Page 1 of 1

ส่งออกรถยนต์ มี.ค.สถิติสูงสุด สวนทางยอดขายภายในเหลือแค่ 7 หม

Posted: 28 Apr 2015, 08:59
by brid.ladawan
ส่งออกรถยนต์ มี.ค.สถิติสูงสุด สวนทางยอดขายภายในเหลือแค่ 7 หมื่นคัน

ยอดส่งออกรถยนต์เดือน มี.ค. ทะลุ 1.27 แสนคัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ดันยอดรวม 3 เดือนโต 12.6% แต่ยอดขายในประเทศร่วง 11.8% หวังยอดขายรวมโตตามเป้า 2.15 ล้านคัน ขณะที่ “ฉัตรชัย” เผยส่งออกสินค้าไทย มี.ค. ร่วง 4% คาดทั้งปีโตไม่ต่ำกว่า 1% พร้อมสั่ง รมช.พาณิชย์ เดินสายแจงอียู ไทยแก้ปัญหาประมงต่อเนื่อง

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงยอดขายรถยนต์ว่า ในเดือน มี.ค.58 มียอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 127,619 คัน เพิ่มขึ้น 12.63% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นปริมาณการส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ไทยเริ่มส่งออกรถยนต์ในปี 31 ส่วนช่วง 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค.) 58 ส่งออกได้แล้ว 328,232 คัน เพิ่มขึ้น 12.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่า 146,884 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.74% โดยตลาดหลักอยู่ในภูมิภาคเอเชีย สัดส่วน 22.94% ออสเตรเลีย 22.61% ตะวันออกกลาง 22.24% อเมริกากลางและใต้ 12.02% ยุโรป 11.75% อเมริกาเหนือ 4.72% และแอฟริกา 3.72%

สาเหตุที่ยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเพิ่มขึ้นมาก เพราะตลาดโลกต้องการรถอีโคคาร์สูงมาก ทำให้ไตรมาส 1 การส่งออกไปตลาดยุโรปเพิ่มขึ้น 71.84% อเมริกาเหนือ เพิ่ม 126.02% อเมริกากลางและใต้ เพิ่ม 12.03% ออสเตรเลียโตเพิ่ม 29% ขณะที่เอเชียกลับมาเป็นบวกที่ 6.42% แต่ตลาดหลักอย่างตะวันออกกลาง ยังลด 11.09% แอฟริกาลด 26.48% เพราะมีสงคราม และราคาน้ำมันโลกที่ลดลง ทำให้รายได้จากการขายน้ำมันลดลง และฉุดกำลังซื้อลดลงตาม

ส่วนตลาดในประเทศเดือน มี.ค.58 มียอดขาย 74,117 คัน ลดลง 11.7% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ทำให้ยอดขายในประเทศไตรมาสแรก มี 197,787 คัน ลดลงจากปีก่อน 11.8% สาเหตุที่ยอดขายลดลงมาจากการลงทุนและการเบิกจ่ายจากภาครัฐต่ำกว่าเป้าหมาย ราคาสินค้าเกษตรยังไม่ดีขึ้น หนี้ครัวเรือนสูง ทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดปล่อยสินเชื่อ รวมทั้งการลงทุนภาคเอกชนยังชะลอตัว โดยกลุ่มรถบรรทุกที่ผลิตเพื่อขายในประเทศ มีจำนวน 1,744 คัน เพิ่มขึ้น 29.71% สะท้อนให้เห็นว่าภาคเอกชนเริ่มมั่นใจโครงการลงทุนภาครัฐที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงลงทุนเพิ่ม

