ฟื้น 'เส้นทางสายไหม' ทางทะเลสู่ศตวรรษที่ 21

Post Reply
brid.ladawan
Posts: 7045
Joined: 29 Mar 2013, 13:36

ฟื้น 'เส้นทางสายไหม' ทางทะเลสู่ศตวรรษที่ 21

Post by brid.ladawan »

ฟื้น 'เส้นทางสายไหม' ทางทะเลสู่ศตวรรษที่ 21


เส้นทางสายไหม เป็นที่รู้จักในฐานะเส้นทางการค้าของจีน เมื่อกว่า 2 พันปีก่อน ที่ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน ทั้งสินค้าที่สำคัญของจีนอย่างผ้าไหม ใบชา และอื่นๆ รวมทั้งแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างโลกตะวันออกกับโลกตะวันตก จากจีนไปสู่ยุโรปและแอฟริกา ประกอบไปด้วย 2 เส้นทาง คือ เส้นทางสายไหมทางบกและทางทะเล
แผนที่เส้นทางสายไหม

เส้นทางโบราณนี้ ถูกพลิกฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์เขตเศรษฐกิจบนเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 ครั้งแรก เมื่อเดือนกันยายน ปี 2556 ระหว่างเยือนคาซัคสถานในเอเชียกลาง และในเดือนต่อมา ระหว่างเยือนอินโดนีเซีย ผู้นำจีน ประกาศว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือหนึ่งในเขตสำคัญของเส้นทางสายไหมทางทะเล จีนพร้อมที่จะเพิ่มความร่วมมือทางทะเลกับอาเซียน ซึ่งหมายถึงการให้ความสำคัญกับการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานทางทะเล เช่น ท่าเรือต่างๆ ที่เชื่อมโยงกันในเส้นทาง ซึ่งล่าสุดมีประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวม 57 ประเทศ เข้าร่วมเป็นสมาชิกก่อตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย หรือ AIIB ที่ริเริ่มโดยจีน เพื่อให้สินเชื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่สร้างความเชื่อมโยงระหว่างกัน โดยในจำนวนสมาชิกก่อตั้งมีประเทศสมาชิกอียูหลายประเทศ ซึ่งเป็นพันธมิตรใกล้ชิดของสหรัฐอเมริกาด้วย
สภาพความเจริญวันนี้

ด้านภาคส่วนต่างๆ รวมถึงรัฐบาลท้องถิ่นของจีน ที่อยู่ในเส้นทางทั้งทางบกและทะเล ก็ขานรับนโยบายเป็นอย่างดี เช่น ที่เมืองเซินเจิ้น ในมณฑลกวางตุ้ง ทางชายฝั่งตอนใต้ ซึ่งมีความพร้อมในฐานะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกของจีน ที่ก่อตั้งในปี 2523 และมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ที่ได้ก่อตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเฉียนไฉ่ ครอบคลุมพื้นที่ 15 ตารางกิโลเมตร ขึ้นมาอีกแห่งหนึ่งในเซินเจิ้น เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมบริการทันสมัย โดยเฉพาะด้านการเงิน โดยรัฐบาลจีนหวังให้เป็นเขตทดลองเคลื่อนย้ายเงินหยวนอย่างเสรี เพื่อผลักดันให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ ชัยภูมิที่ตั้งของ เฉียนไห่ ที่เป็นประตูเชื่อมระหว่างแผ่นดินใหญ่กับเกาะฮ่องกง และมหาสมุทรแปซิฟิก ย่อมทำให้เขตเศรษฐกิจแห่งนี้ กลายเป็นสถานีสำคัญในโครงการเส้นทางสายไหมทางทะเลของจีนในอนาคต โดยเขตเศรษฐกิจพิเศษเฉียนไห่ จะสร้างเสร็จในอีก 5 ปีข้างหน้า ขณะที่มูลนิธิเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และมูลนิธิเพื่อการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งเซินเจิ้น ได้จัดงานสัมนาทางยุทธศาสตร์อาเซียน-จีน เรื่องเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 ณ เมืองเซินเจิ้น เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนระหว่างภาคการเมือง ธุรกิจ นักวิชาการและเอ็นจีโอของจีนและประเทศสมาชิกอาเซียน

