Page 1 of 1

ยกร่างแก้ไขพ.ร.บ.การดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา

Posted: 04 Apr 2015, 10:22
by brid.ladawan
ยกร่างแก้ไขพ.ร.บ.การดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา

คลังลุยยกร่างแก้ไขพ.ร.บ.การดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ. 2551 เพื่อขยายขอบเขตให้ครอบคลุมสินค้าทุกประเภท เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างทั่วถึงมากขึ้น

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กระทรวงการคลังกำลังยกร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ. 2551 โดยมีสาระสำคัญส่วนใหญ่แก้ไขข้อจำกัดในการนำกฎหมายไปใช้ รวมทั้งได้ขยายขอบเขตให้ครอบคลุมสินค้าทุกประเภท เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างทั่วถึงมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันพบว่ายังมีข้อจำกัดบางประการของกฎหมายที่ทำให้การนำไปใช้ยังไม่แพร่หลายมากนัก

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจึงได้รวบรวมประเด็นปัญหาและอุปสรรคต่างๆ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเกี่ยวกับการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งได้จัดทำแล้วเสร็จ ตั้งแต่ปลายปี 57 ที่ผ่านมา โดยกฎหมายการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา ถือเป็นประโยชน์อย่างมากต่อประชาชนในการเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงในการซื้อขายสินค้าระหว่างคู่สัญญาหรือผู้ซื้อและผู้ขาย

สำหรับประชาชนจะสามารถใช้เครื่องมือดังกล่าวได้ โดยผ่านผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา (เอสโครว เอเจ้นท์) ที่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลัง โดยที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 53 ได้นำกฎหมายดังกล่าวไปใช้ในธุรกรรมการซื้อขายสินค้าที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ การซื้อขายเครื่องมือแพทย์ การเสนอขายหุ้นในตลาดทุน ซึ่งพบว่าธุรกรรมที่ดำเนินการผ่านการใช้เอสโครว เอเจ้นท์ ที่มีความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ

“กฎหมายดังกล่าวได้ถูกยกร่างขึ้นภายหลังจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์เมื่อปี 40 ซึ่งขณะนั้นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ส่วนหนึ่งไม่สามารถดำเนินการสร้างบ้านได้แล้วเสร็จ และมีการนำเงินดาวน์ที่ได้จากผู้ซื้อบ้านไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ทำให้ผู้ซื้อบ้านไม่ได้บ้าน และไม่ได้รับเงินดาวน์คืนด้วย ทำให้กระทรวงการคลังได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้เสนอให้ตราพ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อกำหนดให้มีคนกลางในการทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ของผู้ซื้อและผู้ขาย ซึ่งจะทำให้ผู้ซื้อได้รับทรัพย์สิน และผู้ขายได้รับเงินตามที่ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันไว้”

อย่างไรก็ตาม เมื่อแก้ไขกฎหมายแล้วเสร็จ กระทรวงการคลังเชื่อว่าจะมีการนำกฎหมายไปใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มความเชื่อมั่นในการซื้อขายสินค้าให้เกิดขึ้นกับประชาชนทั้งผู้ซื้อและผู้ขายอย่างแท้จริง

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 3 เมษายน 2558