Page 1 of 1

เมื่อคนวัยเยาว์ เขาวางแผนการเงิน

Posted: 28 Apr 2015, 11:05
by brid.ladawan
เมื่อคนวัยเยาว์ เขาวางแผนการเงิน

เมื่อคนวัยเยาว์ เขาวางแผนการเงิน
สวัสดีค่ะท่านผู้อ่านทุกท่าน ตอนนี้ก็เข้าสู่ช่วงปลายเดือนเมษายนกันแล้วนะคะ หลังจากที่หลายๆท่านได้หยุดเที่ยวพักผ่อนยาวกับเทศกาลสงกรานต์กันแบบอิ่มเอมใจไปแล้ว ใครที่มีบุตรหลานอยู่ในวัยเรียน ก็จะเป็นที่ทราบและเข้าใจกันดีว่า เรากำลังจะเริ่มเข้าสู่อีกหนึ่งเทศกาลประจำปีแล้ว

โดยเทศกาลที่ว่านี้ ไม่ใช่วันหยุดพักผ่อนหย่อนใจแต่อย่างใดนะคะ แต่มันคือ “เทศกาล Back to School” ซึ่งพูดได้เลยว่าเป็นช่วงเวลาที่แต่ละครอบครัว โดยเฉพาะบรรดาคุณแม่ทั้งหลายจะหัวฟูเป็นพิเศษ เพราะเป็นช่วงเวลาแห่งความรีบเร่งวุ่นวาย แต่ถึงจะรีบเร่งแค่ไหนก็ยังแฝงไปด้วยความสุขใจอยู่เสมอนะคะ

โดยหลังจากที่เหล่าบรรดาพ่อแม่ต้องรับหน้าที่อันใหญ่หลวงในการดูแลลูกๆ แทนครูบาจารย์ตลอดช่วงปิดเทอมที่ผ่านมา ก็คงจะนึกภาพตามได้ทันทีนะคะ ว่าหน้าที่อันยิ่งใหญ่ที่กล่าวถึงนี้คืออะไร แต่หากท่านใดที่ยังไม่เคยมีลูกมีหลาน หากมีเวลาว่าง อยากให้ลองไปสังเกตุสีหน้าท่าทาง รวมถึงอัปกริยาของคุณแม่ทั้งหลายที่กำลังส่งลูกเข้าโรงเรียนในช่วงเช้าของการเปิดเทอมวันแรกดู ท่านจะได้เห็นรอยยิ้มแห่งความสุขเปรอะเปื้อนไปทั่วหน้า ประหนึ่งว่าวันนั้นเป็นวันประกาศอิสรภาพของบรรดาผู้ปกครองเลยทีเดียวค่ะ แต่ถึงจะแอบยิ้มดีใจกันอย่างไรก็ตาม ก็ยังจะคงมีคุณพ่อคุณแม่อีกกลุ่มหนึ่งที่แอบเหงาและเศร้าอยู่เหมือนกัน เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยนัวเนียพันตัวอยู่ด้วยกันทั้งวัน แต่พอเปิดเทอมก็ต้องแยกย้ายกันไปทำหน้าที่ของตน ก็เลยทำให้เกิดอาการซึมกันไปบ้างเล็กน้อยเป็นธรรมดา

เกริ่นมาเสียตั้งยาวไม่ใช่อะไรนะคะ ก็เพื่อที่วันนี้จะขออนุญาตเล่าสู่กันฟังในเรื่องเกี่ยวกับ “เงินๆทองๆ ของคนวัยเยาว์” ว่าเราควรมีแนวทางการสอนเค้าอย่างไรดี เพราะการปลูกฝังนิสัยการออมและการใช้เงินที่ดีนั้น เราควรเริ่มทำกันตั้งแต่ในขณะที่ลูกหลานของเรายังเป็นวัยเยาว์ เพื่อที่จะช่วยเตรียมความพร้อมและนำชีวิตไปสู่ความมั่นคงทางการเงินในอนาคตระยะยาว

อีกทั้งเพื่อเป็นการบ่มเพาะวินัยทางการเงินที่ดีไว้ก่อน และเมื่อเด็กๆเติบโตขึ้นและก้าวเข้าสู่ช่วงวัยทำงานก็จะสามารถเรียนรู้วิธีการวางแผนการจัดสรรรายได้ให้เพียงพอกับการออมเงินตามเป้าหมายตลอดจนรายจ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม และนี่ก็คือสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทุกท่านปรารถนาและอยากจะเห็นลูกๆประสบความสำเร็จในเรื่องของเงินๆทองๆกัน รวมถึงตัวผู้เขียนเองด้วยที่ไม่จำเป็นต้องหาได้เยอะที่สุดแต่ “การบริหารเงินให้เป็น" นั้นต่างหากที่สำคัญกว่า

