Page 1 of 1

แคสเปอร์สกี้พร้อมรุกตลาดองค์กร หวังเพิ่มรายได้ 15%

Posted: 24 Apr 2015, 13:38
by brid.ladawan
แคสเปอร์สกี้พร้อมรุกตลาดองค์กร หวังเพิ่มรายได้ 15%

แคสเปอร์สกี้พร้อมรุกตลาดองค์กร หวังเพิ่มรายได้ 15%
นายจิมมี่ ฟง ผู้อำนวยการฝ่ายช่องทางการขาย แคสเปอร์สกี้ แลป เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แคสเปอร์สกี้ พร้อมรุกตลาดองค์กรเพิ่มเน้นเจาะ 3 ตลาดหลัก สถาบันการเงิน ลูกค้าภาครัฐ และอุตสาหกรรมการผลิต หวังเพิ่มรายได้ในตลาดนี้อีก 15% ในปีนี้ เผยผลวิจัยพบมัลแวร์เพิ่มสูงถึง 315,000 ตัวต่อวัน และโจมตีแอนดรอยด์สูงถึง 98.05% ชี้ไทยอยู่ในลำดับที่ 26 จาก 200 ประเทศทั่วโลกที่เสี่ยง เพราะการใช้งานอินเทอร์เน็ตเติบโตเร็ว พร้อมแนะวิธีป้องกันมัลแวร์เฮลซิ่งที่กำลังแพร่หลายในภูมิภาคนี้

นายจิมมี่ ฟง ผู้อำนวยการฝ่ายช่องทางการขาย แคสเปอร์สกี้ แลป เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า แคสเปอร์สกี้ เตรียมเพิ่มการทำตลาดในส่วนของกลุ่มลูกค้าองค์กรเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ 3 ตลาดหลัก ประกอบด้วย กลุ่มสถาบันการเงิน กลุ่มลูกค้าภาครัฐ และกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต ที่กำลังมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยค่อนข้างสูง โดยอยู่ระหว่างการหาพาร์ตเนอร์เพื่อเข้าไปทำตลาด ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของกลุ่มลูกค้าองค์กรอยู่ที่ 50% และกลุ่มลูกค้าทั่วไปอยู่ที่ 50%

ทั้งนี้ การรุกตลาดองค์กรเพิ่มขึ้น แคสเปอร์สกี้ คาดหวังว่าจะสามารถเพิ่มรายได้ให้แก่กลุ่มองค์กรอีกประมาณ 15% ในปีนี้ นอกจากนี้ แคสเปอร์สกี้ยังได้เปิดออฟฟิศใหม่ที่ประเทศสิงค์โปร์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

แคสเปอร์สกี้ ได้ทำการวิจัยทางด้านความปลอดภัยพบว่า มีการตรวจพบมัลแวร์มากกว่า 315,000 ตัวในแต่ละวัน และระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญที่ถูกโจมตีมากที่สุด โดยเฉพาะในการใช้งานโมบายที่มัลแวร์มีการโจมตีระบบแอนดรอยด์ถึง 98.05% ส่วนที่เหลือเป็นระบบปฏิบัติการอื่นๆ นอกจากนี้ มัลแวร์เฮลซิ่งกำลังเป็นที่แพร่หลายในภูมิภาคนี้

“ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกโจมตีอยู่ลำดับที่ 26 จาก 200 ประเทศทั่วโลก และมีจำนวนการตรวจพบมัลแวร์ถึง 119,213 รายการ ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนมีนาคม 2015 โดยการตกเป็นเป้าโจมตีที่สำคัญนั้นเนื่องจากกำลังมีการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เป็นจำนวนมาก รวมไปถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานโซเชียลมีเดีย การใช้งานธุรกรรมทางการเงินผ่านมือถือ ซึ่งล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดความเสี่ยงทั้งสิ้น”

นายจิมมี่ กล่าวว่า สำหรับการป้องกันการโจมตีของมัลแวร์เฮลซิ่งนั้น ผู้ใช้งานไม่ควรเปิดไฟล์แนบที่น่าสงสัยจากคนที่ไม่รู้จัก ต้องระมัดระวังแหล่งเก็บรักษาพาสเวิร์ดที่มีไฟล์ SCR หรือไฟล์สั่งการอื่นข้างใน และถ้าไม่แน่ใจไฟล์แนบอันไหน ลองเปิดจากแซนด์บ็อกก่อน ทำการติดตั้งระบบปฏิบัติการที่ทันสมัย และติดตั้งแพทช์ครบ และอัปเดตแอปพลิเคชันอย่างสม่ำเสมอ เช่น ไมโครซอฟท์ออฟฟิศ จาวา อโดบี แฟลช เพลย์เยอร์ และอโดบี รีดเดอร์

ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 23 เมษายน 2558