Page 1 of 1

ทางออกจากวิกฤตสารพิษการเกษตร

Posted: 26 May 2015, 16:09
by brid.ladawan
ทางออกจากวิกฤตสารพิษการเกษตร

ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

วิกฤตสารพิษการเกษตรในประเทศไทยนับวันทวีความรุนแรง หน่วยงานรัฐนิ่งเฉย ปล่อยให้คนไทยและลูกหลานไทยเป็นมะเร็งอย่างทุกข์ทรมาน ถึงเวลาที่คนไทยทุกคนต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องและร่วมลงมือแก้ไขปัญหานี้

ประเทศไทยนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช มากขึ้นทุกปี ปี พ.ศ. 2557 เรานำเข้ามากถึง 147,375,949 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2552 คิดเป็นมูลค่าถึง 22,812 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 35 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2552 (http://bit.ly/1I2YC5Z)

ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพ คือ เรานำเอาสารพิษมาโปรยหว่านใส่แผ่นดินไทยแต่ละปี สูงเท่ากับตึกใบหยก2 หว่านใส่แบบนี้ทุกๆ ปี ทำให้แผ่นดินไทยถูกอาบไปด้วยยาพิษ ปนเปื้อนในอาหารและน้ำที่เราบริโภค

เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช สุ่มตรวจผักในห้างและตลาดขนาดใหญ่ ในเขตกรุงเทพฯ พบการปนเปื้อนสารเคมี พบว่า กะเพรามีสารพิษเกินมาตรฐานถึง 62.5% ถั่วฝักยาวและคะน้า พบ 32.5% ผักบุ้งจีน กวางตุ้ง และมะเขือเปราะพบตกค้าง 25% แตงกวาและพริกแดง พบ 12.5% (www.thaipan.org/node/793) การสุ่มตรวจของกระทรวงสาธารณสุข ก็พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในระดับไม่ปลอดภัยในผลผลิตการเกษตรจำนวนหนึ่ง ในกลุ่มผักสดได้แก่ ใบบัวบก ดอกหอม ผักแขนง กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บรอคโคลี่ พริกแห้ง ป๋วยเล๊ง กลุ่มผลไม้ ได้แก่ สาลี่ แอบเปิ้ล ส้ม แตงโม แคนตาลูป ส้ม แก้วมังกร และองุ่น (http://bit.ly/1CmWnUq) มหาวิทยาลัยมหิดล สำรวจผักคะน้า 117 ตัวอย่างใน 12 ตลาดที่จังหวัดนครปฐม พบว่า มีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน 29.1% (www.thaipan.org/node/778)

สารเคมีก่อโรคมากมาย หนึ่งในนั้นคือ โรคมะเร็ง จึงไม่น่าแปลกใจ ที่สาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทยต่อเนื่องมามากกว่า 7 ปีแล้ว คือ โรคมะเร็ง เสียชีวิตปีละ 56,000 - 67,000 คน
โรคมะเร็งทำให้บุคคลบางกลุ่มในสังคมร่ำรวยขึ้นอย่างมาก ทำให้ผลผลิตมวลรวมประชาชาติสูงเพิ่มขึ้นในภาพรวม เพราะขายสารเคมีและขายยารักษามะเร็งได้มากขึ้น แต่ถ้ามองลึกไปที่ครอบครัวของคนป่วยจะเห็นความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมเหลือคณานับ

คนทุกอาชีพมีโอกาสเป็นโรคมะเร็ง รวมทั้งคนที่มีอาชีพแพทย์ เช่น อาจารย์แพทย์คนหนึ่ง ป่วยเป็นมะเร็งได้ ทีมงานทุ่มเทให้การรักษาอย่างเต็มที่ ค่ารักษาไม่ต่ำกว่า 5 แสนบาท แต่ในที่สุดก็เสียชีวิต คุณประโยชน์ที่อาจารย์แพทย์ท่านนี้ควรจะสามารถสร้างสรรค์ให้แก่สังคมอีกมากมายต้องสูญเสียไปอย่างน่าเสียดาย

ยังมีโรคอื่นๆ อีกที่เกิดจากสารเคมีเกษตร ได้แก่ เบาหวาน พิการแต่กำเนิด รบกวนการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อ โรคอัลไซเมอร์ พาร์กินสัน โรคระบบภูมิคุ้มกัน หอบหืด โรคผิวหนัง ฯลฯ

รัฐบาลและหน่วยงานที่รับผิดชอบดูเหมือนจะมองข้ามเรื่องนี้ หรือเห็นเรื่องอื่นสำคัญกว่า สารเคมีที่ประเทศอื่นยกเลิกการขึ้นทะเบียนไปแล้วจำนวนมาก เพราะก่อมะเร็งและก่อโรคเรื้อรังต่างๆ ยังคงได้รับอนุญาตให้ใช้ได้ในประเทศไทย

