ใช้เกียร์อัตโนมัติให้ถูกวิธี ดีต่อกระเป๋าเงินของคุณ

Post Reply
brid.ladawan
Posts: 7045
Joined: 29 Mar 2013, 13:36

ใช้เกียร์อัตโนมัติให้ถูกวิธี ดีต่อกระเป๋าเงินของคุณ

Post by brid.ladawan »

ใช้เกียร์อัตโนมัติให้ถูกวิธี ดีต่อกระเป๋าเงินของคุณ


ปัจจุบัน เกียร์อัตโนมัติได้รับความนิยมเป็นอย่างมากและได้เข้ามาแทนที่เกียร์ธรรมดาในระบบส่งกำลังของรถยนต์ นอกจากการดูแลเปลี่ยนถ่ายของเหลวน้ำมันหล่อลื่นเกียร์อัตโนมัติตามระยะที่กำหนดแล้ว วิธีการขับขี่ใช้งานเกียร์อัตโนมัติที่ถูกต้องจะช่วยยืดอายุการใช้งานของเกียร์ออโตให้ยืนยาวจนลืมหากขับใช้งานกันอย่างถูกวิธี


เหยียบเบรกทุกครั้งที่เปลี่ยนจากเกียร์ D ไปเกียร์ R
อย่าทำตัวเป็นพวกวัยรุ่นใจร้อน เมื่อต้องการขับถอยหลัง เหยียบเบรกจนรถหยุดนิ่งเสียก่อนค่อยเลื่อนคันเกียร์ดันเข้าตำแหน่งเกียร์ถอยหรือเกียร์ R ขับถอยหลังหากไม่มีกล้องมองหลังควรดูให้ดีก่อนจะถอยว่ามีเด็กเล็กหมาแมวเดินหรือคลานอยู่แถวนั้นหรือเปล่า


อย่าใส่เกียร์ว่างขณะวิ่ง
ขับลงเนินยาวๆ อยู่ดีๆ ยัดเกียร์ว่างหรือเกียร์ D คิดว่าจะช่วยให้ประหยัดแต่เกียร์อาจสึกหรอ ขณะที่รถกำลังวิ่งแล้วทำการปลดเกียร์จาก D ไปเป็น N ของเหลวหล่อลื่นท่ีเคยหมุนวนในตำแหน่งเกียร์ D จะหยุดการหมุนวนแต่เกียร์ยังคงหมุนเร็วเนื่องจากรถกำลังไหลลงเนิน ชิ้นส่วนของเกียร์ที่ทำงานแต่ไม่มีของเหลวไปหล่อลื่นจะทำให้เกียร์สึกหรอเร็วกว่าปกติ


เชนเกียร์บ่อยไปไม่ดีนะจ๊ะ
เป็นคนขับรถแบบไม่ชอบให้สมองกลเกียร์ทำงาน ต้องยัดเกียร์เองทำเอนจิ้นเบรกลดความเร็วด้วยการเชนเกียร์ลงต่ำในรอบสูงๆ เพื่อลดความเร็ว ขับแบบสไตล์รถแข่งนั้นมอบความสนุกหลังพวงมาลัยได้ดี แต่หากกระทำเป็นประจำนั้นไม่ดีต่อเกียร์ของคุณอย่างแน่นอน ไม่ควรใช้เกียร์ต่ำเมื่อวิ่งด้วยความเร็วสูงเพราะจะทำให้รอบเกียร์และรอบเครื่องยนต์สูงตามไปด้วยจนกระทั่งเกินขีดจำกัดการทำงาน และก่อให้เกิดความเสียหาย


ไม่ขับลากเกียร์จ้ะ
ยัดเกียร์ D แล้วปล่อยให้มันวิ่งไปตามเรื่องตามราวมันไม่สะใจ สู้เปลี่ยนเกียร์เองโดยคาเกียร์ 3-4 เอาไว้เรียกรอบไม่ได้ ชอบเห็นรอบเครื่องยนต์ป้วนเปี้ยนอยู่แถว 6-7000 รอบเป็นประจำ ทำบ่อยๆ คลัตช์ของเกียร์จะลาจากอย่างรวดเร็วนะจะบอกให้


ไม่กดคันเร่งจนสุดเพื่อคิกดาวน์บ่อยๆ
การคิกดาวน์เพื่อเปลี่ยนเกียร์ลงต่ำสำหรับการเร่งแซงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการขับที่รีบเร่งและต้องการเลี่ยงอุบัติเหตุโดยต้องการแซงทีเดียวให้พันไปเลยไม่ต้องมาลุ้น การคิกดาวน์เร่งแซงไปตลอดทางหรือขับแบบรีบๆ เร่งๆ นอกจากจะอันตรายจากการใช้ความเร็วสูงแล้ว คลัตช์ของเกียร์ออโตต้องทำงานอย่างหนักและหมดสภาพได้เร็วกว่าขับแบบปกติไปเรื่อยๆ ครับ


