Page 1 of 1

'สรรพากร' จัดโปรโมชั่น 'ไม่สอบภาษีย้อนหลัง' จูงใจต้อน 'เอสเอ

Posted: 06 May 2015, 09:59
by brid.ladawan
'สรรพากร' จัดโปรโมชั่น 'ไม่สอบภาษีย้อนหลัง' จูงใจต้อน 'เอสเอ็มอี' หนีภาษีเข้าระบบ

“กรมสรรพากร” เปิดช่วงโปรโมชั่น “ไม่สอบภาษีย้อนหลัง” เอสเอ็มอี หวังต้อนบริษัทที่เคยเลี่ยงภาษีกว่า 1.5 แสนรายมาเข้าระบบ ขจัดปัญหา “บัญชีผี” หนีภาษี ขณะที่ กสอ.สำรวจความคิดเห็นเอสเอ็มอีล่าสุด บอกอยู่ยาก แข่งขันแรง คนซื้อน้อย แนะรัฐบาลอัดฉีดเงินกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ในเดือน พ.ค.นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบโครงการก้าวเดินไปด้วยกันระหว่างกรมสรรพากรกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ที่มีประมาณ 300,000 ราย จะไม่ถูกตรวจสอบภาษีย้อนหลัง หากการลงบัญชีทางด้านรายรับและรายจ่ายของเอสเอ็มอีมีสมุดบัญชีเพียงเล่มเดียวคือ เล่มที่ยื่นเสียภาษีให้แก่กรมสรรพากร โดยช่วงที่ผ่านมากรมสรรพากรได้หารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอ การค้าแห่งประเทศไทย และสภาเอสเอ็มอีไทย กรณีภาคเอกชนเรียกร้องการนิรโทษกรรมภาษีให้แก่เอสเอ็มอี แต่กรมไม่เห็นด้วย เพราะถือว่าผู้ประกอบการที่มีความผิดในอดีตมีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงภาษีและถูกจับได้เป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมายสรรพากรที่ต้องถูกลงโทษ

แต่ในกรณีที่ผู้ประกอบการได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของกรมสรรพากร กล่าวคือ มีสมุดบัญชีเพียงเล่มเดียว และยังเป็นเล่มที่ยื่นภาษีให้แก่กรมสรรพากรอีกด้วยนั้น กรมสรรพากรจะขอกระทรวงการคลังและ ครม.ไม่ตรวจสอบภาษีย้อนหลังสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเหล่านี้ เพราะถือว่าเป็นการก้าวเดินไปด้วยกัน แต่หากพบว่ามีข้อผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆทางบัญชี เช่น ลงบัญชีรายได้ไม่หมดถ้วนเพราะตกหล่น เป็นต้น กรม สรรพากรจะไม่ถือเป็นสาระสำคัญว่าผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีรายนั้นหลีกเลี่ยงภาษี

“ในอดีตที่ผ่านมา กรมสรรพากรเคยมีโครงการลักษณะเช่นนี้มาแล้ว แต่ไม่ได้มีการลงนามเป็นลายลักษณ์อักษร จึงไม่ถือว่ามีผลในทางปฏิบัติ แต่ในครั้งนี้กรมสรรพากรจะเสนอให้กระทรวงการ คลัง และ ครม.รับทราบ โดยคาดว่าภายในเดือน พ.ค.นี้ จะมีการลงนามร่วมกันระหว่างกรมสรรพากรและภาคเอกชน”

นายประสงค์กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการจดทะเบียนบริษัทนิติบุคคลประมาณ 420,000 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีประมาณ 300,000 ราย ซึ่งกรมสรรพากร มั่นใจว่ามีเอสเอ็มอีที่มีสมุดบัญชี 2 เล่ม หรือ 3 เล่มอยู่ประมาณ 50% หรือไม่น้อยกว่า 150,000 ราย ดังนั้น หากสามารถดึงเอสเอ็มอีที่มีการลงบัญชี ไม่ถูกต้องเข้าสู่ระบบได้มากขึ้น โดยไม่มีการตรวจ สอบภาษีย้อนหลังก็จะทำให้เอสเอ็มอีเหล่านี้เดินก้าวไปข้างหน้า และยังมีข้อดีหลายข้อ คือ 1.เอสเอ็มอีเหล่านี้จะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น เพราะมีหลักฐานเอกสารทางบัญชีที่ถูกต้อง 2.เกิดความโปร่งใสและไม่ต้องถูกตรวจสอบย้อนหลัง และ 3.ยังเป็นการรองรับเข้าสู่ประชาคมอาเซียน หรือเออีซี

