ทำไมผีถึงชอบอำบ่อยๆ

Post Reply
brid.ladawan
Posts: 7045
Joined: 29 Mar 2013, 13:36

ทำไมผีถึงชอบอำบ่อยๆ

Post by brid.ladawan »

ทำไมผีถึงชอบอำบ่อยๆ


เคยรู้สึกเหมือนมีผู้หญิงใส่ชุดขาวมานั่งทับอก ขยับตัวไม่ได้ ลืมตาก็ไม่ได้บ้างหรือเปล่า? บทสวดมนต์ไหนนึกได้ก็คงท่องออกมาหมดเลยล่ะสิ บางคนสวดมนต์ก็แล้ว ต่อว่าผีก็แล้ว สุดท้ายก็ยังขยับไม่ได้ หลับใส่ผีก็คงมีกันเยอะไป แต่หารู้ไม่ !!! ผีอำแท้จริงแล้วมันคืออาการผิดปกติของร่างกายอย่างหนึ่ง

ต้องขออธิบายถึงระยะการนอนหลับของคนโดยปกติก่อน ซึ่งระยะเวลาการนอนหลับนั้นแบ่งได้ 2 ระยะ คือ

1. REM sleep (Rapid Eye Movement Sleep) เป็นระยะการนอนที่กินเวลาของการนอนประมาณ 20-25% ของการนอนทั้งหมด มีการกรอกตาอย่างแรงเป็นระยะๆ การหลับในระยะนี้ สมองจะทำงานหนักมาก และความฝันจะเกิดในระยะนี้ อีกทั้งการนอนหลับในระยะนี้ร่างกายจะมีการเคลื่อนไหวน้อยมาก คล้ายกับอาการอัมภาต (Paralysis) ซึ่งอาจเป็นเพราะร่างกายมีกลไกการป้องกันตัวต่อความฝัน หมายความว่าเวลาที่เราฝันรุนแรง ตีรันฟันแทง แข้งขาของเราอาจไปฟาดกับขอบตู้ หรือตกจากเตียงได้ ร่างกายจึงปรับการตึงตัวของกล้ามเนื้อลายลดลง เพื่อลดการบาดเจ็บขณะที่กำลังฝันอย่างเมามัน

2. Non-REM Sleep (Non Rapid Eye Movement Sleep) เป็นระยะการนอนหลับที่เป็นช่วงหลับลึก เป็นระยะที่ร่างกายจะอยู่ในความสงบ ลมหายใจสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นระยะการนอนที่ร่างกายได้พักผ่อนมากที่สุด ซึ่งแบ่งระดับการหลับลึกได้ 4 ระดับ

โดยรอบระยะของการหลับ (Sleep Cycle) นั้น เมื่อเราเริ่มหลับ จะเริ่มเข้าสู่ Non-REM sleep ระยะที่ 1-4 แล้วถอยกลับจากระยะ 4,3,2,1 แล้วค่อยเข้าสู่ช่วง REM sleep แล้วจึงเริ่มกลับมาเข้าสู่ระยะ Non-REM sleep ระยะที่ 1, 2, 3, 4 ใหม่ จากจุดเริ่มต้นของ REM sleep ไปสู่จุดเริ่มต้นของ REM sleep รอบใหม่ เราเรียกว่า หนึ่งรอบการนอน (1 Sleep Cycle) โดยใน 1 รอบจะกินเวลาประมาณ 80-90 นาที ซึ่งในหนึ่งคืนจำนวนรอบของการนอนนี้จะอยู่ที่ 3-6 รอบ

ทีนี้มาว่าด้วยเรื่องผีอำ ผีอำ(sleep paralysis) เป็นอาการผิดปกติทางการนอนหลับอย่างหนึ่ง ที่เกิดขึ้นก่อนที่จะสิ้นสุดระยะการนอนในช่วง REM Sleep กล่าวคือ ร่างกายเราตื่นขึ้นมาก่อนที่จะหมดช่วง REM sleep ซึ่งร่างกายพอจะรู้สึกตัวแล้ว แต่ยังขยับร่างกายไม่ได้ เนื่องจากช่วง REM sleep จะเป็นช่วงการนอนหลับที่ร่างกายปรับให้มีการเคลื่อนไหวได้น้อยคล้ายคนเป็นอัมภาต เพื่อป้องกันการบาดเจ็บขณะฝัน

เราจึงมีอาการเหมือนกึ่งหลับกึ่งตื่น คล้ายกำลังฝัน แต่ก็เหมือนกับตื่นนอนแล้ว เพียงแต่รู้สึกไม่สบายตัว แน่นหน้าอกเหมือนมีใครมานั่งทับ ขยับแขน ขา ไม่ได้ รวมทั้งส่งเสียงเรียกใครไม่ได้ เป็นอยู่เช่นนี้ไม่นานอาจกินเวลาตั้งแต่วินาทีไปจนถึงนาที บางคนอาจมีอาการหลอนร่วมด้วย ทั้งหลอนว่าลอยได้ หรือมีใครมายืนจ้องหน้า บ้างก็หลอนจากการได้ยินเสียงหัวเราะ หรือเสียงคนคุยกันข้างหู ซึ่งอาการหลอนอาจสัมพันธ์กับเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันที่เราพบเจอ เป็นเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่ทำให้เราเครียดและเป็นกังวล

เหตุที่เราโดนผีอำบ่อยๆ นั้น เนื่องจากการมีพฤติกรรมการนอนที่ไม่ดี ชอบอดหลับอดนอน หรือนอนไม่เป็นเวลา มีความเครียดความกังวล หรือเหนื่อยล้าสะสม การรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีนก่อนนอน การดื่มแอลกอฮอร์ สูบบุหรี่ รวมไปทั้งการทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือเล่นสมาร์ทโฟนก่อนนอนด้วย แต่ถ้าอยากหนีผีล่ะก็ ให้ทำตรงข้ามทุกอย่างที่กล่าวมา และทำเพิ่มในเรื่องของการเข้านอนก่อนจะง่วงนอน นอนในห้องนอนที่ใช้สำหรับนอนจริงๆ (ห้องนอนที่มีแต่เครื่องนอน) ปรับแสงให้เหมาะสม หรืออาจทำสมาธิ ฝึกลมหายใจก่อนนอนเพื่อผ่อนคลายด้วยก็ไม่ว่ากัน เพื่อสุขอนามัยการนอนที่เหมาะสม

แต่ถ้าปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอนแล้วผีก็ยังมารบกวน ก็ควรรีบพบแพทย์ เพราะการนอนหลับที่ไม่ได้คุณภาพอาจส่งผลต่อโรคภัยไข้เจ็บอื่นๆ อาทิเช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคซึมเศร้า ไปถึงความจำและสุขภาพทางจิตด้วย

เห็นมั๊ยว่า ต่อให้มีหมอผีขั้นเทพมาปราบผีอำแค่ไหน ก็คงทำได้ยากถ้าไม่รู้จักดูแลร่างกายและจิตใจของตัวเองให้ดี


ที่มาของข้อมูล
haamor.com/th/ผีอำ/
www.livescience.com/50876-sleep-paralysis.html
July 03, 2015
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”