โดยนายหลิว หง ไฉ่ รองรัฐมนตรีกระทรวงวิเทศสัมพันธ์แห่งคณะกรรมการกลางแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ระบุว่า ภายใต้ยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมทางทะเลได้เพิ่มโอกาส 3 ประการให้จีนและอาเซียน 1. คือ การติดต่อสื่อสารระหว่างจีนกับอาเซียน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ฉันมิตร 2. ยกระดับความร่วมมือเขตการค้าเสรี และ 3. คือสร้างความเข้าใจระหว่างประชาชนของ 2 ฝ่าย โดยมีวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกันเป็นพื้นฐาน พร้อมย้ำว่า จีนจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาแบบปรึกษาหารือเพื่อประโยชน์และสันติภาพร่วมกันของทุกฝ่ายที่เข้าร่วม โดยเฉพาะในพื้นที่ทะเลจีนใต้ ที่ต้องเปลี่ยนให้กลายเป็นทะลแห่งสันติภาพให้สำเร็จ

ขณะที่ นายโภคิน พลกุล นายกสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน กล่าวว่า การเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปลายปีนี้ จะเป็นพื้นฐานสำคัญในความร่วมมือจีน-อาเซียน ที่ครอบคลุมประชาชนรวมกว่า 2 พันล้านคน และเป็นแรงดึงดูให้อินเดีย ที่มีประชากรอีก 1,200 ล้านคน เข้าร่วมเป็นความร่วมมือ 3 ฝ่าย เพื่อความอยู่ดีกินดีและสันติภาพของประชากร รวมกว่า 3,200 ล้านคน ขณะที่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างจีนกับบางประเทศในอาเซียน เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องใช้ความอดกลั้นและความเชื่อใจและจริงใจในการเจรจาแก้ปัญหา และมองถึงประโยชน์ที่จะได้รับร่วมกันจากการพัฒนาเป็นสำคัญ

นอกจากนี้ ยังเผยว่า ทางสมาคมฯ ได้ทำความตกลงกับมหาวิทยาลัยเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศปักกิ่ง เมื่อปีที่แล้ว เพื่อศึกษาร่วมกันเรื่องคอคอดกระ หรือคลองกระ ซึ่งจะช่วยย่นเวลาในการเดินเรือเชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกและอินเดีย ได้อย่างน้อย 2-3 วัน ซึ่งจะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น โดยจะศึกษาร่วมกันในประเด็นสิ่งแวดล้อม ประชาพิจารณ์ การอพยพโยกย้ายประชาชน การคัดเลือกแนวคลอง การพัฒนาและความมั่นคง ซึ่งหลังศึกษาเสร็จสิ้น จะเสนอให้ภาครัฐและภาคประชาชนของทั้ง 2 ประเทศ พิจารณาต่อไป ซึ่งอาจรวมถึงเสนอรัฐบาลประเทศอาเซียน เพื่อนำไปสู่การร่วมพัฒนามากกว่าความขัดแย้ง
แบบจำลองท่าเรือ

แม้จีนจะยืนยันว่า แผนเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมทั้งทางบกและทางทะเล เป็นเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความร่วมมือขนาดใหญ่ที่เชื่อมประชากรถึง 3 ทวีปเข้าไว้ด้วยกัน โดยมีจีนเป็นศูนย์กลาง ย่อมทำให้มหาอำนาจอีกขั้วหนึ่งของโลกอย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีอิทธิพลอยู่มากโดยเฉพาะกับประเทศในอาเซียน ที่เป็นคู่ขัดแย้งเรื่องเขตแดนทะเลจีนใต้กับจีน อย่าง ฟิลิปปินส์ จับตามองอย่างระแวง ซึ่งนี่ถือเป็นความท้าทายทั้งต่อจีนในการดำเนินยุทธศาสตร์เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า เพื่อบรรลุจุดหมายในการสร้างประโยชน์ร่วมกันและสันติภาพของทุกฝ่าย ตามที่ประกาศไว้ รวมถึงเป็นความท้าทายต่ออาเซียนเอง ในการรักษาสมดุลระหว่าง 2 ขั้วอำนาจ และสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันในหมู่ประเทศสมาชิก ที่มีความหลากหลาย ทั้งผลประโยชน์และความสัมพันธ์กับชาติมหาอำนาจที่แตกต่างกัน.


ที่มา ไทยรัฐออนไลน์
วันที่ 22 พ.ค. 2558
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”