Page 1 of 1

สื่อสารด้วยนวัตกรรม หรือ นวัตกรรมเพื่อสื่อสาร?

Posted: 08 Apr 2015, 14:27
by brid.ladawan
สื่อสารด้วยนวัตกรรม หรือ นวัตกรรมเพื่อสื่อสาร?

เมื่อไม่นานมานี้ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับคุณอุปถัมป์ นิสิตสุขเจริญ ผู้บริหารบริษัท Right Man ที่อยู่เบื้องหลังการสร้างเทคนิคพิเศษและแสงสีเสียงในงานแสดงละครเวทีกลางน้ำครั้งยิ่งใหญ่นี้

คุณผู้อ่านคอลัมน์วันพุธของผมพอจะจำกันได้ไหมครับ ว่าเมื่อช่วงปลายปี 2557 ที่ผ่านมามีการจัดแสดงละครเวทีกลางน้ำครั้งยิ่งใหญ่เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา ในชื่องาน “พระมหาชนก เดอะฟีโนมีนอนไลฟ์โชว์” ณ เวทีกลางทะเลสาบ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ต่อหน้าผู้เข้าชมนับหมื่นที่นั่ง ตัวผมเองนั้นแม้ไม่มีโอกาสได้ไปชมโชว์ครั้งยิ่งใหญ่นี้ในสถานที่จริง แต่ก็ได้ติดตามผ่านทางการถ่ายทอดสดและภาพข่าวต่าง ๆ ซึ่งก็บอกได้เลยครับว่ามัลติมีเดียเทคนิคพิเศษ และ แสงสีเสียงของงานนี้จัดมาอย่างยิ่งใหญ่อลังการจริง ๆ

เมื่อไม่นานมานี้ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับคุณอุปถัมป์ นิสิตสุขเจริญ ผู้บริหารบริษัท Right Man ที่อยู่เบื้องหลังการสร้างเทคนิคพิเศษและแสงสีเสียงในงานแสดงละครเวทีกลางน้ำครั้งยิ่งใหญ่นี้ แถมยังมีผลงานการสร้างพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้สมัยใหม่ระดับประเทศอีกมากมายที่ไม่ใช่แค่การไปยืนดูวัตถุล้ำค่าในตู้กระจกและอ่านแผ่นป้ายคำอธิบาย แต่เป็นประสบการณ์การเรียนรู้เสมือนจริงด้วยการฉายภาพแสงสีเสียง 360 องศา ห้องเคลื่อนที่ได้และกลไกอื่น ๆ ที่ราวกับกำลังเล่นอยู่ในสวนสนุกเลยล่ะครับ วันนี้ผมเลยอยากนำเรื่องราวน่าสนใจเกี่ยวกับแวดวงธุรกิจด้านการจัดงานแสดงหรือนิทรรศการต่าง ๆ ในประเทศไทยมาแบ่งปันให้คุณผู้อ่านคอลัมน์ของผมได้ฟังกันครับ

จากคำบอกเล่าของคุณอุปถัมป์ มูลค่าโดยรวมของงานจำพวกอีเวนต์หรือนิทรรศการในไทย รวมภาครัฐและเอกชนแล้วตกอยู่ที่ประมาณ 12,000 ล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว โดยกว่าร้อยละ 40 เป็นการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ ซึ่งมีจุดประสงค์หลักเพียงสิ่งเดียวเลยครับ คือ ทำยังไงถึงจะสื่อสารให้ได้ผลมากที่สุด ทำยังไงให้ผู้เข้าชมสามารถรับรู้และเข้าใจถึงสิ่งที่ผู้จัดงานต้องการสื่อให้ได้โดยไม่เกิดอาการเบื่อหรือเดินหนีไปเสียก่อนกลางคัน ซึ่งเรื่องนี้สำหรับผมนั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัวสักเท่าไหร่ ในฐานะที่เป็นวิศวกรคนหนึ่งที่มีความสนใจในเทคโนโลยีนวัตกรรม และในฐานะของอาจารย์ที่ต้องคอยคิดหาเทคนิคการสอนแบบใหม่ ๆ ที่จะดึงดูดความสนใจของนักศึกษาให้อยู่กับบทเรียนและสามารถเข้าใจเนื้อหายาก ๆ ของการเรียนได้

