Page 1 of 1

ยุทธศาสตร์ "อาร์ซีอีพี" จีน-เกาหลี-ญี่ปุ่น รุกคืบอาเซียน

Posted: 06 Apr 2013, 15:53
by brid.ladawan
ladawan
Hero Member
*****
Posts: 824


View Profile Email


ยุทธศาสตร์ "อาร์ซีอีพี" จีน-เกาหลี-ญี่ปุ่น รุกคืบอาเซียน
« on: November 28, 2012, 01:52:46 pm »

ยุทธศาสตร์ "อาร์ซีอีพี" จีน-เกาหลี-ญี่ปุ่น รุกคืบอาเซียน

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
การประชุมผู้นำเอเชียตะวันออก ณ ประเทศกัมพูชาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา บรรดาประเทศที่เข้าร่วมประชุมเห็นพ้องที่จะให้เกิดการเจรจากรอบความร่วมมือเสรีการค้าร่วมกัน ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่าจุดมุ่งหมายในการร่วมมือดังกล่าวจะส่งผลให้ความสัมพันธ์ทางการค้าแน่นแฟ้นมากขึ้น ในช่วงเวลาที่ภูมิภาคมีความขัดแย้งที่พุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะกรณีความขัดแย้งบริเวณพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเอเชียอย่างจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

เอเอฟพีรายงานว่า ในที่ประชุมผู้นำเอเชียตะวันออก ได้พุ่งประเด็นไปยังความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์ซีอีพี (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) ซึ่งนอกจากจะมีประเทศมหาอำนาจเศรษฐกิจเอเชีย 3 ชาติอย่าง ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ ผนวกเข้ากับชาติอาเซียนอีก 10 ชาติแล้ว ยังพ่วงเอาอินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ มาร่วมวงอีกด้วย ความร่วมมือนี้มีประเทศญี่ปุ่นเป็นตัวตั้งตัวตีที่จะให้เกิดความตกลงดังกล่าวขึ้น

ด้าน ไชน่า เดลี่ รายงานถึงท่าทีของจีนต่อการเจรจาครั้งนี้ว่า นายเวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีจีน ประกาศสนับสนุนการผลักดันเขตการค้าเสรีในเอเชีย หรืออาร์ซีอีพีให้เกิดขึ้น โดยความร่วมมือนี้ จะครอบคลุมถึง 28% ของจำนวนการค้าโลกทั้งหมด นอกจากนี้ ที่ประชุมผู้นำเอเชียตะวันออกยังคาดหวังให้ริเริ่มการเจรจาครั้งแรกเร็วที่สุดภายในต้นปี 2556 และให้สิ้นสุดภายในปี 2558

วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งอาร์ซีอีพี คือ การสร้างความเข้าใจร่วมระหว่างหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ คณะทำงานยังมุ่งมั่นให้อาร์ซีอีพีสนับสนุนให้เกิดการหมุนเวียนและเคลื่อนย้ายของสินค้าและบริการได้อย่างเสรี พร้อมทั้งมีผลผูกพันมากกว่ากรอบการค้าเสรีอาเซียนที่เกิดขึ้นอยู่ก่อนหน้านี้

ทางรัฐบาลญี่ปุ่นกล่าวว่า หากการเจรจาการค้าเสรีของทั้ง 3 ประเทศประสบความสำเร็จ จะส่งผลให้เป็นหนึ่งในเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก และปี 2554 ตัวเลขการค้าระหว่าง 3 ประเทศอยู่ที่ 514,900 ล้านเหรียญสหรัฐ

ด้าน นายฉิน กัง โฆษกรัฐมนตรีกระทรวง การต่างประเทศของจีน กล่าวว่า ทางการจีนเชื่อว่ากรอบการค้าเสรีกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้นี้ จะเป็นตัวขับเคลื่อนครั้งสำคัญในการหลอมรวมข้อตกลงทางการค้าในภูมิภาคเป็นที่เชื่อกันอย่างกว้างขวางในหมู่นักวิเคราะห์ ว่า การสนับสนุนของจีนต่ออาร์ซีอีพีในครั้งนี้ เป็นการตอบโต้สหรัฐที่พยายามจะดึงชาติต่าง ๆ ในเอเชีย-แปซิฟิกเข้าร่วมในความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เอเชีย-แปซิฟิก หรือทีพีพี โดยล่าสุดมีชาติสมาชิกอาเซียน 4 ชาติ ได้แก่ มาเลเซีย บรูไน สิงคโปร์ และเวียดนาม เข้าร่วมในความตกลงดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ในขณะที่สมาชิกอาเซียนบางประเทศก็ได้แสดงท่าทีสนใจต่อการเข้าร่วมเช่นกัน

นายลู่ เจียนเหริน ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาอาเซียนได้ให้ความเห็นว่า ทีพีพีจะเป็นการแยกชาติอาเซียนออกจากกัน ซึ่งจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างชาติอาเซียนเกิดความอ่อนแอ แต่อาร์ซีอีพีจะเป็นการส่งเสริมร่วมมือกันและเปิดกว้างมากกว่า

