Page 1 of 1

แท็กซี่’ผ่านแอพพลิเคชั่น โมเดลธุรกิจใหม่ที่น่าจับตา

Posted: 18 Apr 2015, 10:32
by brid.ladawan
‘แท็กซี่’ผ่านแอพพลิเคชั่น โมเดลธุรกิจใหม่ที่น่าจับตา

ธุรกิจเรียกบริการแท็กซี่ผ่านแอพพลิเคชั่น ถือเป็นโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่จริง ๆ ที่ได้นำเอาเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบาย มีความปลอดภัย ขณะที่คนขับก็ได้งานเพิ่มขึ้น

ปัญหาการเรียกใช้บริการแท็กซี่ในเมืองไทยยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ทั้งการถูกปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร โดยมีข้ออ้างว่า ต้องไปส่งรถ แก๊สใกล้หมด เส้นทางที่เรียกไปรถติดบ้าง หรือบางคันก็รอรับแต่ชาวต่างชาติ มีให้เห็นได้ในย่านท่องเที่ยวสำคัญ ๆ ในกรุงเทพฯ

ยังไม่นับรวมปัญหาเรื่องความปลอดภัยของผู้โดยสาร ที่เกิดคดีความเกี่ยวกับแท็กซี่ให้เห็นข่าวตามทีวี หนังสือพิมพ์ หรือการแชร์ปัญหาที่พบเจอเกี่ยวกับแท็กซี่ในโซเชียลเน็ตเวิร์กก็มีบ่อยครั้ง

แม้ทางหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบ คือ กรมการขนส่งทางบก จะพยายามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ “แท็กซี่” กับ “คนกรุง” น่าจะเป็นปัญหาที่ไม่มีวันหมดไปได้ หากการบริหารจัดการและควบคุมยังไม่รัดกุมและถูกบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจทั้งสองฝ่ายเพราะแท็กซี่ดี ๆ ที่มีจิตใจบริการก็มีจำนวนมาก ประกอบกับวัน ๆ หนึ่งมีแท็กซี่วิ่งออกมาให้บริการบนท้องถนนกรุงเทพฯมากถึง 8 หมื่นคันต่อวัน การทำให้ผู้โดยสารได้รับบริการดี ๆ 100% จึงเป็นเรื่องไม่ง่าย

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้เรียกบริการแท็กซี่ โดยอาศัยแอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟนโดยชูจุดเด่นที่ความรวด เร็ว และความปลอดภัยในการเรียกใช้บริการ ซึ่งบริษัทต่าง ๆ จากต่างประเทศก็มีการขยายเข้ามาให้บริการในไทยหลายราย แต่ธุรกิจนี้อาจจะยังเป็นสีเทา ไม่ถูกต้องตามกฎหมายของกรมการขนส่งทางบกทั้งหมด ดังที่ผู้ให้บริการรายหนึ่งเป็นข่าวในช่วงปลายปี 57 ที่ผ่านมา

นายวีร์ จารุนันท์ศิริ ผู้จัดการ บริษัท แกร็บแท็กซี่ ประเทศไทย กล่าวว่า ธุรกิจเรียกบริการแท็กซี่ผ่านแอพพลิเคชั่น ถือเป็นโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่จริง ๆ ที่ได้นำเอาเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบาย มีความปลอดภัย ขณะที่คนขับก็ได้งานเพิ่มขึ้น ช่วยประหยัดเรื่องพลังงานไม่ต้องวิ่งรถวนหาผู้โดยสารตลอดวัน การที่เป็นธุรกิจรูปแบบใหม่กฎหมายที่มีอยู่อาจจะออกมานาน ไม่สอดคล้องกับยุคสมัยและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ซึ่งที่ผ่านมากรมการขนส่งทางบก ได้เรียกผู้ประกอบการให้บริการเรียกแท็กซี่ผ่านแอพพลิเคชั่นรายอื่น ๆ รวมถึงแกร็บ แท็กซี่ เข้าไปร่วมประชุมและเสนอแนะปัญหาต่าง ๆ ให้ทางภาครัฐได้พิจารณาตั้งแต่เมื่อปลายปี 57 ต่อเนื่องมาจน ถึงปัจจุบันจำนวน 3-4 ครั้งแล้ว ก็เชื่อว่าเรื่องนี้จะได้ข้อสรุปและทางออกที่ดีให้กับทุกฝ่ายในอนาคต

