Page 1 of 1

ไฟเขียวยกหนี้เกษตรเฉียดหมื่นล้าน

Posted: 01 Apr 2015, 09:19
by brid.ladawan
ไฟเขียวยกหนี้เกษตรเฉียดหมื่นล้าน

ครม.ยกหนี้ให้ทั้งหนี้กองทุนของเกษตรฯ และหนี้ธ.ก.ส. พร้อมปรับโครงสร้างหนี้ และยืดหนี้เกษตรกร

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม. ได้เห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้เกษตรกร โดยยกหนี้ให้เกษตรกรรวม 8,556 ล้านบาท แบ่งเป็น หนี้ที่อยู่ภายใต้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 4,000 ล้านบาท และหนี้ที่อยู่ภายใต้กองทุนกระทรวงเกษตรฯ9กองทุน 4,556ล้านบาทโดยแนวทางการดูแลเกษตรกรครั้งนี้ เป็นผลมาจากการสำรวจข้อมูลล่าสุด พบว่า รายได้ของเกษตรกรลดลงครัวเรือนละ 600 บาท ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการชำระหนี้สินน้อยลง และยังทำให้เกิดภาระหนี้สินสะสม ทำให้ทายาทหรือลูกหลานเกษตรกรต้องแบกรับภาระหนี้ต่อ รัฐบาลจึงตัดช่วยเหลือโดยให้เป็นหนี้สูญ

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่มีปัญหาหนี้สินของ ธ.ก.ส. 818,000 ราย คิดเป็นหนี้สินรวมกว่า 116,000 ล้านบาทซึ่งมาตรการดังกล่าว จะมีเวลา 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.58 ไปสิ้นสุด 31 มี.ค.59 แบ่งออกเป็น 3 มาตรการ คือโครงการปลดหนี้สิน เกษตรกรรายย่อยที่ไม่มีศักยภาพ หรือมีเหตุผิดปกติ เช่น เสียชีวิต ทุพพลภาพ เจ็บป่วยเรื้อรัง และมีปัญหาสุขภาพจนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ 28,000ราย หนี้สิน4,000ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. จะสอบทานลูกหนี้เพื่อการจัดการหนี้และพิจารณาปลดหนี้ให้แก่เกษตรกรรายย่อย ด้วยการจำหน่ายหนี้เงินกู้ออกจากบัญชีเป็นหนี้สูญ ตามหลักเกณฑ์การจำหน่ายทรัพย์สินประเภทลูกหนี้ออกจากบัญชีเป็นหนี้สูญของ ธ.ก.ส.

ต่อมาเป็นโครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ กลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรรายย่อยที่มีศักยภาพต่ำ โดยผ่านการประเมินศักยภาพแล้วปรากฏว่ายังมีความสามารถในการประกอบอาชีพแต่มี ปัญหาในการชำระหนี้จากเหตุสุจริตจำเป็นและเป็นภาระหนัก 340,000ราย 48,000ล้าน บาท โดย ธ.ก.ส.จะพักชำระหนี้เงินต้นให้เกษตรกรที่มีปัญหาก่อนเวลา 3 ปี โดยเกษตรกรที่ได้พักชำระหนี้ไม่ต้องชำระเงินต้นที่กู้ยืม แต่ต้องชำระดอกเบี้ยต่อเนื่อง หากครบกำหนด 3 ปีแล้วให้เกษตรกรชำระเงินต้นตามงวดหรือเวลาที่ตกลงกันแต่ไม่เกิน10ปี เว้นแต่มจำเป็นอาจกำหนดให้ชำระไม่เกิน15ปี

ทั้งนี้เมื่อเกษตรกรลูกค้าชำระหนี้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยได้ตามงวดชำระหนี้ที่กำหนด ธ.ก.ส.จะพิจารณายกหนี้ในส่วนของดอกเบี้ยที่พักไว้ตามศักยภาพของเกษตรกร ลูกค้าแต่ละราย และดำเนินการฟื้นฟูการประกอบอาชีพให้แก่เกษตรกรลูกค้าตามโครงการดังกล่าว นอกจากนี้ ธ.ก.ส.จะสนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเติมให้แก่เกษตรกรลูกค้าตามแผนฟื้นฟูการประกอบอาชีพการเกษตรหรืออาชีพอื่นที่เหมาะสม เงินกู้ต่อรายไม่เกิน50,000บาท วงเงินสินเชื่อรวม15,000ล้านบาท โดยคิดดอกเบี้ยอัตราปกติของ ธ.ก.ส.อีกด้วย

สุดท้ายคือโครงการ ขยายเวลาชำระหนี้ ให้เกษตรกรรายย่อยที่มีศักยภาพในการประกอบอาชีพ แต่ได้รับผลกระทบจากการงดทำนาปรัง และราคายางพาราตกต่ำ 450,000ราย 64,000ล้าน บาท ซึ่ง ธ.ก.ส.จะสอบทานหนี้เพื่อการจัดการหนี้ และพิจารณาขยายเวลาชำระหนี้ตามศักยภาพของเกษตรกรลูกค้า โดยคิดดอกเบี้ยอัตราปกติของธ.ก.ส. และไม่คิดเบี้ยปรับนอกจากนี้ ธ.ก.ส. จะสนับสนุนสินเชื่อเพื่อปลูกพืชทดแทน ประกอบอาชีพเกษตรอื่นหรืออาชีพเสริมเพิ่มรายได้ วงเงินไม่เกินรายละ100,000 บาท รวม35,000 ล้านบาท

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 31 มีนาคม 2558