นอกจากการหารือเรื่องอาร์ซีอีพีแล้ว ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีนได้จัดประชุมนอกรอบ ณ กรุงพนมเปญ ถึงความร่วมมือกันจัดตั้งเขตการค้าเสรีระหว่าง 3 ประเทศขึ้น ตลอดจนมีการออกแถลงการณ์ร่วมกันถึงกำหนดการประชุมที่จะเริ่มขึ้นภายในต้นปีหน้าที่จะถึงนี้ ทั้งนี้ การหารือดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างจีนและญี่ปุ่น ขั้วอำนาจที่ขัดแย้งชิงพื้นที่บริเวณทะเลจีนตะวันออก ที่เรียกว่า "เกาะเตียวหยู" หรือ "เกาะเซนกากุ" ในภาษาญี่ปุ่น

การค้าระหว่างจีนกับญี่ปุ่นที่มีมูลค่าสูงกว่า 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี แต่ต้องได้รับผลกระทบจากกระแสชาตินิยมคลั่งชาติที่ก่อตัวขึ้น ชาวจีนต่างพากันงดซื้อสินค้าที่มีสัญชาติญี่ปุ่น ส่งผลให้ค่ายรถสัญชาติญี่ปุ่นยักษ์ใหญ่อย่างนิสสัน คาดการณ์ยอดขายในตลาดจีนที่ตกลงอย่างมาก อีกทั้งยังส่งผลให้ญี่ปุ่นเสียโอกาสทางการค้าที่สำคัญ ขณะที่เศรษฐกิจของญี่ปุ่นเองต้องประสบปัญหามาเป็นเวลาหลายปี

ในขณะที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ก็มีความขัดแย้งเกิดขึ้นเช่นกันในบริเวณน่านน้ำระหว่างทั้ง 2 ประเทศ โดยทั้ง 2 ประเทศมีความพยายามที่จะอ้างกรรมสิทธิ์เหนือ "เกาะด็อกโด" หรือ "เกาะทาเคชิมา" ในภาษาญี่ปุ่น ซึ่งความตึงเครียดได้ปะทุขึ้นหลังจากที่นายลี มยอง-บัก ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เดินทางเยือนเกาะเจ้าปัญหาดังกล่าว

ความขัดแย้งบนพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่าง 3 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี ที่ยังคงไม่คลี่คลายจึงยังเป็นคำถามต่อการเกิดขึ้น และผลประโยชน์ที่จะได้จากความร่วมมืออาร์ซีอีพี ซึ่งชาติสมาชิกทั้งหมด 16 ชาติได้ตั้งเป้าแล้วว่าให้สิ้นสุดภายในปี 2558 ช่วงเวลาเดียวกับปีแห่งการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์จากธนาคารโลกยังชี้ว่า การสร้างกรอบการค้าเสรีหลายฉบับไม่เป็นผลดีอย่างแน่นอน เพราะจะทำให้กฎระเบียบมีความสลับซับซ้อนมากเกินไป ส่งผลให้ธุรกิจต่าง ๆ ไม่อาจดึงประโยชน์จากกรอบการค้าเสรีมาใช้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยตามที่รัฐบาลได้คาดหวังเอาไว้

ก้างชิ้นโต "อาร์ซีอีพี"

แผนที่แสดงที่ตั้ง "เกาะพิพาท" ระหว่างเกาหลี-ญี่ปุ่น จากแผนที่ เกาะซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทด้านบนเป็นที่ตั้งของเกาะ "ด็อกโด" ในภาษาเกาหลี หรือเกาะ "ทาเคชิมา" ในภาษาญี่ปุ่น อยู่ในทะเลญี่ปุ่น หรือทะเลตะวันออก เกาะดังกล่าวเป็นประเด็นขัดแย้งทางพรมแดนที่เกาหลีและญี่ปุ่นต่างอ้างกรรมสิทธิ์ ทั้งยังบั่นทอนความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศให้ตึงเครียดมากยิ่งขึ้น โดยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีเกาหลีใต้เยือนเกาะดังกล่าว ส่งผลให้ญี่ปุ่นไม่พอใจเป็นอย่างมาก

บริเวณตอนล่างของแผนที่คือพื้นที่พิพาทระหว่างญี่ปุ่น-จีน ซึ่งเรียกว่าเกาะ "เซนกากุ" ในภาษาญี่ปุ่น หรือเกาะ "เตียวหยู" ในภาษาจีน ตั้งอยู่บริเวณทะเลจีนตะวันออก และอยู่ทางตอนใต้ใกล้กับหมู่เกาะโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น ล่าสุดญี่ปุ่นได้ดำเนินการซื้อเกาะ 3 เกาะในพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าว ปลุกให้เกิดกระแสรักชาติของชาวจีน จนลุกลามไปถึงการต่อต้านสินค้าจากญี่ปุ่น และกระทบภาคการผลิตของธุรกิจญี่ปุ่น ซึ่งตั้งฐานการผลิตในประเทศจีนจำนวนมาก

ที่มา :ประชาชาติธุรกิจออนไลน์