Page 1 of 1

‘เปปเปอร์’ เร่งสร้างความเชื่อมั่นอี-คอมเมิร์ซไทย

Posted: 18 Apr 2015, 10:28
by brid.ladawan
‘เปปเปอร์’ เร่งสร้างความเชื่อมั่นอี-คอมเมิร์ซไทย

“เปปเปอร์” อดีตนักร้องดังวง ยูเอชที ที่ย้ายจาก ไลน์ ประเทศไทย มาบริหารงานในตำแหน่งผู้อำนวยการอาวุโส ให้กับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ.

กลับมาสร้างความฮือฮาอีกครั้งสำหรับ ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต หรือ “เปปเปอร์” อดีตนักร้องดังวง ยูเอชที ที่ย้ายจาก ไลน์ ประเทศไทย มาบริหารงานในตำแหน่งผู้อำนวยการอาวุโส ให้กับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ.

ถึงแม้จะยังคงวนเวียนอยู่กับสายไอทีแต่การปรับเปลี่ยนบทบาทผู้บริหารครั้งนี้ถือว่าสร้างความแปลกใจมากตรงที่เปลี่ยนจากผู้บริหารเอกชนมาบริหารงานรัฐบาล คว้าสูทผูกเนกไทแล้วแขวนกางเกงยีน

ดร.รัฐศาสตร์ เล่าว่า ถือเป็นการปรับเปลี่ยนบทบาทการทำงานมาตลอด 20 ปี เหตุผลหลัก 3 เหตุผล ที่ทำให้ตัดสินใจพลิกบทบาทบริหารงานเอกชนมาบริหารงานภาครัฐคือ คุณพ่อและครอบครัวรับราชการ ตนจึงอยากจะทำงานในส่วนของราชการเพื่อรับใช้ประชาชน ถือเป็นการสั่งสมประสบการณ์ด้วย อีกเหตุผลคือ ความเชื่อมั่นในตัวของ สพธอ. และผู้นำ “พี่แอน-สุรางคณา วายุภาพ” ผู้อำนวยการ สพธอ.ซึ่งส่วนตัวก่อนหน้านี้เป็นคนนอก ได้เห็นความแข็งแกร่งและการขับเคลื่อนที่รวดเร็วทั้งการขับเคลื่อนกฎหมาย อำนาจความรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนสายงานภาครัฐนั้น สิ่งที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดคือ การปรับตัวในส่วนของการเดินเอกสาร เพราะระเบียบทางราชการมีขั้นตอนการอนุมัติที่ต้องใช้ระยะเวลา ต้องผ่านการตรวจสอบ โดยเฉพาะการอนุมัติโครงการที่ต้องใช้งบประมาณที่สูง เพราะถือเป็นภาษีประชาชน ซึ่งประเด็นการเดินเรื่องเอกสารถือเป็นประเด็นที่ สพธอ.เล็งเห็นและต้องการให้มีความรวดเร็วขึ้น

ดร.รัฐศาสตร์ เล่าต่อว่า สำหรับบทบาทหน้าที่หลักที่ได้รับผิดชอบใน สพธอ.คือการผลักดัน ส่งเสริมการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ในประเทศไทยที่ควรจะเติบโตกว่าปัจจุบันให้มีการเติบโตมากขึ้น โดยเฉพาะการสร้างความเชื่อมั่นและความเข้าใจให้กับทั้งผู้ขายและผู้ซื้อด้วยความมั่นคง ปลอดภัย กล้าซื้อและกล้าขาย และกล้าทำธุรกิจมากขึ้น

“เชื่อว่าวินาทีนี้ เราต้องรวดเร็วโดยเฉพาะเรื่องของดิจิตอล เพราะประเทศเพื่อนบ้านเราไปเร็วมากแล้ว ถ้ายังช้าอยู่จะไม่ทันเพื่อนบ้าน สพธอ.อยู่ระหว่างการทำ กรีน อี-คอมเมิร์ซ เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในประเทศไทย” ดร.รัฐศาสตร์ กล่าว

ทั้งนี้ จากข้อมูลอี-คอมเมิร์ซในประเทศไทย พบว่า คนไทยมีมูลค่าการซื้อขายสูงสุดเพียงแค่ 4 พันบาทต่อครั้ง ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับอเมริกาที่ผู้ซื้อกล้าที่จะซื้อสินค้าออนไลน์ในหลักหมื่นบาท แสดงให้เห็นชัดเจนว่าคนไทยไม่กล้าที่จะซื้อของผ่านระบบออนไลน์ เพราะคิดว่าหากตัดสินใจซื้อสินค้าในราคาที่สูงเมื่อเกิดปัญหาขึ้นจะติดต่อกับใคร หรืออาจจะต้องเข้าสู่ขั้นตอนการฟ้องร้องต่อศาลทำให้เสียเวลาจึงไม่อยากซื้อเพื่อตัดปัญหา

