Page 1 of 1

ผลักดันกรอบการค้า 16 ชาติ

Posted: 06 Apr 2013, 15:02
by brid.ladawan
ladawan
Hero Member
*****
Posts: 824


View Profile Email


ผลักดันกรอบการค้า 16 ชาติ
« on: November 28, 2012, 09:08:40 am »

ผลักดันกรอบการค้า 16 ชาติ
วันพุธที่ 21 พฤศจิกายน 2012 เวลา 12:16 น. กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลก - คอลัมน์ : เศรษฐกิจโลก

อาเซียน +6 ตกลงเดินหน้าเจรจาข้อตกลงการค้า "RCEP" ที่จะกลายมาเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกบนเวทีอีสต์เอเชียซัมมิท ขณะที่รัฐมนตรีพาณิชย์จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

อาศัยเวทีดังกล่าวประกาศเริ่มการเจรจาการค้าเสรีระดับไตรภาคีด้วยเช่นเดียวกัน
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และประเทศคู่เจรจาอีก 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ มีมติเห็นชอบในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (อาเซียนซัมมิท) และการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก (อีสต์เอเชียซัมมิท) ที่ประเทศกัมพูชาระหว่างวันที่ 18-20 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า จะเริ่มกระบวนการเจรจาข้อตกลงการค้าภายใต้ชื่อ ความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP) โดยคาดหมายว่าการเจรจาจะเริ่มต้นในปี 2556 และสิ้นสุดภายในสิ้นปี 2558
ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า RCEP เป็นความตกลงที่จะพัฒนาต่อยอดความตกลงการค้าเสรีที่อาเซียนมีอยู่ 5 ฉบับกับประเทศคู่เจรจาทั้ง 6 ประเทศให้เป็นความตกลงการค้าเสรีร่วมฉบับเดียวกัน โดยจะขยายความร่วมมือนอกเหนือจากด้านการค้า อาทิ ด้านการลงทุน โครงสร้างพื้นฐาน และการถ่ายโอนเทคโนโลยี เป็นต้น หากการเจรจาประสบความสำเร็จ ประเทศที่อยู่ภายใต้ข้อตกลง RCEP จะกลายมาเป็นตลาดการค้าที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ด้วยขนาดประชากรรวมกว่า 3 พันล้านคน และมูลค่าเศรษฐกิจรวมกว่า 17.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นกว่า 20% ของเศรษฐกิจโลก
อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายมองว่าการบรรลุข้อตกลงจะเป็นงานที่ยากลำบาก หลายประเทศในเอเชียมีข้อตกลงการค้าเสรีระดับทวิภาคีร่วมกันอยู่แล้วก็จริง แต่ยังไม่สามารถก่อตั้งเขตการค้าเสรีในระดับภูมิภาคได้สำเร็จเนื่องจากแต่ละ ประเทศต้องการปกป้องภาคอุตสาหกรรมที่อ่อนไหวของตนเอง อาทิ ญี่ปุ่นต้องการปกป้องภาคการเกษตร และเกาหลีใต้ต้องการคุ้มครองอุตสาหกรรมข้าว เป็นต้น
การพยายามที่จะเจรจาข้อตกลง RCEP เกิดขึ้นในเวลาที่สหรัฐอเมริกาเองก็พยายามผลักดันความตกลงหุ้นส่วน ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement (TPP) ที่ตนเองเป็นผู้นำ ซึ่งมีบางประเทศที่เข้าร่วมเจรจา RCEP เข้าร่วมการเจรจา TPP แล้วเช่นกัน อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ขณะที่ญี่ปุ่นก็แสดงท่าทีว่าสนใจ
นางสาวจูเลีย กิลลาร์ด นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียกล่าวว่า "เราจะทำทุกทางที่ทำได้เพื่อผลักดันการเจรจาทั้งสองกรอบ" และเสริมว่า ท้ายที่สุดแล้วข้อตกลงทั้งสองกรอบจะเกี่ยวพันกันอย่างไรเป็นเรื่องที่จะ ค่อยๆ พัฒนาไปในระหว่างการเจรจา เช่นเดียวกับทางญี่ปุ่นที่กล่าวว่า จะผลักดันกรอบการเจรจาการค้าเสรีทั้งสามกรอบ คือ RCEP TPP และข้อตกลงการค้าเสรีไตรภาคีจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ แม้ว่าญี่ปุ่นจะยังไม่ประกาศเข้าร่วม TPP อย่างเป็นทางการ
ข้อตกลงการค้าเสรีจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ เป็นอีกหนึ่งกรอบการเจรจาทางการค้าที่มีการประกาศเดินหน้าอย่างเป็นทางการ โดยรัฐมนตรีพาณิชย์ของทั้งสามประเทศที่เวทีประชุมอีสต์เอเชียซัมมิท จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ตกลงกันเมื่อเดือนพฤษภาคมว่าจะเปิดการเจรจาในปีนี้ แต่ความขัดแย้งเรื่องเขตแดนที่เกิดขึ้นระหว่างกันก่อให้เกิดข้อกังขาถึงความ เป็นไปได้ในการเจรจากรอบการค้าดังกล่าว ซึ่งการให้รัฐมนตรีพาณิชย์เป็นผู้ประกาศการเริ่มต้นเจรจาแทนที่จะเป็นผู้นำ ประเทศ แสดงให้เห็นว่าความตึงเครียดเรื่องเขตแดนยังคงมีอยู่
เจ้าหน้าที่ทางการและนักการทูตหวังว่าความสัมพันธ์ทางการค้าที่ลึกซึ้งขึ้น จะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดเรื่องเขตแดน หรืออย่างน้อยข้อตกลงจะเดินหน้าไปได้ท่ามกลางความขัดแย้ง "เป้าหมายของข้อตกลงการค้าเสรีเกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น คือเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างทั้งสามประเทศ และเราจะอาศัยความร่วมมือทางเศรษฐกิจเป็นพื้นฐานของความสัมพันธ์ทางการเมือง ที่มีเสถียรภาพและร่วมมือกัน" พาร์ค แท-โฮ รัฐมนตรีพาณิชย์เกาหลีใต้กล่าว ข้อมูลจากรัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่า มูลค่าการค้าระหว่างกันของทั้งสามประเทศในปี 2554 อยู่ที่ 5.15 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ขณะเดียวกัน สมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศตกลงที่จะเลื่อนการเริ่มต้นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ออกไปจากเดิมที่กำหนดไว้วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็น 31 ธันวาคม 2558 เนื่องจากปัญหาเรื่องความพร้อม โดยในขณะนี้การเตรียมการเข้าสู่เออีซีมีความคืบหน้าไปประมาณ 72% โดยมีสิงคโปร์และมาเลเซียเป็นประเทศที่คืบหน้าไปมากที่สุด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 32 ฉบับที่ 2,794 วันที่ 22-24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555