Page 1 of 1

ฝากอนาคตอุตฯยานยนต์ ความหวังหรือแค่ฝันลมๆ

Posted: 30 Mar 2015, 12:57
by brid.ladawan
ฝากอนาคตอุตฯยานยนต์ ความหวังหรือแค่ฝันลมๆ

ใกล้สิ้นสุดไตรมาสแรกของปีแพะ เศรษฐกิจของประเทศไทยยังไม่มีท่าทีที่จะผงกหัวขึ้นอย่างที่หลายคนวาดฝันไว้

ใกล้สิ้นสุดไตรมาสแรกของปีแพะ เศรษฐกิจของประเทศไทยยังไม่มีท่าทีที่จะผงกหัวขึ้นอย่างที่หลายคนวาดฝันไว้ อีกทั้งศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังปรับตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ลดลงมาอยู่ที่ 2.8% ต่ำกว่า 3-4% ที่หน่วยงานภาครัฐได้ประมาณการไว้

เมื่อยังไม่มีปัจจัยบวกแสดงออกมาชัดเจนว่าเศรษฐกิจจะไปในทิศทางใด ดังนั้นความหวังล่าสุดจึงได้พุ่งเป้ามาที่ “อุตสาห กรรมยานยนต์” ซึ่งเป็นเป้านิ่ง ตัวใหญ่ เห็นได้ชัด โดยเฉพาะงานมอเตอร์โชว์ ที่มีขึ้นระหว่างวันที่ 25 มี.ค.-5 เม.ย.นี้ ต่างคาดหวังว่าการจับจ่ายใช้สอยในงานดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นให้มีเงินไหลเวียนในระบบ และเป็นอัศวินขี่ม้าขาวเข้ามากอบกู้เศรษฐกิจไทยแบบเบ็ดเสร็จในยามนี้

โดยเฉพาะทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)คาดหวังอย่างยิ่งว่างานมอเตอร์โชว์ 12 วันนี้ จะเกณฑ์ยอดขายรถยนต์ให้ได้ที่ระดับ 40,000 คัน ซึ่งจะทำให้การขายรถยนต์รวมปีนี้ตะกายขึ้นไปที่ 950,000 คันได้สำเร็จ แต่หากไม่ถึงก็ต้องปรับลดจำนวนกันไปตามความเป็นจริง แม้การขายในประเทศจะไม่ดีนัก แต่ด้านตลาดต่างประเทศยังมียอดขายที่เติบโตได้ ดังนั้นจึงทำให้การส่งออกพอไปได้ มีบางส่วนที่อาจชดเชยการขายในประเทศที่หายไป

เมื่อมองย้อนมาที่ตลาดยานยนต์ช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. ที่ผ่านมาก็ใช่ว่าจะเห็นสัญญาณที่ดีนัก เพราะยอดขายรถยนต์ในประเทศติดลบ 11.8% ซึ่งเป็นการติดลบต่อเนื่องกันมาหลายเดือนแล้ว ไม่เหมือนกับ 2-3 ปีก่อนที่ได้รับอานิสงส์จากโครงการรถคันแรกทำให้ตลาดเติบโตแบบพรวดพราด ทุกคนตื่นตาตื่นใจกับยอดขายเกินล้านคัน แต่เป็นภาพมายาให้ยินดีปรีดาเพียงระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น ก็กลับมาสู่โลกแห่งความเป็นจริง

ปัญหาใหญ่ที่ทำให้การขายรถยนต์ไม่ไหลลื่น คล่องตัวอย่างที่ควรจะเป็น เนื่องจากจำนวนรถยนต์ในตลาดมากกว่าความต้องการที่แท้จริง หนี้ครัวเรือนที่ยังทรงตัวในระดับสูงเฉลี่ยที่ 200,000 บาทต่อครอบครัว เงินที่หาได้ไม่พอกับรายจ่าย ด้านผลพวงจากโครงการรถคันแรกยังพ่นพิษไม่หยุดเกิดหนี้สงสัยจะสูญ(เอ็นพีแอล) อัตราการค้างชำระเพิ่มขึ้น รถถูกยึด ซึ่งปัญหานี้คงจะอยู่ไปอีกจนกว่าจะครบรอบอายุการผ่อนชำระ

อีกทั้งปัจจุบันราคาสินค้าเกษตรอยู่ในระดับต่ำ เงินจากการลงทุนของภาครัฐยังไม่สามารถอัดฉีดเข้าสู่ระบบได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ติดขัดหลายกระบวนการ

จากเหตุเบื้องต้นทำให้สถาบันการเงินผู้ให้บริการสินเชื่อเช่า หรือลีสซิ่ง ต้องเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น จากที่ยื่นไป 100 ราย อนุมัติเพียง 30-40 รายเท่านั้น เพื่อป้องกันการขยายวงลุกลามของหนี้เสีย โดยเฉพาะกลุ่มที่ค่อนข้างจะมีความเสี่ยงมนุษย์เงินเดือนระดับรายได้ 15,000-30,000 บาท ยิ่งตอกย้ำความจริงเข้าไปอีก จากข้อมูลของสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทยว่า ที่สถาบันการเงินปล่อยกู้ยากเย็น กว่าจะอนุมัติสินเชื่อให้ซื้อรถได้แต่ละรายหืดจับ ลุ้นทั้งเจ้าของเงิน และคนขอกู้ เพราะเกรงเอ็นพีแอลพุ่งขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยเฉพาะในกลุ่มรถนั่งขนาดเล็ก

เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วในงานมอเตอร์โชว์ ค่ายรถยนต์พาเหรดกระหน่ำรายการส่งเสริมการตลาดชนิดที่ แจก แถมกระจาย ทั้งเสนอเงินดาวน์ 0% ผ่อน 0% ดอกเบี้ย 0% ผ่อนนานสูงสุด 84 เดือน แถมประกันภัยชั้น 1 บางรายให้ขับฟรี 6 เดือน หรือให้ส่วนลดอุปกรณ์ตกแต่ง มอบบัตรกำนัล เป็นต้น ก็ต้องรอดูจะทำให้มีอิทธิพลในการซื้อกลับมาได้หรือไม่

ในส่วนของค่ายรถยนต์หลายค่ายต่างแอบหวังว่ายอดขายของตนจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น กล้าที่จะตั้งเป้าหมายยอดขายในงานมอเตอร์โชว์ ส่วนจะได้กี่คันก็ว่ากันไปตามขนาดค่ายเล็ก ค่ายใหญ่ แต่กลับไม่กล้าคาดการณ์ว่าในระยะ 3 เดือน 6 เดือน จากนี้ไปตลาดจะเป็นอย่างไร ซึ่งก็ขอดูความเคลื่อนไหวในงานมอเตอร์โชว์

ขณะเดียวกันก็ไม่ได้นิ่งดูดายหาทางออกกันไปตามวิถีทาง เพื่อดันยอดขายให้เข้าเป้า ค่ายไหนที่ไม่มีลีสซิ่งของตัวเองก็จับมือกับสถาบันการเงิน เพื่อให้ลูกค้าซื้อรถสามารถยื่นกู้ได้ง่าย สะดวก รวดเร็วขึ้น ส่วนค่ายไหนมีลีสซิ่งส่วนตัวก็อัดแคมเปญทางการเงินแบบถล่มทลายใครมีหมัดเด็ดงัดออกมา ไม่หมกเม็ด

ทางด้านนายอนุชาติ ดีประเสริฐ นายกสมาคมเช่าซื้อฯ กล่าวว่า ยอดขายรถยนต์ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 881,000 คัน ยอดเช่าซื้อก็ไม่ได้เติบโตเพิ่มมากนัก ส่วนปีนี้ยังไม่เห็นมีปัจจัยบวกอะไรเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้นได้ กำลังซื้อก็ยังชะลอ ดังนั้นมองว่าตลาดรถยนต์ปีนี้จะอยู่ที่ 850,000-900,000 คัน ยอดการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อก็จะลดลงประมาณ 10-12% ก็เป็นไปตามกลไกของตลาด

ยอมรับว่าการปล่อยสินเชื่อทำได้ยาก หนี้ครัวเรือนสูง กำลังซื้อไม่มี กระตุ้นมากไปก็เท่านั้น เพราะเงินไม่ไหลเวียนเข้าสู่ระบบ หากมีรายได้ก็ต้องนำไปใช้หนี้ เงินก็จะกลับเข้าไปอยู่ที่สถาบันการเงิน ในส่วนของลูกค้ากลุ่มที่เริ่มทำงานที่มีรายได้เฉลี่ยที่ 30,000 บาท เดิมเคยเข้ามาใช้บริการปัจจุบันหายไป

“พร้อมกันนั้นค่ายรถยนต์ได้เบนเข็มไปมุ่งขายรถเพื่อการพาณิชย์มากขึ้น เพราะเป็นรถที่ต้องใช้เพื่อประกอบอาชีพ ซึ่งแน่นอนกว่ารถเก๋ง โดยเฉพาะกลุ่มรถเก๋งขนาดเล็กที่กำลังซื้อลดลงอย่างเห็นได้ชัด ส่วนกลุ่มที่ยังพอจะขายได้ก็เป็น

กลุ่มลูกค้าที่ถึงเวลาเปลี่ยนรถ ต้องการรถคันใหม่ไปใช้งาน ตรงนี้เงินหน้าตักของเขามีอยู่แล้วจากการขายรถคันเก่าจะใช้เป็นเงินดาวน์ได้ ทำให้การปล่อยกู้ก็ลดระดับความเข้มลงมา แต่ก็ไม่มากนัก”

ทั้งหมดนี้เริ่มจะเห็นภาพราง ๆ ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยปีนี้ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด หากสถานการณ์ต่าง ๆ ยังทรงตัวต่อเนื่องไปจนถึงกลางปี และในครึ่งปีหลังไม่มีข่าวดี ไม่มีมาตรการใด ๆ เข้ามาช่วยเพิ่มเงินในกระเป๋า หรือไม่สามารถลดจำนวนหนี้ลงเพื่อเปิดโอกาสให้ก่อหนี้ใหม่ได้ เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ เพราะกำลังซื้อที่ถดถอย ไม่ได้หมายความว่าไม่อยากใช้เงิน แต่ปัญหาอยู่ที่ไม่มีเงินจะให้ใช้

ถ้ายังไม่สามารถขจัดอุปสรรคเหล่านี้ให้บรรเทาลงไป คงเหนื่อย เชื่อได้เลยว่ายอดขายรถยนต์ทั้งปีนี้ทำได้เฉียด 900,000 คันได้ ถือว่าดีแล้วภายใต้ข้อจำกัดปัจจัยลบทั้งปวง จากที่จะพึ่งพาอุตสาหกรรมยานยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ไปต่อก็ต้องมารอลุ้นกันว่า ความหวังนี้จะกลายเป็นแสงสุดท้ายที่ริบหรี่ หรือรุ่งโรจน์ ในยามยาก.


ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 30 มีนาคม 2558