Page 1 of 1

โพล ชี้ ปัญหาแรงงานการผลิตไม่เพียงพอ เป็นจุดอ่อนไทย เข้าสู่

Posted: 15 Jun 2015, 18:27
by brid.ladawan
โพล ชี้ ปัญหาแรงงานการผลิตไม่เพียงพอ เป็นจุดอ่อนไทย เข้าสู่ AEC



โพล ชี้ชัด คนส่วนใหญ่ในประเทศ เห็นว่า ความเพียงพอของแรงงานในภาคการผลิต เป็นจุดอ่อนของไทย กรณีจะเข้าสู่ AEC ปลายปีนี้

รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผย ผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์ (Master Poll) เรื่อง AEC กับ การเตรียมความพร้อมของคนไทย รัฐบาลพร้อม? คนไทยพร้อม?

กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศจำนวนทั้งสิ้น 1,055 ตัวอย่าง โดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบใช้ความน่าจะเป็นทางสถิติจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลแกนนำชุมชนทั่วประเทศ รวบรวมโดย ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน ดำเนินโครงการในวันที่ 5-7 มิถุนายน 2558 ผลสำรวจการติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อมวลชนในช่วง 30 วัน ที่ผ่านมา พบว่า แกนนำชุมชน ร้อยละ 55.6 ระบุติดตามทุกวัน/เกือบทุกวัน ในขณะที่ร้อยละ 22.5 ระบุติดตาม 3-4 วัน/สัปดาห์ ร้อยละ 9.2 ระบุติดตาม 1-2 วัน/สัปดาห์ ร้อยละ 9.1 ระบุน้อยกว่าสัปดาห์ละครั้ง และร้อยละ 3.6 ระบุไม่ได้ติดตามเลย

คณะผู้วิจัยได้เริ่มต้นจากการสอบถามแกนนำชุมชน ถึงความสนใจติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับประเทศในกลุ่มอาเซียน ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 2.1 ระบุ มีความสนใจติดตามน้อยที่สุด ร้อยละ 9.6 ระบุ น้อย ในขณะที่มากกว่าครึ่งหนึ่ง คือร้อยละ 60.2 ระบุ มีความสนใจในระดับปานกลาง ร้อยละ 23.5 ระบุ สนใจมาก และร้อยละ 4.6 ระบุ สนใจมากที่สุด

ทั้งนี้ เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามถึงการทราบข่าวที่ประเทศไทย จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในช่วงเดือนธันวาคม ที่จะถึงนี้นั้น ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนเกือบร้อยละร้อย คือ ร้อยละ 96.0 ระบุ ทราบข่าวแล้ว ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 4.0 ระบุ ยังไม่ทราบ/เพิ่งทราบ ประเด็นสำคัญที่น่าพิจารณาที่ค้นพบจากการสำรวจในครั้งนี้ คือ คณะผู้วิจัยได้สอบถามถึงประเด็นคุณลักษณะที่เป็นจุดอ่อน-จุดแข็งของประเทศไทย ในการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน พบว่า ในประเด็น ความง่ายในการเข้าถึงวัตถุดิบในการลงทุนนั้น แกนนำชุมชน ร้อยละ 50.0 ระบุ เห็นว่าเป็นจุดอ่อน ในขณะที่ร้อยละ 50.0 เช่นเดียวกันที่เห็นว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นจุดแข็ง

สำหรับในด้านความเพียงพอของแรงงานในภาคการผลิต พบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 59.1 เห็นว่า เป็นจุดอ่อน ในขณะที่ร้อยละ 40.9 ระบุเห็นว่า เป็นจุดแข็ง ด้าน คุณภาพของแรงงาน ทักษะ ความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ พบว่าแกนนำชุมชนร้อยละ 49.2 เห็นว่า เป็นจุดอ่อน ในขณะที่ร้อยละ 50.8 ระบุเห็นว่าเป็นจุดแข็ง ด้าน คุณภาพของสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานภายในประเทศ พบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 40.8 เห็นว่า เป็นจุดอ่อน ในขณะที่ร้อยละ 59.2 ระบุเห็นว่า เป็นจุดแข็ง ด้าน คุณภาพและความสะอาดปลอดภัยด้านอาหาร พบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 36.7 เห็นว่า เป็นจุดอ่อน ในขณะที่ร้อยละ 63.3 ระบุเห็นว่า เป็นจุดแข็ง ด้าน การมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่ดีและน่าสนใจ พบว่าแกนนำชุมชนร้อยละ 34.4 ระบุเห็นว่าเป็นจุดอ่อน ในขณะที่ร้อยละ 65.6 เห็นว่าเป็นจุดแข็ง ด้าน คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน พบว่าแกนนำชุมชน ร้อยละ 45.6 ระบุเห็นว่าเป็นจุดอ่อน ในขณะที่ร้อยละ 54.4 เห็นว่าเป็นจุดแข็ง ด้าน โอกาสเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ พบว่าแกนนำชุมชนร้อยละ 40.7 เห็นว่า เป็นจุดอ่อน ในขณะที่ร้อยละ 59.3 ระบุเห็นว่า เป็นจุดแข็ง

ด้านมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ดีและน่าสนใจ พบว่าแกนนำชุมชนร้อยละ 19.1 เห็นว่าเป็นจุดอ่อน ในขณะที่ร้อยละ 80.9 ระบุเห็นว่าเป็นจุดแข็ง ด้านเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเมืองของประเทศ พบว่าแกนนำชุมชนร้อยละ 49.4 เห็นว่าเป็นจุดอ่อน ในขณะที่ร้อยละ 50.6 ระบุเห็นว่าเป็นจุดแข็ง และด้าน การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีของประชาชน/คนในท้องถิ่น พบว่าแกนนำชุมชนร้อยละ 23.2 เห็นว่าเป็นจุดอ่อน ในขณะที่ร้อยละ 76.8 ระบุเห็นว่าเป็นจุดแข็ง ตามลำดับ

นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยได้สอบถามความคิดเห็นของแกนนำชุมชนต่อไป ถึงความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของประเทศไทยและคนไทย ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 42.0 ระบุคิดว่า ประเทศไทยพร้อมทุกด้านแล้ว อย่างไรก็ตาม แกนนำชุมชนประมาณ 1 ใน 3 คือ ร้อยละ 36.2 ระบุคิดว่า รัฐบาลพร้อมแต่ประชาชนยังไม่พร้อม และร้อยละ 21.8 ระบุคิดว่าไม่พร้อมเลยทั้งรัฐบาลและประชาชน ประเด็นสุดท้าย เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามแกนนำชุมชนถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 27.7 ระบุ รู้สึกตื่นเต้นและเฝ้ารอ ในขณะที่ร้อยละ 39.6 ระบุ รู้สึกกังวล เพราะ ไม่รู้ว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง และร้อยละ 32.7 ระบุเฉยๆ ไม่ได้รู้สึกอะไร.



ที่มา ไทยรัฐออนไลน์
วันที่ 15 มิ.ย. 2558