ในยุคที่เทคโนโลยีอยู่รายล้อมรอบตัวเรานี้ ก็คงไม่แปลกอะไรนะครับที่เทคโนโลยีก็จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารให้ได้ผล ในระดับการเรียนการสอนในห้องเรียน ตัวผมนั้นก็ใช้สไลด์นำเสนอเป็นประจำ บางทีก็ใช้โปรแกรมจำลองเพื่อเดโมให้นักศึกษาเห็นจริงประกอบด้วย แต่บางครั้งสูงสุดก็คืนสู่สามัญกลับมาใช้การวาดรูปประกอบบนกระดานบ้าง ให้นักศึกษาลองตัดกระดาษแปะกาวกันในห้องเลยบ้าง หรือ แม้แต่ให้นักศึกษาออกเดินหาข้อมูลจากรอบ ๆ ตึกเรียนก็มี ถ้าเป็นการสื่อสารระดับใหญ่อย่างงานนิทรรศการหรืออีเวนต์นั้น บริษัท Right Man ก็หยิบเอาเทคนิคต่าง ๆ มาใช้มากมายเลยครับ บางครั้งก็เป็นเทคนิคดั้งเดิมชนิดสูงสุดคืนสู่สามัญ แต่บางครั้งก็เป็นเทคโนโลยีชนิดล้ำยุคล้ำสมัยที่ใช้มันแทบทุกอย่างตั้งแต่โปรแกรมวิเคราะห์คำนวณเวลาชนิดเสี้ยววินาทีด้วยคอมพิวเตอร์ เทคนิคการฉายภาพเสมือนจริง ฉากม่านน้ำตกหลายชั้นสำหรับสร้างภาพสามมิติ เรือจำลองขนาดยักษ์พร้อมกลไกไฮดรอลิกแบบสั่งทำพิเศษ ฯลฯ

แต่รวม ๆ แล้วไม่ว่าจะระดับห้องเรียน ระดับชาติ หรือ ระดับนานาชาติ เหล่านักการสื่อสารต่างก็มีคีย์เวิร์ดสำคัญเพียงอย่างเดียวครับ คือ ใช้วิธีอะไรก็ได้ที่ทำให้สื่อสารได้ผลที่สุด ไม่จำเป็นต้องเป็นวิธีเดิมที่เคยใช้ได้ผลมาก่อนในอดีต ไม่จำเป็นต้องเป็นวิธีที่เหมือนกับที่คนอื่นใช้กัน จะเทคนิคล้ำยุคหรือย้อนยุคก็ไม่เป็นไรขอเพียงว่าใช้แล้วได้ผลเท่านั้น เหมือนอย่างคอนเซปต์หนึ่งของทางบริษัท Right Man ที่ว่า “คิดแล้วต้องทำให้ได้ อย่าปล่อยเทคโนโลยีมาตีกรอบความคิด เพราะนวัตกรรมจะไม่เกิด” ซึ่งก็เป็นแนวคิดที่ฟังดูแล้วสุ่มเสี่ยงอยู่บ้างนะครับ แต่ก็เพราะความคิดแบบนี้นี่ล่ะครับที่ทำให้มนุษย์เราสามารถก้าวข้ามขีดจำกัดในอดีตและพัฒนามาเป็นโลกศิวิไลซ์เทคโนโลยีอย่างทุกวันนี้ได้

แล้วคุณผู้อ่านล่ะครับ วันนี้คุณกำลังสื่อสารและใช้ชีวิตอยู่ในกรอบที่ถูกตีขึ้นโดยเทคโนโลยีรอบตัวอยู่ หรือเป็นคุณเองที่กำลังพยายามจะก้าวข้ามกรอบของโลกปัจจุบันออกมาให้ได้โดยใช้เทคโนโลยีรอบตัวเป็นตัวช่วยผลักดันคุณ.

ผศ.ดร.ชุติสันต์ เกิดวิบูลย์เวช

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

chutisant.ker@nida.ac.th




ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 8 เมษายน 2558