Page 1 of 1

การันตีไก่เนื้อไทย...มาตรฐานโลก

Posted: 03 Apr 2015, 15:26
by brid.ladawan
การันตีไก่เนื้อไทย...มาตรฐานโลก

โดย น.สพ.สุเมธ ทรัพย์ชูกุล นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสัตว์ปีก
และเลขาธิการสัตวแพทยสภา

“เนื้อไก่” จากพันธุ์ไก่เนื้อขนสีขาวตัวอ้วนๆ ที่คนไทยนิยมรับประทานกันอยู่ทุกวันนี้นั้น ไม่ใช่พันธุ์ไก่สายพันธุ์ดั้งเดิมของไทย แต่เป็นการนำเอาสายพันธุ์ไก่ต่างบ้านต่างเมืองมาพัฒนาให้เหมาะสมกับการเลี้ยงในบ้านเรา เรื่องนี้ย้อนกลับไปกว่า 50 ปีที่แล้ว เมื่อเอ่ยถึง “ไก่” ก็จะหมายถึงอาหารของคนรวย เนื่องจากมีราคาแพง เพราะส่วนใหญ่เป็นไก่บ้านที่กว่าจะเลี้ยงให้ได้น้ำหนักตามที่ตลาดต้องการนั้น ต้องใช้ระยะเวลาการเลี้ยงนานถึง 20 สัปดาห์ เพราะอัตราการเจริญเติบโตค่อนข้างช้า แต่เมื่อพูดถึง “ไก่” ในวันนี้ กลับหมายถึง อาหารโปรตีน ราคาไม่แพง คนทั่วไปสามารถเข้าถึงและซื้อหามารับประทานได้



ทั้งหมดนี้เกิดจากการพัฒนาของภาคอุตสาหกรรม ที่นอกจากการแสวงหาพันธุ์สัตว์ อาหารสัตว์ที่เหมาะสม และการนำเทคโนโลยีการเลี้ยงจนถึงการแปรรูปเนื้อไก่ให้ได้มาตรฐานสากลแล้ว ในภาคอุตสาหกรรมยังได้ร่วมมือกับภาครัฐ โดยกรมปศุสัตว์ ในการพัฒนาระบบการบริหารจัดการภายในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกให้มีมาตรฐานยิ่งขึ้น ทั้งการนำระบบการเลี้ยงด้วยการแยกส่วนการเลี้ยง หรือที่รู้จักกันในวงการว่า “คอมพาร์ทเมนต์ฟาร์มสัตว์ปีก” ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการควบคุมและป้องกันโรคไข้หวัดนก มาใช้ โดยประเทศไทยนับเป็นประเทศแรกที่นำเอาระบบนี้มาดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ยังนำหลักสวัสดิภาพสัตว์ หรือ Animal Welfare ที่ตลาดหลักอย่างสหภาพยุโรป หรือ EU ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ของไทย ได้วางหลักเกณฑ์ให้ประเทศคู่ค้าปฏิบัติต่อสัตว์อย่างเป็นธรรม เพื่อเป็นอีกหนึ่งมาตรฐานสำหรับการคัดเลือกผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ให้แก่ผู้บริโภคชาวยุโรป โดยหลักการง่ายๆของหลักสวัสดิภาพสัตว์คือ ไก่ต้องมีสุขภาพดี มีความเป็นอยู่อย่างสบาย ไม่อึดอัด ไม่เครียด ไม่กังวล ไม่บาดเจ็บหรือเป็นโรค รวมทั้งจะต้องมีกรรมวิธีในการลดอาการตื่นตกใจและคลายเครียดให้กับไก่ก่อนนำเข้ากระบวนการแปรรูปด้วย

ความสำเร็จในเรื่อง Animal Welfare นี้ ได้รับการยืนยันจากรายงานเรื่อง Thai chicken better than most British production โดย RSPCA By Martin Hickman , Consumer Affairs Correspondent ที่กล่าวถึง “ไก่ไทยดีกว่าผลิตภัณฑ์ไก่ของอังกฤษ” ซึ่ง RSPCA ที่เป็นองค์กรการกุศลรายใหญ่ของอังกฤษ ระบุว่า ผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับหลักสวัสดิภาพสัตว์ ควรให้ความสนใจในมาตรฐานไก่ของอังกฤษ และหันไปซื้อผลิตภัณฑ์เนื้อไก่นำเข้าจากประเทศไทย เพราะมาตรฐานของผู้ส่งออกไก่รายใหญ่ที่สุดสองราย คือ ประเทศไทย และบราซิล มีพื้นฐานโดยรวมที่สูงกว่าการผลิตของอังกฤษ