“ทางแกร็บแท็กซี่พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับภาครัฐทุกเรื่อง หรือแม้แต่ที่มีข่าวว่ากรมการขนส่งทางบกมีความสนใจจะพัฒนาแอพพลิเคชั่น ขึ้นเอง ทางบริษัทก็พร้อมให้ความร่วมมือในการเสนอข้อมูลหรือการแนะนำระบบไปใช้เพราะสิ่งสำคัญในธุรกิจนี้ คือเรื่องการพัฒนาระบบและเทคโนโลยี ซึ่งหากภาครัฐเข้ามาสนับสนุนก็จะทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเพิ่มมากขึ้นขณะที่ผู้โดยสารก็ได้รับการบริการที่ดีขึ้น” นายวีร์ กล่าว

นายวีร์ กล่าวต่อว่า จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบกมีรถแท็กซี่ให้บริการทั้งระบบประมาณ 1.1 แสนคัน แต่จะมีการนำรถออกมาวิ่งรับส่งผู้โดยสาร ประมาณ 8 หมื่นคันต่อวัน ซึ่งปัจจุบันมีแท็กซี่เข้ามาเป็นสมาชิกของแกร็บแท็กซี่ประมาณ 1.5 หมื่นคัน และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการไปตั้งจุดรับสมัครและอบรมให้กับแท็กซี่ที่สนใจตามสถานีบริการเอ็นจีวี มากกว่า 10 จุดทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งแนวโน้มการเรียกใช้บริการผ่านแอพพลิเคชั่นมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากความนิยมการใช้สมาร์ทโฟนของคนไทย โดยเชื่อว่าประชากรในกรุงเทพฯที่มีอยู่ประมาณ 10 ล้านคนนั้น 60% ใช้โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน และจากเดือน ม.ค.-ธ.ค.ปี 2557 ที่ผ่านมาการเรียกใช้แท็กซี่ผ่านแกร็บแท็กซี่เติบโตมากถึง 10 เท่า และแท็กซี่บางคันสามารถรับงานได้มากถึง 20 เที่ยวต่อวัน

ทั้งนี้แกร็บแท็กซี่ ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือน ก.ค. 54 ในมาเลเซีย และเปิดตัวให้บริการที่มาเลเซียเป็นที่แรกเมื่อ 5 มิ.ย. 55 ส่วนในไทยเริ่มให้บริการเมื่อ ต.ค. 56 ปัจจุบันเปิดให้บริการใน 6 ประเทศ คือ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย สิงคโปร์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย และได้รับเงินลงทุนจากกลุ่มผู้ลงทุนต่าง ๆ แล้วกว่า 340 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในระยะเวลา 14 เดือน และมีผู้ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นไปใช้แล้วกว่า 3.8 ล้านคน มีการเรียกแท็กซี่ 7 คัน ผ่านแอพพลิเคชั่นในทุก ๆ 1 วินาที

“แม้จะเป็นรูปแบบธุรกิจใหม่ แต่ปัจจุบันก็มีผู้เข้ามาให้บริการในไทยหลายราย ซึ่งการแข่งขันของผู้ประกอบการจะรุนแรงมากขึ้นส่วนใหญ่จะเน้นการทำโปรโมชั่นพิเศษเพื่อดึงดูดสร้างฐานลูกค้าให้เข้ามาใช้งาน ซึ่งในส่วนของบริษัทก็ต้องพัฒนาระบบไอทีให้สามารถรองรับได้ ทั้งในส่วนของระบบหลังบ้าน และการนำระบบแผนที่มาใช้ให้ถูกต้องแม่นยำ ซึ่งในส่วนของแกร็บแท็กซี่เอง นอกจากในกรุงเทพฯ แล้วก็มีการทดลองให้บริการในเมืองพัทยาและจังหวัดเชียงรายด้วย ในอนาคตก็มีโอกาสขยายไปยังจังหวัดใหญ่อื่น ๆ เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น ฯลฯ ซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดด้วย ”

อย่างไรก็ตามในกรณีที่มีการร้องเรียนการใช้บริการแกร็บแท็กซี่ ถูกคนขับให้บริการไม่ดี แสดงกิริยาไม่สุภาพ ทางผู้บริหารแกร็บ แท็กซี่ บอกว่าบริษัทไม่ได้นิ่งนอนใจ เมื่อได้รับการร้องเรียนหรือเกิดกรณีแชร์ปัญหาผ่านโซเชียล เน็ตเวิร์ก จะรีบเข้าไปตรวจสอบและทำการแก้ปัญหาให้สำเร็จไม่เกิน 6 ชั่วโมง เนื่องจากบริษัทมีคอลเซ็นเตอร์ที่คอยรับเรื่องและตรวจสอบตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งหากพบว่าคนขับมีความผิด ก็จะมีบทลงโทษสูงสุด คือ แบนออกจากระบบไม่ให้ใช้แอพพลิเคชั่นอีกต่อไป

