Page 1 of 1

หนี้ครัวเรือนไทยสูงที่สุดในโลก “ขุนคลัง” ยอมรับ ศก.ไทย อยู่ใ

Posted: 31 Mar 2015, 09:05
by brid.ladawan
หนี้ครัวเรือนไทยสูงที่สุดในโลก “ขุนคลัง” ยอมรับ ศก.ไทย อยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่

คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
หนี้ครัวเรือนไทยสูงที่สุดในโลก “ขุนคลัง” ยอมรับ ศก.ไทย อยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่


“ขุนคลัง” ยอมรับ ศก.ไทย อยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่ หลายธุรกิจเริ่มปลด-ลดจำนวนพนักงาน แต่ยังไม่ใช้มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายได้ เพราะปัญหาหนี้ครัวเรือนท่วม 80% มากสุดในรอบ 7 ปี และถือว่าสูงที่สุดในโลก การแก้ไขจึงต้องใช้เวลา แย้มทางออกเพียงทางเดียวคือต้องขึ้นภาษี

นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่เริ่มมีบางธุรกิจอุตสาหกรรมปลดหรือลดจำนวนคนงานว่า ถือเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง แต่ก็เข้าใจได้ว่าทางภาคธุรกิจก็ต้องลดกำลังการผลิต ลดต้นทุนการจ้างแรงงานลงตามยอดขายที่ลดลง ซึ่งสะท้อนจากตัวเลขการส่งออกที่ลดลงต่อเนื่อง และกำลังซื้อในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก แต่มองว่าสถานการณ์ขณะนี้รัฐบาลไม่ควรมีมาตรการกระตุ้นการบริโภคเพิ่มเติม เพราะปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นมาก มีสัดส่วนถึง 80% ของจีดีพี

นายสมหมาย กล่าวเสริมว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยรุนแรงในขณะนี้เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะไทยเพียงแห่งเดียว ซึ่งการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของไทยไม่สามารถกระตุ้นด้วยการบริโภคได้ เนื่องจากหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ในดับสูงที่สุดในโลกถึง 80% มากสุดในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากโครงการประชานิยมของรัฐบาลก่อนหน้านี้ได้สร้างหนี้ให้เพิ่มขึ้นมาก หากกระตุ้นด้วยการบริโภคก็จะเพิ่มหนี้ครัวเรือนให้สูงขึ้นอีกซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูก

“การแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทยตอนนี้ต้องเลิกกระตุ้นการบริโภค ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลงทุน และดูแลการส่งออก ซึ่งการแก้ไขปัญหาทั้งหมดต้องใช้เวลา ไม่สามารถแก้ให้ได้ผลภายใน 3-6 เดือน”

ทั้งนี้ รัฐบาลจะเน้นเรื่องของการลงทุน การอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบ เพื่อให้เกิดการจ้างงานและการใช้จ่ายในประเทศตามมา รวมทั้งผลักเงินเข้าสู่กองทุนหมู่บ้าน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก โดยจะปรับปรุงการบริหารกองทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจนับจากนี้น่าจะอยู่ใน 2-3% หรืออย่างมาก 4% คงไม่มีโอกาสได้เห็นการขยายตัวสูงที่ 5-6% ไม่เหมือนในอดีต ซึ่งสอดคล้องกับเศรษฐกิจโลกและประเทศอื่นๆ ที่ตัวเลขลดลง ยกเว้นประเทศเกิดใหม่อย่างเมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา

นายสมหมาย กล่าวย้ำว่า การเร่งการใช้จ่ายภาครัฐต้องเก็บภาษีเพิ่มขึ้น เพราะรายได้ภาษีของไทยปัจจุบันอยู่ที่ 18% ของจีดีพี เมื่อรวมรายได้รัฐวิสาหกิจอยู่ที่ 20% ของจีดีพี เทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วมีรายได้จากการเก็บภาษีถึง 40% ของจีดีพี ซึ่งการเก็บภาษีของไทยถือว่ายังน้อยกว่ามาก ทำให้การแก้ปัญหาเศรษฐกิจทำได้ช้า

ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจไทยเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา โดยระบุว่า เครื่องชี้วัดเศรษฐกิจยังมีสัญญาณการชะลอตัว ทั้งจากการใช้จ่ายภาคเอกชนและการส่งออก

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่สามารถขยายตัวในระดับสูง และภาคอุตสาหกรรมที่เริ่มกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ ส่วนการบริโภคภาคเอกชนยังชะลอตัวลง สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคภายในประเทศลดลงมาเหลือ 2.4% จากเดือนก่อนที่ขยายตัว 9.5% ประกอบกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจและราคาพืชผลทางการเกษตรยังตกต่ำ

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังคงชะลอตัว แต่จากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวสูงต่อเนื่องและเป็นพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนที่ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ และกำลังปรับเพิ่มเม็ดเงินภาครัฐที่อัดเข้าสู่ระบบ โดยเฉพาะจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ถนน และระบบน้ำ จะมาทดแทนการส่งออกที่ชะลอตัวอย่างหนักได้หรือไม่ โดยเฉพาะเดือน ก.พ.หดตัวถึง 6.1% สูงกว่าที่ สศค.ประเมินไว้มาก ส่วนจีดีพีที่จะทบทวนใหม่เดือน เม.ย.นี้ ก็อาจจะเท่าเดิมและมีแนวโน้มไปทางต่ำกว่า 3.9%


ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 30 มีนาคม 2558