ประชาชนต้องช่วยกันเรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการที่เข้มแข็ง หรือออกกฎหมายมาควบคุมเรื่องนี้อย่างจริงจัง ประกาศถอนทะเบียนสารเคมีอันตราย ถ้าปีนี้เราไม่เห็นการประกาศใดๆ แสดงว่ารัฐบาลไม่มีความจริงใจในการปกป้องสุขภาพประชาชน นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปคือ หันมาพึ่งตนเองและพึ่งกันเอง

การพึ่งตนเองอย่างหนึ่ง คือ การผลิตอาหารด้วยตนเอง ทุกครอบครัวต้องเรียนรู้ที่จะปลูกผักกินเอง อาจจะปลูกบนกระถาง ปลูกใส่ขวดพลาสติก ปลูกโดยแขวนข้างกำแพง ปลูกบนดาดฟ้า

การปลูกพืชผักกินเอง นอกจากจะมั่นใจว่า อาหารที่ได้นั้นปลอดสารเคมีแน่นอน เรายังได้พัฒนาจิตวิญญาณให้สูงขึ้น จิตใจละเอียดอ่อนขึ้น อาจจะปลูกให้มีความสวยงามเป็นการตกแต่งบ้านไปในตัว ชวนลูกหลานมาปลูกด้วยกัน สร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว เกิดความภาคภูมิใจว่าสองมือของเราสามารถสร้างสรรค์โลกให้น่าอยู่ และอนาคตควรเรียนรู้การปลูกสมุนไพรควบคู่ไปด้วย เอาไว้รักษาคนเองยามเจ็บป่วย ดูตัวอย่างดีๆ ได้ในอินเทอร์เน็ต เช่นที่ http://bit.ly/1FHNWtn

การพึ่งกันเอง สามารถทำได้โดยชักชวนเพื่อนบ้านหรือรวมกลุ่มกันปลูกพืชผักกินเอง เราปลูกบางอย่าง เพื่อนบ้านปลูกบางอย่าง แล้วนำมาแลกเปลี่ยนกัน ทำให้เราไม่ต้องปลูกทุกอย่าง บางพื้นที่อาจจะมีเนื้อที่สาธารณะว่างเปล่าไม่มีการใช้ประโยชน์ใดๆ ก็ควรตกลงกันนำมาปลูกพืชผักกินกันและแบ่งปันกัน จะทำให้ความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านดีขึ้น อนาคตก็ควรช่วยเหลือกันในเรื่องอื่นๆ ได้อีก เช่น เป็นหูตากันขโมยให้ชุมชน ดูแลลูกหลานให้กัน ฯลฯ

การพึ่งพากันเองอีกรูปแบบหนึ่ง คือ เราควรไปอุดหนุนเกษตรกรที่ปลูกพืชแบบปลอดสาร หรือเกษตรอินทรีย์ เราต้องไปทำความรู้จักเกษตรกรข้างบ้าน อุดหนุนเขา เยี่ยมเยียนให้กำลังใจ ชวนเขาไปเรียนรู้วิธีการผลิตแบบปลอดสาร ชวนกันสร้างตลาดท้องถิ่น ซื้อผลผลิตเขาด้วยราคาที่เป็นธรรม ทำให้เขาอยู่ได้

มีเครือข่ายคนหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งที่ทำงานได้น่ายกย่องมาก มาทำหน้าที่เป็นสื่อกลางให้เราได้รู้จักเกษตรกรปลอดสาร คือ “กลุ่มผูกปิ่นโตข้าว” เราก็อาจจะเข้าร่วมโครงการนี้ได้ (http://bit.ly/1I7d0vG)

อีกระดับหนึ่ง คือ การเปลี่ยนแปลงทั้งชุมชนให้มีการผลิตอาหารได้เอง ตัวอย่างที่ตำบลไม้เรียง จ.นครศรีธรรมชาติ ที่พบว่า เมื่อทั้งตำบลช่วยกันผลิตอาหาร แบ่งกันผลิตให้มีอาหารหลากหลาย แทบจะไม่ต้องพึ่งพาอาหารจากภายนอกตำบลเลย จัดการให้หมู่บ้านนี้ผลิตหมู หมู่บ้านนี้ผลิตไก่ หมู่บ้านนี้ผลิตปลา หมู่บ้านนี้ผลิตผักปลอดสารพิษ หมู่บ้านนี้ปลูกมังคุด หมู่บ้านนี้ปลูกสะตอ แล้วซื้อขายกันเอง ทำแบบนี้สามารถทำให้คนทั้งตำบลมีงานทำ หายจน ปลดหนี้ได้ มีอาหารสุขภาพไว้กินตลอดปี

สารเคมีเกษตรเป็นภัยร้ายที่มองไม่เห็นตัว แต่เราหยิบใส่ปากทุกวัน เป็นภัยที่น่ากลัวยิ่งนัก ทุกคนต้องช่วยกันแก้ไขปัญหานี้

ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 26 พฤษภาคม 2558