Page 1 of 1

4 วิธีพิชิตภัยเบาหวาน !

Posted: 04 Jun 2015, 11:48
by brid.ladawan
4 วิธีพิชิตภัยเบาหวาน !




4 วิธีพิชิตภัยเบาหวาน
คอลัมน์ สุขภาพดีกับโรงพยาบาลศิครินทร์


http://www.matichon.co.th/online/2015/0 ... 48972l.jpg

เป็นที่ทราบกันดีว่า โรคเบาหวานเป็นความผิดปกติของร่างกายที่มีการผลิตฮอร์โมน อินซูลินไม่เพียงพอหรือร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินมาตรฐาน หากไม่ได้รักษาอย่างเหมาะสมเมื่อน้ำตาลในกระแสเลือดมากจะทำให้เกิดผลเสียในระยะยาวต่อหลอดเลือด และอาจเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้

โรคเบาหวานส่วนใหญ่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้แต่สามารถควบคุมได้ซึ่งวิธีที่จะช่วยให้ผู้ที่เป็นเบาหวานหนีภัยที่มากับโรคเบาหวานมี 4 วิธีการหลักๆ ดังนี้

1.ควบคุมอาหารและควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เลือกรับประทานอาหารควบคุมน้ำหนักอย่างถูกต้องตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ เพื่อสุขภาพเป็นสิ่งที่สำคัญในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน เมื่อควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีโรคแทรกซ้อนก็จะลดลงด้วย

2.ออกกำลังกาย ควรปฎิบัติอย่างสมํ่าเสมอจะทำให้น้ำตาลในเลือดลดต่ำลงได้ เนื่องจากขณะที่เราออกกำลังกายร่างกายต้องใช้พลังงานและแหล่งพลังงานที่สำคัญในร่างกายก็ คือ น้ำตาล หากออกกำลังกายให้เพียงพอร่างกายจะใช้น้ำตาลในเลือดเพื่อเปลี่ยนไปเป็นพลังงานเกิดการใช้พลังงานขึ้น ตัวอย่างเช่น การเดินเร็ว การวิ่ง การปั่นจักรยาน การว่ายนํ้า การทำสวน โยคะ เป็นต้น นอกจากนี้การออกกำลังยังช่วยทำให้การควบคุมเบาหวานได้ดีขึ้น และสามารถลดการใช้ยาลงได้

3.ใช้ยาคุมอาการ การใช้ยาควบคุมเบาหวานไม่ว่าจะเป็นยากินหรือยาฉีดอินซูลิน ยังเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยเบาหวานส่วนมาก เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ได้ตามเป้าหมายของการรักษา มีเพียงบางส่วนของผู้ป่วยที่ระดับน้ำตาลในเลือดไม่สูงมากนักที่อาจจะใช้เพียงแค่การควบคุมอาหารและออกกำลังกาย

4.หมั่นตรวจหาโรคแทรกซ้อน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ทำการดูแลรักษาผู้ป่วยเบาหวานจะแนะนำและติดตามให้ผู้ป่วยได้รับการตรวจหาโรคแทรกซ้อนของหัวใจตา ไต เท้า และสุขภาพช่องปากเป็นประจำ เพื่อค้นหาและป้องกันโรคแทรกซ้อนตั้งแต่เนินๆ ผู้ป่วยจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีอายุที่ยืนยาวได้ไม่แตกต่างจากคนทั่วไปที่ไม่เจ็บป่วย

ดังนั้นโปรแกรมการดูแลผู้ป่วยเบาหวานจึงไม่ใช่เพียงแค่การรักษาอาการที่เกิดจากความเจ็บป่วยเท่านั้นแต่ยังเป็นการดูแลสุขภาพองค์รวมของผู้ป่วยในระยะยาว รวมทั้งยังจำเป็นที่จะต้องดูแลปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำรงชีวิตร่วมกันทั้งผู้ป่วยและครอบครัวเอง เพื่อส่งเสริมการควบคุมโรคของผู้ป่วยและลดความสี่ยงต่อการเกิดโรคของสมาชิกในครอบครัว



ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 03 มิถุนายน 2558