย มากกว่า 900 อำเภอ ใน 77 จังหวัด ในปี 2558 ทำให้มีโอกาสที่ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือจะเข้ามาใช้งาน

“การที่ UIH เป็นผู้ให้บริการโครงข่ายอินเทอร์เน็ต จึงมีโอเปอเรเตอร์บางรายเข้ามาใช้งานเพื่อให้สามารถเชื่อมต่อไปยังต่างจังหวัดได้ ดังนั้น เมื่อมีการเปิดให้บริการ 4G ก็มีโอกาสที่จะร่วมเป็นพันธมิตรเพื่อให้บริการดังกล่าวก็มีความเป็นไปได้สูง”

นอกจากนี้ ยังมองว่า ด้วยมาตรฐาน MED CE 2.0 ที่ทาง UIH เพิ่งได้มาจะเข้ามาเสริมศักยภาพในการให้บริการเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต (VoIP/VoLTE) เพราะมีระบบ COS ที่มาช่วยในการจัดลำดับความสำคัญในการให้บริการ เพราะเมื่อมีการใช้งานวอยซ์ผ่านอินเทอร์เน็ต ต้องให้ความสำคัญมากกว่าการเชื่อมต่อดาต้าทั่วไป ด้วยการนำมาตรฐานดังกล่าวมาช่วยจัดลำดับความสำคัญ

UIH เสริมเขี้ยวรุก AEC
***ยังไม่ลุยตลาดคอนซูเมอร์

แม้ปัจจุบันจะมีผู้ให้บริการหลายรายเริ่มหันมาลงทุนให้บริการ FTTx มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการต่อไฟเบอร์ไปยังบ้าน หรือองค์กรธุรกิจขนาดเล็ก แต่ทาง UIH มองว่า การให้โอกาสธุรกิจท้องถิ่นเข้ามาให้บริการน่าจะช่วยเสริมสร้างให้เกิดการกระจายรายได้มากกว่า

“ในเรื่อง FTTx นั้น UIH จะเน้นให้บริการทางอ้อม ร่วมกับพาร์ตเนอร์เพื่อนำบริการเข้าไปสู่ผู้บริโภคอีกทีหนึ่ง เพราะต้องการสร้างคนในแต่ละพื้นที่ ด้วยการเชื่อมต่อโครงข่ายไป แล้วให้ทางพาร์ตเนอร์บริหารจัดการในพื้นที่ เพื่อสร้างงานมากกว่า”

โดยเชื่อว่าต่อไปในตลาดนี้จะมีการแข่งขันด้านราคากันค่อนข้างสูง พร้อมๆ ไปกับการนำคอนเทนต์มาช่วยเพิ่มมูลค่า ดังนั้น จึงยังให้ความสำคัญต่อตลาดองค์กรขนาดใหญ่ และกลาง ที่ต้องการประสิทธิภาพของการเชื่อมต่อมากกว่าการเล่นเรื่องราคา

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน UIH ก็เริ่มมีการเปิดให้บริการ WiFi ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อย่างคอนโดมิเนียมของลุมพีนี โดยเล็งเห็นถึงโอกาสที่จะนำคาปาซิตีที่ให้บริการแก่ภาคธุรกิจในช่วงกลางวัน มาให้บริการแก่ลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่งในช่วงเวลากลางคืนแทน

ขณะเดียวกัน UIH ก็ได้เป็นพันธมิตร กับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ในการเปิดให้บริการ Dtac WiFi เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าอีกช่องทางหนึ่ง ทำให้รวมแล้วถือเป็นการให้บริการตามแนวคิดผู้ให้บริการบรอดแบนด์ด้วยบริการแบบครบวงจร (One Stop Broadband Solution Service) ตามแผนที่วางไว้ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา

โดยเน้นใช้กลยุทธ์ทางการตลาด 4 เรื่อง คือ 1.การเป็นผู้ให้บริการบรอดแบนด์โซลูชันครบวงจร 2.เปิดให้บริการคลาวด์ ในรูปแบบของไฮบริดคลาวด์ ไม่ใช่พับบลิกคลาวด์ที่ต้องไปแข่งขันกับผู้ให้บริการจากต่างประเทศ เพราะเชื่อว่าลูกค้ายังมีความกังวลในส่วนของความปลอดภัยเมื่อใช้งานพับบลิคคลาวด์

3.ขยายตลาดเข้าไปในประเทศ AEC เพราะมีความมั่นใจทั้งลูกค้าที่เป็นองค์กรไทยต้องการเชื่อมต่อไปยังต่างประเทศ โดยให้ทาง UIH ทำเป็นโซลูชันแบบครบวงจร และลูกค้าจากต่างประเทศที่ต้องการเชื่อมต่อเข้ามาในประเทศไทย 4.ทำการตลาดร่วมกับพันธมิตร อย่างดีแทค ที่นำเสนอบริการไปยังกลุ่มลูกค้าองค์กร


ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 27 มีนาคม 2558