Page 1 of 1

ทำสตาร์ทอัพอย่างไรให้สำเร็จ มุมมองของ ‘บิล ไรย์ชาร์ด’

Posted: 15 Jul 2015, 13:43
by brid.ladawan
ทำสตาร์ทอัพอย่างไรให้สำเร็จ มุมมองของ ‘บิล ไรย์ชาร์ด’

„ทำสตาร์ทอัพอย่างไรให้สำเร็จ มุมมองของ ‘บิล ไรย์ชาร์ด’ จุดเริ่มต้นในการตั้งกองทุนเพราะว่ามองธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยี เป็นธุรกิจแห่งอนาคต แต่ไม่อยากเห็นอยู่เฉพาะในซิลิคอน วัลเลย์ จึงอยากขยายไปยังทั่วโลก วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม 2558 เวลา 4:11 น. มีโอกาสไม่บ่อยมากนักที่กลุ่มสตาร์ทอัพของไทย จะได้มีโอกาสสัมผัสมุมมอง แนวความคิดของกลุ่มทุนจากต่างประเทศ ที่มาให้ความรู้ว่าทำอย่างไร “เทค สตาร์ทอัพ” หรือ ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีหน้าใหม่จะสามารถประสบความสำเร็จในตลาดโลกได้ โครงการดีแทค แอคเซอเลเรท แบทช์#3 (dtac Accelerate Batch #3) ได้มีโอกาสเชิญผู้คร่ำหวอดในวงการสตาร์ทอัพ อย่าง “มร.บิล ไรย์ชาร์ด” หุ้นส่วนบริษัท Garage Technology Venture ร่วมกับ Guy Kawasaki และถือเป็นที่ปรึกษา (Mentor) ระดับโลก มาให้มุมมอง ในเรื่อง “The Art of Startup” กับทีมสตาร์ทอัพทั้ง 6 ทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายของโครงการในปีที่ 3 นี้ มร.บิล ไรย์ชาร์ด มีประสบการณ์กว่า 20 ปี ในการก่อตั้งและรับตำแหน่งผู้บริหารให้กับ เทค สตาร์ทอัพ หลายแห่ง รวมถึงเคยดำรงตำแหน่งในบอร์ดบริหารของ The Silicon Valley Association of Startup Entre preneurs อีกด้วย ที่ผ่านมา บิล ไรย์ชาร์ด ได้ลงทุนไปแล้วประมาณ 155 บริษัททั่วโลก จำนวนกว่า 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีบริษัทสตาร์ทอัพ ที่ประสบความสำเร็จ อาทิ แพนโดร่า (Pandora) ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นมิวสิก สตรีมมิ่ง ที่มีมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาทในปัจจุบัน มร.บิล ไรย์ชาร์ด กล่าวว่า จุดเริ่มต้นในการตั้งกองทุนเพราะว่ามองธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยี เป็นธุรกิจแห่งอนาคต แต่ไม่อยากเห็นอยู่เฉพาะในซิลิคอน วัลเลย์ จึงอยากขยายไปยังทั่วโลก โดยดูจากโอกาสทางธุรกิจของเทค สตาร์ทอัพที่เกิดให้ทั่วโลก โดนกองทุนของเขาจะเน้นการเข้าไปลงทุนในเทค สตาร์ทอัพ ที่อยู่ในช่วงตั้งต้น หรือเป็นบริษัทที่กำลังจะเริ่มธุรกิจ ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา ธุรกิจสตาร์ทอัพเติบโตมากขึ้น มีเงินทุนไหลมาในเอเชียมากยิ่งขึ้น โดยดูจากการที่ได้มีโอกาสเดินทางไปสิงคโปร์ เกาหลี และฮ่องกง ก็เห็นแนวโน้มเป็นอย่างนั้น อย่างไรก็ตามทางกองทุนของตนไม่ได้เชี่ยวชาญในเอเชียมากนัก จึงจะใช้วิธีการเข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์กับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ หรือโอปเรเตอร์ เพื่อนำผลงานที่น่าสนใจไปนำเสนอให้กับกลุ่มนักลงทุนต่าง ๆ มร.