ดังนั้น เพื่อป้องกันในส่วนของปัญหาดังกล่าว สพธอ.จึงตั้งเว็บไซต์ที่เป็นตัวกลางเพื่อหาพันธมิตรที่ต้องการขายสินค้าออนไลน์ลิงก์กับเว็บไซต์ของ สพธอ.ในชื่อ Thaiemarket. com ศูนย์กลางผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซไทย โดย สพธอ.จะมอบโลโก้เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้ และพันธมิตรทุกรายจะต้องผ่านการตรวจสอบเว็บไซต์ สินค้า และคุณสมบัติอื่น ๆ จาก สพธอ.ก่อน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเอกชนทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีเว็บไซต์ที่ร่วมเป็นพันธมิตรกับ สพธอ.แล้วกว่า 100 เว็บไซต์ หลังจากเปิดเว็บไซต์ไปเมื่อปลายปี 2557 ที่ผ่านมา ส่วนมากเป็นเว็บไซต์ประเภทสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เอสเอ็มอี โอทอป เป็นต้น ทั้งนี้ตั้งเป้าสิ้นปีนี้จะมีพันธมิตรที่ผ่านการคัดเลือกจาก สพธอ.กว่า 500 เว็บไซต์

“เราไม่รู้ว่าพันธมิตรที่ร่วมกับเรามีการซื้อขายกันมากน้อยเพียงใด เราเป็นเพียงศูนย์กลางที่ลิงก์ไปยังเว็บไซต์ของพันธมิตร

ต่าง ๆ ที่ผู้ซื้อสามารถเข้ามาดูร้านค้าพันธมิตรผ่านเว็บไซต์ Thaiemarket.com ซึ่ง สพธอ.นอกจากจะเป็นศูนย์กลางให้พันธมิตรแล้วยังให้คำแนะนำกับพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง”

สิ่งที่จะสร้างความเชื่อมั่นและเพิ่มมูลค่าการซื้อขายอี-คอมเมิร์ซให้กับสินค้าประเทศไทยคือ สพธอ.จะตั้งศูนย์ระงับข้อพิพาททางออนไลน์ เพราะผู้ซื้อจะมั่นใจว่าหากซื้อสินค้าผ่านพันธมิตรของ Thaiemarket.com เมื่อมีปัญหา สพธอ.จะทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยหรือเข้าสู่ขั้นตอนการฟ้องร้องต่อศาลให้ โดยจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ เพื่อให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายสามารถเจรจาและขอคำปรึกษาผ่านออนไลน์ได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม มูลค่าการซื้อขายอี-คอมเมิร์ซในประเทศไทยปี 2556 อยู่ที่ราว 744 ล้านบาท ถือว่าน้อยมาก จากการวัดจีดีพีเศรษฐกิจประเทศไทย หากประชาชนประเทศไทยสามารถเข้าถึงอินเทอร์ เน็ตได้ 10% จะสามารถเพิ่มจีดีพีให้กับประเทศได้ 1% ซึ่งการที่รัฐบาลพยายามผลักดันนโยบายเศรษฐกิจ ดิจิตอล โดยเฉพาะการปูโครงสร้างพื้นฐานประเทศทำให้ประชาชน ทั่วประเทศไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ทั้งประเทศก็จะสามารถเพิ่มจีดีพีให้กับประเทศได้อีกมหาศาล

ทั้งนี้ อยากให้มีการทำงานแบบบูรณาการทั้งภาครัฐกับเอกชน เพราะปัจจุบันรัฐบาลต้องเปลี่ยนเป็นยุคใหม่ที่ไม่ต้องไปแข่งขันกับเอกชน ควรใช้ทรัพยากรประเทศให้ถูกต้อง ไม่ควรลงทุนซ้ำซ้อน รัฐควรเป็นตัวผลักดันให้เอกชนกับรัฐสามารถเดินหน้าไปด้วยกันได้

หากนับระยะเวลาที่ “ดร.รัฐศาสตร์” มานั่งบริหารงานที่ สพธอ.กลางเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ถือเป็นเวลาเพียงแค่ 2 เดือน ด้วยความตั้งใจผลักดันธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในไทยให้เติบโต จะต้องอาศัยแรงผลักดันหลายสิ่ง

แต่สิ่งสำคัญสุดคือการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อและผู้ขาย รัฐบาลจะต้องวางรากฐานความมั่นคงในธุรกิจอี-คอมเมิร์ซให้รอบด้าน โดยเฉพาะมาตรฐานความปลอดภัย.

กัญณัฏฐ์ บุตรดี
Kankanat25@gmail.com



ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 15 เมษายน 2558