นอกจากนี้ กรมสรรพากรกำลังอยู่ระหว่างการหารือภายในกรมเพื่อเตรียมนำรายชื่อสำนักงานบัญชีที่ดีประกาศลงเว็บไซต์ของกรม หลังจากในช่วงที่ผ่านมาพบผู้ที่กระทำความผิดทางภาษีจำนวนมาก เพราะถูกแนะนำให้ลงบัญชีอย่างผิดๆ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีจากสำนักงานบัญชีที่ไม่ได้มาตรฐาน ดังนั้น หากกรมสรรพากรประกาศรายชื่อ บริษัทบัญชีที่มีคุณภาพก็เท่ากับได้ขึ้นทะเบียนให้แก่สำนักงานบัญชีเหล่านี้ว่าเป็นบริษัทที่ถูกต้อง ทั้งนี้ กรมสรรพากรไม่มีอำนาจสั่งปิดสำนักงานบัญชี แต่ได้มีการแจ้งไปยังกระทรวงพาณิชย์และสมาคมวิชาชีพบัญชีเพื่อลงโทษเท่านั้น

ด้านนายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ว่า กสอ.ได้สำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต่อสภาพเศรษฐกิจในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา โดยมีกลุ่มตัวอย่าง 387 ราย โดยในประเด็นคำถามเรื่องการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองว่าเรื่องความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจเป็นเรื่องที่สำคัญสูงสุด

ขณะที่ผู้ประกอบการมีความเห็นว่าธุรกิจมีสภาพการแข่งขันสูง ทั้งจากปัจจัยในประเทศและต่างประเทศ ทั้งเรื่องค่าแรงต่ำกว่า หรือมีเทคโนโลยีระดับสูง และการแข่งขันกับบริษัทขนาดใหญ่ ทั้งในส่วนของต้นทุนวัตถุดิบ แรงงาน เทคโนโลยี และการขนส่ง รองลงมาเป็นเรื่องของสถานการณ์เศรษฐกิจ ยอดขาย ตลาด และลูกค้า ผู้ตอบแบบ สอบถามส่วนใหญ่มีความเห็นว่า ยอดขายลดลงสภาพเศรษฐกิจโดยรวมชะลอตัว ผู้บริโภคระมัดระวังในการใช้จ่าย โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือย ส่วนในเรื่องของแรงงานผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ มองว่าบริษัทจะมีการลดการจ้างงานลง แต่ขณะเดียวกันก็มีปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานฝีมือและแรงงานทักษะ

ส่วนประเด็นที่เอสเอ็มอีต้องการให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือมากที่สุด คือ การพัฒนาสถานประกอบการ โดยต้องการให้รัฐเข้ามาช่วยเหลือพัฒนาเทคโนโลยี การผลิตบรรจุภัณฑ์ องค์ความรู้ เครื่องจักร สนับสนุนงานวิจัยการพัฒนาคุณภาพสินค้า และพัฒนาองค์ความรู้ให้บุคลากร เสริมสร้างทักษะแรงงาน รองลงมาเป็นเรื่องการส่งเสริมการตลาด ส่วนใหญ่ต้องการความช่วยเหลือช่องทางการตลาดในต่างประเทศ จัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ การออกบูธต่างประเทศ ส่วนการช่วยเหลือด้านการเงิน โดยผู้ประกอบการต้องการให้รัฐจัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ นอกจากนั้น ยังเสนอรัฐบาลส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย รณรงค์ให้คนไทยใช้ของไทย อัดฉีดสภาพคล่องกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน.


ที่มา ไทยรัฐออนไลน์
วันที่ 6 พ.ค. 2558