Page 1 of 1

ส่อง "คนซีพี" โต้โซเชียลปัดผูกขาดการค้า อ้างร้านเซเว่นมีแค่

Posted: 07 May 2015, 11:23
by brid.ladawan
ส่อง "คนซีพี" โต้โซเชียลปัดผูกขาดการค้า อ้างร้านเซเว่นมีแค่ 1% - "ธนินท์" สั่งจับตาบอยคอต

ส่อง คนซีพี โต้โซเชียลปัดผูกขาดการค้า อ้างร้านเซเว่นมีแค่ 1% - ธนินท์ สั่งจับตาบอยคอต
ธนินท์ เจียรวนนท์
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ฟังความรอบด้าน! ส่องเสียงสะท้อนคนซีพี ตอบโต้กระแสโซเชียลบอยคอตไม่เข้าร้านเซเว่นฯ-งดซื้อสินค้าซีพี ยันไม่ได้ผูกขาดทางการค้าเพราะไม่ได้ถนัดทุกอย่าง ปัดมีนโยบายทำลายผู้ค้ารายย่อย อ้างร้านเซเว่นฯ มีเพียงร้อยละ 1 จากร้านโชห่วย 8 แสนรายทั่วไทย อีกด้านสะพัด "เจ้าสัวธนินท์" สั่งตรวจสอบเบื้องหลังสงครามทุบหม้อข้าว

จากกรณีที่ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ซึ่งไม่เป็นที่แน่ชัดว่ากลุ่มไหน ได้ส่งข้อความพร้อมรณรงค์ไม่เข้าร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น และไม่ใช้สินค้าเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ตั้งแต่วันที่ 7-11 พ.ค. เป็นเวลา 5 วัน หลังกระแสข่าวและกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์ว่าเอารัดเอาเปรียบบริษัทขนาดเล็ก และมีแนวคิดผูกขาดทางการค้า ตามที่ได้นำเสนอไปแล้วนั้น

เฟซบุ๊กแฟนเพจ "We are CP" ซึ่งเป็นแหล่งเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสำหรับพนักงานในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นซีพีเอฟ ซีพีออลล์ ทรู ซีพีอินเตอร์เทรด ซีพีแลนด์ ฯลฯ ได้จัดทำอินโฟกราฟิกส์ในหัวข้อ "ข้อสงสัย-ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับ ซีพี" เพื่อชี้แจงข้อกล่าวหาต่างๆ ที่ในโซเชียลมีเดียกำลังโจมตีในขณะนี้

ตัวอย่างเช่น ข้อกล่าวหาที่ว่า "ซีพีจะผูกขาดทุกอย่าง" ชี้แจงว่า ซีพีไม่ได้มีความเก่งหรือถนัดทำทุกอย่าง ธุรกิจหลักของซีพีคือ อาหารคนและอาหารสมอง

ข้อกล่าวหาที่ว่า "ซีพีผันตัวเองไปทำธุรกิจข้ามชาติ แล้วไปไม่รอดเพราะรัฐบาลประเทศนั้นดูแลไม่ให้เกิดการผูกขาดในประเทศ" ชี้แจงว่า ซีพีไปทำธุรกิจข้ามชาติเพราะรัฐบาลประเทศต่างๆ เชิญไปช่วยลงทุนพัฒนาเกษตรกรอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อให้ประชาชนของประเทศนั้น ได้บริโภคอาหารที่มีคุณภาพและราคาที่เป็นธรรม โดยปัจจุบัน ซีพีตอบรับไปลงทุนรวม 16 ประเทศ

ข้อกล่าวหาที่ว่า "ซีพียังมีธุรกิจสื่อสาร เคเบิ้ลทีวี ธุรกิจลอจิสติกส์แข่งกับไปรษณีย์ไทย จะมีธนาคาร จะลงทุนรถไฟความเร็วสูง" ชี้แจงว่า ซีพีดำเนินธุรกิจสื่อสารเพราะถือเป็นธุรกิจอาหารสมองที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ส่วนการทำธุรกิจไปราณีย์เป็นการต่อยอดธุรกิจเนื่องจากซีพีมีร้านเซเว่นอีเลฟเว่นที่ตั้งอยู่ในชุมชนเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค ส่วนเรื่องของธนาคาร ซีพีไม่ได้มีการดำเนินการแต่อย่างใด

ส่วนกรณีของรถไฟความเร็วสูง ซีพีเห็นว่าเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศโดยรวม แต่สิ่งนี้ต้องอาศัยการลงทุนที่สูงและต้องมีผู้เชี่ยวชาญในการก่อสร้าง ซีพีดำเนินธุรกิจในประเทศจีนจึงมีความสัมพันธ์กับผู้ประกอบการของจีนที่มีความรู้ความสามารถในการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง จึงเห็นว่าซีพีน่าจะช่วยดำเนินการสิ่งนี้เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศในอนาคต

ข้อกล่าวหาที่ว่า "ซีพีมีอิทธิพลเหนือทุกรัฐบาล ไม่มีใครกล้าทำอะไร" ชี้แจงว่า ซีพีเป็นผู้ประกอบการไทยที่ให้ความเคารพในกฎหมาย กฎระเบียบของสังคม ไม่ได้มีอิทธิพลทางการเมือง ที่ผ่านมารัฐบาลหรือองค์กรทางการเมืองได้ขอความร่วมมือหรือขอความคิดเห็นต่อการดำเนินนโยบายในการพัฒนาหรือปัญหาของประเทศ