นายสุรพงษ์กล่าวต่อถึงยอดจำหน่ายรถจักร-ยานยนต์ในไตรมาสแรกของปีนี้ว่า มียอดขายภายในประเทศ 478,942 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10.91% สะท้อนว่าตลาดรากหญ้าเริ่มฟื้นตัว ส่วนการส่งออกรถจักรยานยนต์ไตรมาสแรก 264,276 คัน เพิ่มขึ้น 19.8% “กำลังรอดูตัวเลขการจำหน่ายรถยนต์ที่ชัดเจน อีก 2 เดือน จึงจะสรุปได้ว่าจะลดเป้าหมายหรือไม่ แต่มองว่าหากยอดส่งออกรถยนต์เติบโต 10% โดยเฉลี่ยทั้งปี จะทดแทนยอดขายภายในประเทศที่ลดลงได้ และอาจทำให้ยอดขายรวมทั้งปีอยู่ในเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 2.15 ล้านคัน จากปีก่อนที่มียอดขาย 1.88 ล้านคัน”

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า มูลค่าการส่งออกของไทยในเดือน มี.ค. 58 ติดลบประมาณ 4% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราติดลบที่ต่ำกว่าเดือน ก.พ.58 ที่ติดลบ 6% แต่จะแถลงข่าวอย่างเป็นทางการวันที่ 28 เม.ย.นี้ แต่ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศหารือกับภาคเอกชนในสินค้า 10 กลุ่ม หาทางผลักดันให้มูลค่าการส่งออกในปีนี้ขยายตัวได้มากที่สุดแล้ว โดยในเดือน มิ.ย.นี้ จะเดินหน้าเจาะตลาดเป็นรายสินค้า คาดว่ามูลค่าการส่งออกปีนี้ขยายตัวไม่ต่ำกว่า 1%

ส่วนการแก้ไขปัญหาสหภาพยุโรป (อียู) ให้ใบเหลืองไทย เพราะทำประมงผิดระเบียบว่าด้วยการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม (ไอยูยู) ขณะนี้ ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก แต่มอบหมายให้ รมช.พาณิชย์ นำคณะเดินทางไปอียูปลายเดือน เม.ย.นี้ เพื่อทำความเข้าใจถึงการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ของไทยให้กับภาคเอกชนและภาครัฐของยุโรปได้เข้าใจ ยืนยันว่า ไทยได้ร่วมกันทุกหน่วยงานแก้ไขปัญหาอย่างดีที่สุด

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำโครงการ “พี่จูงน้อง” เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการรายกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) มีโอกาสเปิดตลาดส่งออกไปต่างประเทศ โดยให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ให้คำแนะนำในเรื่องต่างๆ เช่น การตลาด การออกแบบสินค้า และการจัดจำหน่าย ซึ่งได้แบ่งตลาดเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ตลาดจีน สินค้าอาหาร อุปโภค, ตลาด CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม) และอาเซียน สินค้าอาหารทานเล่นและเครื่องดื่ม, เวียดนามและอินโดนีเซีย สินค้าแฟชั่น และตลาดกัมพูชา สินค้าแฟชั่น สำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ ได้แก่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กลุ่มเซ็นทรัล กลุ่มสหพัฒน์ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ และบริษัท ล็อกซเล่ย์

ด้านนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า ซีพีมีบริษัทในเครือ 8 บริษัท ที่จะช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่มีความพร้อมออกไปทำตลาดต่างประเทศ โดยจะเน้นตลาดจีนและอาเซียน เพราะอีก 5 ปีข้างหน้า ตลาดจีนจะมีเศรษฐกิจเทียบเท่าสหรัฐฯ ส่วนอาเซียนจะเทียบเท่ากับยุโรป แต่รัฐควรจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเอสเอ็มอีในการพัฒนาสินค้า แบรนด์ และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในต่างประเทศ

ส่วนนายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไทยเบฟได้คัดเลือกเอสเอ็มอี และนำมาฝึกอบรมเพื่อเตรียมความพร้อม ก่อนที่จะนำไปทำตลาดทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่นายปริญญ์ จิริวัฒน์ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด กล่าวว่า เซ็นทรัลมีการลงทุนศูนย์การค้าทั้งในเวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งจะนำสินค้าของเอสเอ็มอีเข้าไปทำตลาดในประเทศเหล่านี้.


ที่มา ไทยรัฐออนไลน์
วันที่ 28 เม.ย. 2558