เนื้อหาในรายงานของ RSPCA ตอนหนึ่งบอกว่า การเลี้ยงไก่ของไทยใช้พื้นที่ใช้พื้นที่ต่อตัวมากกว่าอังกฤษ โดยในพื้นที่ 1 ตารางเมตรไทยจะเลี้ยงไก่ประมาณ 13 ตัว ขณะที่อังกฤษเลี้ยงไก่จำนวน 20 ตัวในพื้นที่เท่ากัน ส่วนระยะเวลาการเลี้ยงไก่ของไทยก็นานกว่า คือเลี้ยงประมาณ 42 วัน อังกฤษใช้เวลาเพียง 35 วัน สำหรับระยะเวลาการพักไก่ก่อนเข้ากระบวนการเชือดในไทยจะพักเป็นเวลา 6 ชั่วโมงต่อเนื่องในความมืวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2558 เวลา 20:23:43 น.
ด แต่ที่อังกฤษจะพักต่อเนื่องในความมืดเพียง 4 ชั่วโมง

เรื่องนี้ Dr Marc Cooper, RSPCA farm animal welfare scientist ที่มีโอกาสได้เข้าเยี่ยมฟาร์มไก่ในประเทศไทย และฟาร์มไก่ที่บราซิล ได้ให้สัมภาษณ์ว่า แม้ว่าจะมีตัวแปรที่หลากหลาย แต่มาตรฐานไก่ของสองประเทศยังดีกว่าอังกฤษ แต่ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่า ไก่ที่ผลิตจากอังกฤษนั้นมีมาตรฐานที่สูงกว่าไก่ที่ผลิตจากประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งซึ่งมีต้นทุนที่ดินและมีค่าแรงที่ถูกกว่า

“สิ่งที่เราเห็นแสดงให้เห็นถึงความปลอดภัยที่มากกว่า ซึ่งตรงข้ามกับสมมติฐาน โดยไก่ที่มาจากประเทศไทยมีมาตรฐานด้านสวัสดิภาพสัตว์ที่สูงกว่ามาตรฐานของอุตสาหกรรมไก่ที่พวกคุณซื้อจากอังกฤษ ผลผลิตไก่ของบราซิลก็เช่นเดียวกันถึงแม้มีความหลากหลายมากกว่า ก็คงเป็นความเข้าใจผิดที่ว่าไก่ที่มาจากต่างประเทศ ทั้งจากบราซิลและประเทศไทย ที่ถูกมองว่าเป็นไก่ที่มีมาตรฐานต่ำกว่า” Dr.Cooper กล่าวและบอกว่า ในระหว่างที่เข้าดูงานในประเทศไทย เขาสังเกตว่า สภาพและลักษณะที่ปรากฏของไก่ไทยนั้นดีกว่าไก่ของอังกฤษ เพราะไก่จะถูกเลี้ยงด้วยพื้นที่ต่อตัวที่มากกว่า การใช้แสงธรรมชาติ การใช้พันธุ์ไก่ที่มีการเติบโตช้ากว่าพันธ์ที่เลี้ยงในอังกฤษ และมีระบบ biosecurity ที่ดี

การพัฒนาดังกล่าวถือเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้วงล้อการพัฒนาของภาคอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่เนื้อของไทยหมุนไปอย่างต่อเนื่อง จนสามารถก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้ส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ติดอันดับโลก โดยข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย ระบุว่า ไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 4 ของโลก รองจาก บราซิล สหรัฐอเมริกา และยุโรป ตามลำดับ และในปี 2557 ที่ผ่านมาไทยสามารถส่งออกไก่สดแช่เย็น แช่แข็งและแปวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2558 เวลา 20:23:43 น.
รรูป ถึงปีละ 560,000 ตัน นำเงินตราเข้าประเทศได้สูงถึง 78,000 ล้านบาท โดยมีตลาดสำคัญ คือ อียู ที่นำเข้ามากถึง 270,000 ตัน และญี่ปุ่นนำเข้า 240,000 ตัน รวมถึงตลาดอื่นๆ คือ สิงคโปร์ เกาหลี ตะวันออกกลาง และแคนาดา ที่ให้ความสำคัญในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของอาหารในระดับสูง เช่น การห้ามให้สารเร่งการเจริญเติบโตในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฮอร์โมน สารเคมีต่างๆ หรือแม้แต่ยาปฏิชีวนะ รวมถึงประเทศเกาหลีใต้ที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เช่นกัน ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ได้ประกาศปลดล็อคการนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทย หลังระงับไปกว่า 11 ปี หลังพบการระบาดของไข้หวัดนกในไทย โดยคาดการณ์กันว่าจะทำให้การส่งออกไก่ไทยในปี 2558 นี้ เติบโตขึ้นอีก 6-7 เปอร์เซ็นต์ มีมูลค่ารวมกว่า 8.2 หมื่นล้านบาท นี่จึงเป็นอีกข่าวดีของอุตสาหกรรมไก่ไทย
การก้าวมาถึงจุดนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมไก่ไทยว่า มีการพัฒนามาตรฐานการเลี้ยงและการจัดการการเลี้ยงไก่เนื้ออย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามภาคอุตสาหกรรมไก่เนื้อยังคงเดินหน้าพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดโลกเท่านั้น แต่เพื่อเป็นการการันตีคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ป้อนให้ผู้บริโภคทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยเองก็รับประทานเนื้อไก่ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันได้อย่างสบายใจ.


ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 31 มีนาคม 2558