นอกจากนี้ ตัวผู้เขียนเองก็ยังเป็นคนที่ชอบเล่าเรื่องเหตุการณ์ต่างๆให้ลูกฟัง ทั้งจากประสบการณ์ของตัวเองหรือจากที่ได้เห็น ได้ฟัง และได้อ่านมา ซึ่งในทุกๆครั้งเล่า บรรดาลูกๆก็จะมีสีหน้าและท่าทางที่ตั้งใจฟังมากๆ ซึ่งหากเป็นเรื่องที่เข้าใจยากก็จะมีการสอดแทรกมุขตลกเข้าไปแบบขำๆ หรือมีการเปรียบเทียบเปรียบเปรยกัน เพื่อให้เค้าสามารถเข้าใจและผ่อนคลายกันได้มากขึ้น เนื่องจากวัตถุประสงค์จริงๆ ที่ผู้เขียนตั้งใจเอาไว้ก็ คือ ต้องการให้เค้าสามารถซึมซับ เรียนรู้ข้อคิดและบทเรียนต่างๆ แบบไม่ต้องใช้การท่องจำนั่นเองค่ะ

และจากการถ่ายทอดประสบการณ์ของเรา ท่านผู้อ่านอาจมองไม่เห็นภาพว่า การนำเรื่องบริหารเงินทองไปปรับตั้งแต่วัยเยาว์เค้าทำกันอย่างไร ดังนั้น จึงขอยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่ประทับใจมาแชร์ให้ทราบกันนะคะ

เรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วงวันคริสต์มาสเมื่อปลายปีที่ผ่านมา โดยลูกสาวคนโตอายุอานามก็ประมาณ 13 ขวบ ได้แอบเอาซองสีแดงสดปิดผนึกเป็นอย่างดีมามอบให้กับมือ พอเมื่อลองแกะซองดูก็พบว่าข้างในนั้นมีเงินสดอยู่จำนวนหนึ่ง ทั้งที่เป็นธนบัตร เหรียญสิบและเหรียญบาทปะปนกันไป รวมๆก็นับได้เป็นมูลค่า 470 บาท ที่สำคัญ บริเวณซองมีข้อความเขียนระบุไว้ว่า “For You, .. Mom and Dad … in celebration of Christmas / New Year” พออ่านจบเท่านั้นล่ะค่ะ มีน้ำตาซึมเลย จากนั้นเลยหันไปขอบคุณลูกสาวพร้อมกับถามว่า หาเงินมาจากที่ไหน? ลูกสาวก็ตอบว่า ได้แอบไปรับจ๊อบสอนการบ้านเพื่อนมาโดยคิดค่าสอนครั้งละ 10 บาท และบวกกับเงินค่าขนมที่เหลือเก็บในแต่ละวัน ซึ่งจริงๆแล้วตั้งใจจะให้คุณพ่อคุณแม่ถึง 1,000 บาท แต่เนื่องจากระหว่างทางที่เก็บเงินทานเก่งไปหน่อย จึงเหลืออยู่เท่านี้ค่ะ

เมื่อผู้เขียนฟังแล้วก็ถึงกับอึ้งเป็นรอบที่สอง และหันไปบอกกับลูกว่า ดีใจที่ลูกมีความตั้งใจที่ดีในการเก็บเงินเพื่อเป็นของขวัญให้กับคุณพ่อคุณแม่ มากน้อยไม่สำคัญ ที่สำคัญคือ ความตั้งใจที่จะให้มากกว่าและจากของขวัญชิ้นนี้เอง ทำให้ผู้เขียนทราบว่า สิ่งที่เราทำในฐานะพ่อแม่ ทั้งคำพร่ำสอนลูก ไม่ว่าจะในรูปแบบของเรื่องเล่านิทาน หรือจากประสบการณ์ของเราเองนั้น มันไม่ได้เป็นการสูญเปล่า เด็กๆสามารถรับรู้และนำไปคิดต่อจนถึงขั้นนำมาปฏิบัติ โดยที่เราก็ไม่ต้องไปบังคับแต่อย่างใด แม้ว่าในบางเรื่องเราอาจต้องมีการสอนเพิ่มหรือพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจใหม่ที่ถูกต้องมากขึ้น

เช่น ในเรื่องที่มาของเงิน ที่ลูกเราแอบไปคิดเงินค่าสอนการบ้านเพื่อน ซึ่งผู้เขียนก็จะสอนและชวนให้มองอีกมุมหนึ่งเหมือนกันว่า หากเราสอนเพื่อนโดยไม่คิดเงิน เพื่อนอาจจะรู้สึกดีมากกว่า และเราเองก็จะสามารถเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ให้ได้อีกทาง ซึ่งเป็นความสุขอีกรูปแบบหนึ่งที่เงินไม่สามารถซื้อได้ โดยลูกสาวก็สัญญาว่าจะนำไปปฏิบัติตาม แต่แอบหยอดท้ายนิดนึงว่า “แต่หนูไม่ได้เก็บทุกคนนะคะ คนไหนเรียบร้อย หนูไม่คิดเงิน ... แต่คนไหนซ่าส์ เล่นเกมส์ ไม่สนใจเรียน หนูต้องคิดค่ะ “..

ฟังแล้วก็ยิ้มในใจว่า ยังแอบมีคุณธรรมเล็กน้อยนะเนี่ยลูกเรา สุดท้ายนี้ ผู้เขียนก็หวังว่าบทความในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับทุกท่านที่กำลังมีบุตรหลานอยู่ในวัยเยาว์และต้องการสอนให้เค้าเกิดมุมมองที่ดีในเรื่องการวางแผนการเงินกันนะคะ แล้วพบกันใหม่ครั้งหน้า สวัสดีค่ะ

ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 27 เมษายน 2558