นายวีร์ กล่าวต่อว่า ล่าสุดบริษัท ได้เปิดให้บริการ แกร็บคาร์ (GrabCar) ซึ่งเป็นบริการรถรับส่งในระดับพรีเมียมผ่านแอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟน โดยจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการเนื่องจากรถจะไปรับถึงประตูบ้าน หรือจุดที่ต้องการและไปส่งยังจุดหมายปลายทางที่กำหนด มีจุดเด่นที่สามารถจองรถล่วงหน้าได้ 2 ชั่วโมงไปจนถึง 7 วัน และค่าบริการมีความโปร่งใส ผู้โดยสารจะทราบราคาที่แน่นอนก่อนออกเดินทาง และรถที่ให้บริการก็เป็นรถระดับพรีเมียมหรือลีมูซีน และมีมาตรฐานความปลอดภัยและความสะดวกสบายเช่นเดียวกับแกร็บแท็กซี่ ขณะที่ไม่ต้องกังวลเรื่องรถติด เนื่องจากไม่มีการคิดค่าบริการเพิ่มจากรถติด “แกร็บคาร์ ถือเป็นอีกหนึ่งบริการนอกเหนือจากแกร็บแท็กซี่ ที่เปิดให้บริการก่อนหน้านี้ โดยรถที่นำมาใช้ 70% จะเป็นคัมรี นอกจากนั้นก็มีเทียน่า แอคคอร์ด ฟอร์จูนเนอร์ และ

เมอร์เซเดสเบนซ์ ส่วนค่าบริการจะสมเหตุสมผล เริ่มต้นที่ 75 บาท และจะคิดอัตรากิโลเมตรละ 12.50 บาท ใน 0-10 กิโลเมตรแรก และกิโลเมตรละ 13.50 บาท ในกิโลเมตรต่อ ๆ ไป นอกจากนี้ยังมีบริการเรียกจากจุดใดก็ได้ในกรุงเทพฯ เพื่อไปส่งยังสนามบินสุวรรณภูมิในราคา 600 บาท ซึ่งหลังจากเริ่มให้บริการอย่างไม่เป็นทางการ 6 เดือน พบว่าใน 3 เดือนหลัง คือ ตั้งแต่ ม.ค.-มี.ค. 58 เติบโตมากถึง 3 เท่า ในทุก ๆ 1 วินาทีจะมีการเรียกแกร็บคาร์ 1 ครั้ง และปัจจุบันก็มีรถที่เข้าร่วมมากกว่า 100 คัน และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และที่สำคัญคนขับรถกว่า 85% มีงานในระบบต่อเนื่อง”

นายวีร์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันแกร็บคาร์มีเปิดให้บริการในฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทยเป็นประเทศที่สาม สำหรับรถที่เข้าร่วมกับแกร็บคาร์จะมีสองแบบ คือ คนที่มีรถเป็นของตนเอง และ บริษัทที่ทำธุรกิจรถลีมูซีน แต่ทั้งหมดคนขับจะต้องมีใบขับขี่รถรับจ้างสาธารณะถูกต้อง และรถที่นำมาวิ่งต้องจดทะเบียนรถยนต์บริการทัศนาจร (รย.10) ตามข้อกำหนดของกรมการขนส่งทางบก และต้องได้รับการอบรมจากบริษัทก่อนให้บริการทุกคัน

นอกจากนี้บริษัทยังอยู่ในช่วงทดลองเพิ่มบริการอื่น ๆ อาทิ แกร็บเอ็กซ์แอล ซึ่งเป็นบริการแอพพลิเคชั่นเรียกรถตู้ และแกร็บเอ็กซ์เพรส หรือแกร็บ แมสเซ็นเจอร์ ที่เป็นการเรียกบริการมอเตอร์ ไซค์ เพื่อใช้รับส่งเอกสารผ่านแอพพลิเคชั่นทั่ว กรุงเทพฯ ในราคาเริ่มต้น 35 บาท ฯลฯ

ซึ่งทั้งหมดถือเป็นธุรกิจใหม่ที่กำลังทดลองให้บริการและศึกษาความเป็นไปได้ของตลาดอยู่ก่อนที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเร็ว ๆ นี้.

จิราวัฒน์ จารุพันธ์
JirawatJ@dailynews.co.th


ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 14 เมษายน 2558