Page 1 of 1

อุตฯ สิ่งพิมพ์บรรจุภัณฑ์ส่งออกปีนี้ส่อไม่ถึงเป้าแสนล้าน ปรับ

Posted: 12 May 2015, 13:22
by brid.ladawan
อุตฯ สิ่งพิมพ์บรรจุภัณฑ์ส่งออกปีนี้ส่อไม่ถึงเป้าแสนล้าน ปรับตัวรับ ศก.ดิจิตอล

คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
อุตฯ สิ่งพิมพ์บรรจุภัณฑ์ส่งออกปีนี้ส่อไม่ถึงเป้าแสนล้าน ปรับตัวรับ ศก.ดิจิตอล


กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ส.อ.ท. เผยไตรมาสแรกยอดขายติดลบ 10% ผลพวงตลาดทั้งในและต่างประเทศถดถอย โดยเฉพาะการส่งออกภาพรวมที่ฉุดการเติบโต ยอมรับปีนี้อาจไม่ถึงฝันเป้าส่งออกแสนล้านบาท เร่งปรับยุทธศาตร์รับเศรษฐกิจดิจิตอล และเทรนด์ของโลกหนุนใช้นวัตกรรมและดิจิตอลผสมผสานงานผลิต

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานและประธานคลัสเตอร์การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ไตรมาสแรกปี 2558 พบว่ายอดจำหน่ายสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ภาพรวมลดลงประมาณ 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากการบริโภคในประเทศชะลอตัว ขณะที่การส่งออกทั้งตลาดทางอ้อมและทางตรงปรับตัวลดลงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งทำให้มูลค่าการส่งออกภาพรวมปีนี้อาจจะไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ในระดับ 1 แสนล้านบาท จากเฉลี่ยที่ผ่านมาการส่งออกจะอยู่ระดับ 6-7 หมื่นล้านบาท

“ตลาดในประเทศเป็นผลจากการบริโภคที่ลดต่ำลงเช่นเดียวกับตลาดต่างประเทศ จะเห็นว่าการส่งออกของไทยไตรมาสแรกก็ติดลบไปแล้วจึงมีผลกระทบต่อเนื่องมายังอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ซึ่งก็คงต้องติดตามภาวะส่งออกปีนี้ที่ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์เองก็ลดเป้าเติบโตทั้งปีเหลือโตไม่เกิน 0-1% ดังนั้น การส่งออกของไทยภาพรวมจากนี้ไปจะต้องส่งออกให้ได้เฉลี่ยเดือนละ 1.92 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐจนถึงสิ้นปีหากไม่เช่นนั้นโอกาสติดลบก็จะสูงมาก โดยอุตฯ เราก็จะต้องอิงกับการส่งออกรวมด้วย ซึ่งเห็นว่าตลาดที่ยังดีคือแถบเพื่อนบ้านและสหรัฐฯ เท่านั้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาพรวมยอดขายจะลดต่ำแต่หากมองเฉพาะบรรจุภัณฑ์กลับพบว่ายังเติบโตได้ดี” นายเกรียงไกรกล่าว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กลุ่มอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ได้ปรับยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจใหม่เพื่อให้สอดรับกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล และกระแสการเปลี่ยนแปลงทางการค้าของโลกที่เน้นนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่ามากขึ้นด้วยการมุ่งเน้นการผลิตสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ที่ผสมสื่อดิจิตอลและเทคโนโลยีเข้าไปในงานผลิต ซึ่งหากรายใดไม่มีการปรับตัวอนาคตจะอยู่ลำบาก โดยในหมวดนี้อนาคตบรรจุภัณฑ์จะเป็นดาวเด่น ขณะที่สิ่งพิมพ์เองหากไม่ปรับตัวจะค่อนข้างลำบากเนื่องจากมีสื่ออื่นๆ เข้ามาแทนที่ เช่น สื่อมัลติมีเดีย

“เราจะเห็นว่าสื่อสิ่งพิพม์ปีนี้ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ แมกกาซีนค่อนข้างลำบากเพราะนอกจากแรงซื้อที่ลดต่ำแล้วเม็ดเงินโฆษณาก็ลดเช่นกัน จะเห็นว่าทางสมาคมผู้ผลิตแมกกาซีนเองก็ออกมาให้ข่าวว่านิตยสารบางรายจากราย 15 วันปรับมาเป็นรายเดือน บางรายก็ประกาศที่จะปิดตัวเร็วๆ นี้แล้ว สื่อสิ่งพิมพ์ที่ตอบสนองการอ่านจึงลำบากเมื่อมีสื่ออื่นมาแทนโดยเฉพาะระบบออนไลน์ เพราะเดี๋ยวนี้เด็กรุ่นใหม่ไม่ได้นิยมหาความรู้ตามหน้ากระดาษแล้ว” นายเกรียงไกรกล่าว


ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 11 พฤษภาคม 2558