Page 1 of 1

"ประสาร" รับ ธปท.ปี′57 ขาดทุนหนัก อ่วมปัญหาอัตราแลกเปลี่ยน "

Posted: 03 Apr 2015, 16:21
by brid.ladawan
"ประสาร" รับ ธปท.ปี′57 ขาดทุนหนัก อ่วมปัญหาอัตราแลกเปลี่ยน "เงินเยน-ยูโร" อ่อนค่า


แบงก์ชาติปี′57 ขาดทุนอ่วม ผู้ว่าการประสาร แจงเหตุจากเงินเยน-ยูโรในทุนสำรองอ่อนยวบ ดันยอดขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนพุ่ง ส่วนภาระดอกเบี้ยจ่ายลดลง แต่รายได้จากการลงทุนในต่างประเทศมีผลตอบแทนที่ดีขึ้น


นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ผลการดำเนินงานของ ธปท.งวดปี 2557 ยังมีการขาดทุนสุทธิ และขาดทุนสะสมต่อเนื่องจากผลดำเนินงานงวดสิ้นปี 2556 ซึ่งมีผลขาดทุนรวม 572,133 ล้านบาท แบ่งเป็นยอดขาดทุนสะสม 442,656 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิสำหรับงวด 129,477 ล้านบาท

ส่วนการขาดทุนในปี 2557 เป็นผลจากการตีราคาสกุลเงินต่าง ๆ ในทุนสำรองที่ ธปท.ดูแลอยู่ อาทิ เงินเยน และยูโร ที่เมื่อตีค่าเป็นเงินบาทแล้วมูลค่าลดลง เนื่องจากทั้ง 2 สกุลเงินอ่อนค่าค่อนข้างมากเมื่อปีที่ผ่านมา จากการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย (คิวอี) ของทั้งญี่ปุ่นและยูโรโซน



"ในทุนสำรองจะกระจายการถือครองสินทรัพย์ในรูปเงินสกุลต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจ และสะท้อนตามน้ำหนักในความสัมพันธ์ทางการค้า ซึ่งสัมพันธ์ตามความต้องการคู่ค้าและภาคธุรกิจ ดังนั้นจึงมีทั้งสกุลเงินดอลลาร์ ยูโร เยน ฯลฯ และหน้าที่เงินทุนสำรองคือ หากมีผู้ต้องการใช้ก็ต้องมีให้เขา" นายประสารกล่าว

พร้อมกับยืนยันว่า ผลการขาดทุนดังกล่าวเป็นเพียงการขาดทุนจากการตีราคา ซึ่งวิธีการตีค่ามีหลายแบบ เช่น ตีเป็นสกุลเงินท้องถิ่นคือเงินบาท ตีเป็นค่าเงินกลางจากตะกร้าเงิน ตามเกณฑ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่เรียกว่า วิธี SDR (Special Drawing Right) ตีเป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐ หรือเป็นผสมกับเงินสกุลอื่น ๆ ซึ่งก็จะทำให้ดอลลาร์สหรัฐมีน้อยลง ซึ่งการตีค่าในทางบัญชีของทุนสำรอง ธปท. ใช้มาร์กทูมาร์เก็ต (ตามราคาตลาด) และที่ผ่านมาทุนสำรองของ ธปท. ก็มีมากกว่า 1.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะเดียวกันในปี 2557 ที่ผ่านมา ธปท. มีภาระรายจ่ายลดลง โดยเฉพาะการจ่ายดอกเบี้ยจากการออกตราสารต่าง ๆ ของ ธปท. เนื่องจากส่วนต่างของดอกเบี้ยจ่ายกับดอกเบี้ยรับ (Nagative Carry) ลดลง ตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ (ปี 2557 กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตอนเดือน มี.ค.เหลือ 2.00% จากก่อนหน้าอยู่ที่ 2.25%) พร้อมกันนั้น ธปท.ก็ยังได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในต่างประเทศดีขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น จากการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น

"เรื่องนี้มันจะสวิงไปในแต่ละปี อย่างปี 2556 ธปท.มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน เพราะปลายปีบาทเราอ่อนหลังจากที่สหรัฐ บอกจากถอนคิวอี แต่พอมาปี 2557 ญี่ปุ่น ยูโรโซนทำคิวอี เงินเยน เงินยูโรอ่อน เราก็เจอผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนอีก เรื่องพวกนี้จึงเป็นการตีค่า ดังนั้นอย่าจับจ้องการขาดทุนที่เกิดขึ้น และยืนยันว่าสินทรัพย์ทุกอย่างยังอยู่ครบ เพราะเมื่อไรที่บาทอ่อน อาจสะท้อนว่าเศรษฐกิจภาพรวมของไทยไม่เป็นที่นิยมนัก ตอนนั้น ธปท.อาจมีกำไร แต่ประชาชนและธุรกิจมักเดือดร้อน แต่ถ้าบาทแข็ง ธปท.ขาดทุน แต่ก็สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยดี ต่างชาตินิยมเข้ามาลงทุนด้วย" นายประสารกล่าว


ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
วันที่ 02 เม.ย 2558