สำหรับมือใหม่หัดขับเกียร์ออโต คันเกียร์ของเกียร์ออโตเมติกจะมีตำแหน่งสำหรับใช้งานต่างๆ กันดังนี้

ตำแหน่ง P ใช้สำหรับจอดอยู่กับที่หรือบนพื้นที่ลาดเอียงโดยรถจะถูกล็อกให้หยุดอยู่กับที่ด้วยตัวล็อกภายในเกียร์

ตำแหน่ง R ใช้สำหรับการถอยหลัง

ตำแหน่ง N ใช้สำหรับการหยุดรออยู่กับที่บนพื้นราบซึ่งในตำแหน่งนี้รถสามารถเข็นให้เคลื่อนที่ได้


ตำแหน่ง D ใช้สำหรับการขับขี่แบบอัตโนมัติโดยเกียร์จะเปลี่ยนไปเองโดยอัตโนมัติตามคันเร่งและความเร็วของรถ
ใช้ขับขี่ได้ตั้งแต่การเริ่มออกตัวและเพิ่มความเร็วได้ไปเรื่อยๆ จนถึงความเร็วสูงสุดการขับขี่โดยทั่วไปสามารถใช้เกียร์นี้เพียงเกียร์เดียวเท่านั้นก็ได้ไม่ต้องไปโชว์เก๋าเชนเกียร์เล่นทั้งๆ ที่ไม่ได้ขับลงเขาลาดชัน วางเท้าให้ดีๆ อย่าเผลอไปเหยียบคันเร่งทั้งๆ ที่จะเหยียบเบรกแล้วเข้าเกียร์ถอย ขับบ่อยๆ แบบมีสติจะเริ่มปรับตัวและใช้งานเกียร์ออโตได้คล่องขึ้น ใช้เท้าขวาแค่เท้าเดียว เท้าซ้ายไม่ได้ใช้ในเกียร์ออโตหากคุณไม่ใช่พวกนักแข่งที่ชอบเลี้ยงรอบในโค้ง

ตำแหน่ง 2 ใช้สำหรับการขับขี่ขึ้นทางลาดชันที่ไม่สูงมากนัก และสามารถใช้ความเร็วได้พอสมควร

ตำแหน่ง L ใช้สำหรับการขับขี่ขึ้นทางลาดชันที่สูงมากและต้องใช้ความเร็วต่ำ

การสตาร์ตเครื่องยนต์ถูกออกแบบให้สามารถกระทำได้เฉพาะ ตำแหน่ง P กับ N เท่านั้น เพื่อความปลอดภัย รถที่ใช้ปุ่มสตาร์ตเครื่องยนต์ต้องเหยียบเบรกทุกครั้งถึงจะทำการสตาร์ตได้เป็นเหตุผลด้านความปลอดภัยในการใช้งาน


เกียร์ CVT ที่กำลังแพร่หลายเป็นระบบส่งกำลังที่ออกแบบมาให้เปลี่ยนถ่ายอัตราทดได้อย่างนิ่มนวลกว่าระบบเกียร์แบบอื่นๆ เกียร์ขับด้วยการหมุนของพูเลย์สายพาน สวมควรที่จะต้องขับกันแบบค่อยเป็นค่อยไปทะนุถนอมสักนิด


ขับกระชากลากถูแนวรถซิ่งสไตล์สปอร์ตไม่เป็นผลดีต่ออายุการใช้งานของเกียร์ CVT เนื่องจากการกระชากเกียร์โดยเฉพาะระบบ CVT จะทำให้เกียร์มีอายุการใช้งานหดสั้นลง CVT ส่งกำลังผ่านพูเลย์ด้วยชุดสายพาน หากชอบออกตัวแรงๆ จะทำให้ชุดเกียร์เสื่อมสภาพเร็ว


เกียร์ CVT ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์ทุกๆ 17,000-20,000 กิโลเมตร เนื่องจากระบบการทำงานชิ้นส่วนที่แตกต่างไปจากเกียร์ออโตแบบฟันเฟืองทอร์คคอนเวอร์เตอร์.

อาคม รวมสุวรรณ

ที่มา ไทยรัฐออนไลน์
วันที่10 พ.ค. 2558
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”