บิล กล่าวต่อว่า ได้เข้ามาร่วมกับโครงการดีแทค แอคเซอเลเรท เป็นปีที่ 2 ซึ่งได้เห็น ความแตกต่างในปีนี้ คือ มีทีมที่สนใจเข้าร่วมโครงการนี้มากขึ้นจนเกือบถึง 200 ทีม จากปีที่แล้วเพียง 144 ทีม แสดงให้เห็นว่าคนไทยตื่นตัวในการเริ่มต้นเข้าสู่วงการสตาร์ทอัพ “การมาร่วมโครงการเป็นปีที่ 2 ได้เห็นความพร้อมของเด็ก ๆ ทั้ง 6 ทีม ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย มีพลังของผู้ประกอบการ ที่เทียบเท่ากับผู้ประกอบการและระบบนิเวศของประเทศอื่น ๆ ทำให้รู้สึกประทับใจมาก แต่ยังมีอะไรที่ทั้ง 6 ทีมยังจะต้องทำอีกมากกว่าจะได้รับการลงทุนจากนักลงทุน โดยเฉพาะผลงานที่พัฒนาขึ้นจะต้องตอบโจทย์ให้กับนักลงทุนได้ทุกเรื่อง” สำหรับปัจจัยที่จะทำให้สตาร์ทอัพประสบความสำเร็จนั้น มร.บิล มองว่า บริษัทที่จะเติบโตไปได้ในระดับโลกต้องมีความคิดที่จะโกอินเตอร์ ตั้งแต่แรก คิดแก้ปัญหาในระดับโลกให้กับคนทั่วโลก การคิดแต่จะทำธุรกิจแค่ในระดับท้องถิ่นจะทำให้เติบโตช้า และเรื่องภาษาอังกฤษเพื่อใช้ในการสื่อสารก็เป็นเรื่องสำคัญหากไม่เชี่ยวชาญและไม่มีทักษะด้านภาษาเวลาคุยกับนักลงทุนอาจเป็นปัญหาและอุปสรรคที่จะทำให้การเจรจาไม่ประสบความสำเร็จได้ ส่วนสิ่งที่จะเป็นที่สนใจและดึงดูดสำหรับนักลงทุนนั้น จากประสบการณ์ของ มร.บิล มองว่า เทคโนโลยีนั้นมีการป้องกันการก๊อบปี้หรือเลียนแบบได้ และเมื่อคิดเทคโนโลยีขึ้นมาแล้ว เมื่อนำเข้าไปใช้หรือทำตลาดในประเทศหรือภูมิภาคใด ๆ จะต้องสามารถมีส่วนแบ่งทางการตลาดได้ อย่างไรก็ตามสิ่งที่นักลงทุนจะเลี่ยงหรือไม่เข้าไปลงทุนหากต้องพบปัญหาหรือติดกฎระเบียบต่าง ๆ ของประเทศนั้น ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน อย่างไรก็ตาม มร.บิล ได้แบ่งปันข้อมูลการเข้าไปลงทุนใน 155 บริษัทของเขาว่า ในปัจจุบันมี 45 บริษัทที่ไม่ประสบความสำเร็จต้องปิดตัวลง และมี 60 บริษัท ที่ขายกิจการให้กับบริษัทอื่น ๆ ในแบบไม่มีกำไร และมีอีกประมาณ 55 บริษัท ที่ขายกิจการไปได้แบบมีกำไร ซึ่งในจำนวนนี้มี 8 บริษัท ที่สามารถระดมทุนเข้าตลาดหุ้นได้ และขณะนี้ทางกองทุนมีงบประมาณอยู่อีก 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่จะนำไปลงทุนในบริษัท เทค สตาร์ทอัพที่เกิดใหม่ แต่จะเน้นบริษัทที่จดทะเบียนในสหรัฐ เท่านั้น จึงยังไม่มีแผนที่จะเข้ามาลงทุนในเทค สตาร์ทอัพ ของไทยในตอนนี้ ด้านนายสมโภชน์ จันทร์สมบูรณ์ ผู้อำนวยการ โครงการ ดีแทค แอคเซอเลเรท กล่าวเสริมให้เห็นภาพว่า ที่ผ่านมาวงการอุตสาหกรรม สตาร์ทอัพ ทั่วโลก ได้มีการเก็บสถิติไว้ว่ามีสตาร์ทอัพเพียง 1% เท่านั้นที่จะสามารถประสบความสำเร็จอย่างสูงสุด นั่นหมายความว่า การตั้งบริษัทสตาร์ทอัพขึ้นมา 100 บริษัท เพื่อทำธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยี จะมีเพียง 1 บริษัทเท่านั้นที่จะสามารถประสบความสำเร็จได้ในตลาดโลก เมื่อมองประเทศไทยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีบริษัทที่เป็นเทค สตาร์ทอัพเกิดขึ้นจำนวนมาก และที่ประสบความสำเร็จในตลาดก็มี ซึ่งอาจจะต้องอาศัยระยะเวลาอีกระยะ เพราะในมุมมองขณะนี้ตลาดของไทยเป็นเสมือนตอนที่มีสตาร์ทอัพเริ่มแรกในซิลิคอน วัลเลย์ อย่างก็ตามแม้ธุรกิจ เทค สตาร์ทอัพ ของไทย จะอยู่ในช่วงเริ่มแรกแต่หากได้รับการสนับสนุนที่ดีจากทั้งภาครัฐและเอกชน โอกาสที่จะดังไกลไปตลาดโลกก็ยังมีอยู่.

ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์
จิราวัฒน์ จารุพันธ์ JirawatJ@dailynews.co.th
14 กรกกฎาคม 2558