ซึ่งซีพีก็ได้เสนอแนะ ข้อคิดตามประสบการณ์และความรู้ที่ซีพีมี ซีพีเป็นภาคเอกชนไทยที่ต้องการเห็นการพัฒนาประเทศที่มั่นคง แข็งแรง เป็นประโยชน์ ตามปรัชญาค่านิยมที่ว่าด้วย 3 ประโยชน์ คือ ทำอะไรจะต้องคิดถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติก่อน ตามมาด้วยประชาชนได้ประโยชน์และค่อยมาถึงบริษัท

ข้อกล่าวหาที่ว่า "ทั้งเทสโก้ โลตัส แม็คโคร โดนซีพีซื้อ ค้าปลีก ค้าส่ง เกือบทั้งประเทศตกอยู่ในกำมือของบริษัท" ชี้แจงว่า ซีพีให้ความสนใจเรื่องการค้าปลีกและค้าส่งมานานและเห็นว่าประเทศไทยควรจะมีการพัฒนาด้านการค้าที่ทันสมัย สะดวกสบายและเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค ซีพีจึงได้เป็นผู้ริเริ่มนำเทสโก้ โลตัส และแม็คโคร เข้ามาในประเทศไทย แต่ต้องขายกิจการทั้งสองในช่วงเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง

ซีพีเพิ่งซื้อกิจการแม็คโครกลับคืนมา ซึ่งมีตลาดที่สำคัญคือร้านค้าย่อย ร้านอาหาร ภัตตาคาร กิจการโรงแรม ซีพีไม่ได้คุมกิจการอย่างที่เข้าใจ แม้แต่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ซีพีก็มีสาขาอยู่ปัจจุบัน 8 พันสาขา ขณะที่ร้านโชห่วยทั่วประเทศมีอยู่ถึง 8 แสนราย ซีพียังมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้ร้านโชห่วยมีความรู้ มีการบริหารจัดการร้านที่ทันสมัยและลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

ข้อกล่าวหาที่ว่า "ซีพีทำให้ผู้ค้ารายย่อย เช่น โชห่วย อยู่ไม่ได้ ไปแย่งอาชีพคนอื่นหมด" ชี้แจงว่า ซีพีไม่ได้มีนโยบายไปทำลายผู้ค้ารายย่อย และตามข้อเท็จจริงปัจจุบันไทยยังมีผู้ค้ารายย่อยหรือร้านโชห่วยอยู่ราว 8 แสนราย ขณะที่ซีพีมีร้านเซเว่นอีเลฟเว่นอยู่ราว 8,000 สาขาทั่วประเทศหรือคิดเป็นเพียงร้อยละ 1 โดยให้บริการคนไทยอยู่ราว 30 ล้านคน นอกจากนี้ซีพีมีนโยบายสนับสนุนร้านโชห่วยด้วยการฝึกอบรมให้ความรู้ด้านการค้าสมัยใหม่

นอกจากนี้ยังใช้ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นเป็นแขนขาด้านการตลาดให้กับเอสเอ็มอีกว่า 990 ราย คิดเป็นสินค้าจากเอสเอ็มอีจำนวน 30,000 รายการ ส่วนการที่ร้านโชห่วยล้มเลิกไปสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากขาดลูกหลานที่จะมาดำเนินกิจการ การปรับตัวไม่ทันกการเปลี่ยนแปลงของชุมชนเมือง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค

ข้อกล่าวหาที่ว่า "ซีพีแข่งขันแบบเป็นธรรมกับใครไม่เป็น" ชี้แจงว่า ซีพีเชื่อมั่นในการแข่งขันเสรี และไม่เชื่อว่าการทำธุรกิจผูกขาดจะเป็นผลดี เพราะการผูกขาด ทำให้ขาดประสิทธิภาพ ขาดการสร้างสรรค์ ซีพีเชื่อมาตลอดว่าเราไม่ได้เก่งตลอดเวลา ไม่ได้เก่งอยู่คนเดียว จึงต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด ซีพีอยากเห็นผู้ประกอบการไทยมีการพัฒนาขีดความสามารถอยู่ตลอดเวลาเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันอยู่สม่ำเสมอ

ข้อกล่าวหาที่ว่า "ไทยกับเม็กซิโกคล้ายกัน คือสินค้าเกษตรถูกคุมตลาดจากบริษัทเกษตรกรที่ผูกขาด" ชี้แจงว่า ตามข้อเท็จจริงผู้ประกอบธุรกิจด้านการเกษตรของประเทศไทยไม่ได้มีการผูกขาด มีผู้ประกอบการมากกว่า 2-3 ราย และซีพีมีนโยบายที่จะรักษาส่วนแบ่งการตลาดในประเทศร้อยละ 25 ส่วนที่เหลือเป็นการมุ่งทำตลาดในต่างประเทศ อีกทั้งซีพีไม่มีอำนาจเหนือตลาด ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกของดีมานด์ ซัพพลาย


ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 7 พฤษภาคม 2558