Page 1 of 1

สร้างความจริงเสมือนจากโค้ดคิวอาร์

Posted: 31 Jul 2015, 11:14
by brid.ladawan
สร้างความจริงเสมือนจากโค้ดคิวอาร์

„สร้างความจริงเสมือนจากโค้ดคิวอาร์ เทคนิคการบีบอัดข้อมูลร่วมกับแอพในมือถือขึ้นมาชิ้นหนึ่งที่สามารถใช้กล้องส่องโค้ดคิวอาร์ แล้วปรากฏเป็นข้อความสื่อผสม คือ รูปภาพและเสียงบนจอทันที และความเท่ของแอพนี้ คือทำงานได้โดยไม่ต้องต่อกับอินเทอร์เน็ต เดี๋ยวนี้ความจริงเสมือนเริ่มเป็นที่รู้จัก เพราะบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเฟซบุ๊กไปลงทุนซื้อบริษัทเล็กที่ทำอุปกรณ์ครอบหัวแล้วมองเข้าไปเห็นโลกเสมือนสามมิติได้ (เป็นอุปกรณ์ชื่อ Oculus Rift) และไม่นานมานี้ ไมโครซอฟท์ประกาศโครงการ Holo Lens ซึ่งเป็นแว่นใส่กึ่งโปร่งใส เห็นโลกจริงผสมผสานกับโลกเสมือนสามมิติได้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้ฟังงานวิจัยที่เกี่ยวกับความจริงเสมือนของนางสาวดารุณี บุญมา นิสิตปริญญาโท ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รู้สึกตื่นตาตื่นใจกับงานชิ้นนี้ จึงหยิบมาเล่าสู่กันฟัง คุณดารุณี ใช้เทคนิคการบีบอัดข้อมูลร่วมกับแอพในมือถือขึ้นมาชิ้นหนึ่งที่สามารถใช้กล้องส่องโค้ดคิวอาร์ แล้วปรากฏเป็นข้อความสื่อผสม คือ รูปภาพและเสียงบนจอทันที และความเท่ของแอพนี้ คือทำงานได้โดยไม่ต้องต่อกับอินเทอร์เน็ต ข้อมูลทั้งรูปและเสียงฝังอยู่ในโค้ดคิวอาร์เลย ผมจะลองเล่าการใช้งานจริงให้เห็นภาพ ที่แถวคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และบริเวณรอบ ๆ มีต้นไม้ ดอกไม้สวย ๆ อยู่มาก เป็นธรรมเนียมของสถาบันการศึกษา อยากให้นิสิตนักศึกษาได้มีความรู้กว้างขวาง จึงติดชื่อต้นไม้เหล่านั้นไว้ ทีนี้เราเอาโค้ดคิวอาร์แบบใหม่ที่ว่านี้ ใส่รูปดอกไม้ (เพราะดอกมิได้บานให้เห็นตลอดปี) และมีเสียงหวาน ๆ ของสาวคณะอักษรฯ บรรยายประกอบไว้ด้วย ผู้มาเยี่ยมคณะอักษรฯ สามารถใช้แอพของคุณดารุณี ส่องโค้ดเหล่านี้ และเพลิดเพลินไปกับความรู้และความบันเทิงได้อย่างง่าย ๆ ลองคิดถึงว่า เมื่อเอาวิธีการนี้ไปใช้กับการขายสินค้า โดยให้มีการบอกสรรพคุณของสินค้า (มือถือไม่ต้องต่ออินเทอร์เน็ต) จะมีประโยชน์มากมาย หรือไปใช้กับสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อเล่าประวัติ ตำนาน นิทานที่น่าสนใจ (สั้น ๆ) ผมคิดว่าท่านผู้อ่านคงจะคิดถึงวิธีใช้แอพและโค้ดคิวอาร์นี้ได้มากมาย หลักการของงานชิ้นนี้ คือ การบีบอัดข้อมูลรูปและเสียงให้เล็กลง จนบรรจุลงในโค้ดคิวอาร์ ซึ่งโค้ดคิวอาร์แบบมาตรฐานขนาดใหญ่สุด (รุ่น 40 ขนาด 177x177 จุด) สามารถบรรจุข้อมูลได้ราว 4,000 ตัวอักษร แล้วหน้าที่ของแอพ คือ อ่านข้อมูลโค้ดคิวอาร์ขึ้นมา แล้วคลายออกเป็นรูปและเสียงนำเสนอในทันที โทรศัพท์มือถือที่คุณดารุณีแสดงให้ผมดูก็ไม่ใช่มือถือราคาแพงหรือพิเศษแต่อย่างใด แถมซอฟต์แวร์ก็ไม่ต้องเป็นรุ่นใหม่ ตอนนี้แอพทำงานบนแอนดรอยด์รุ่นโบราณ เช่น 2.3 ก็ยังได้ (ปัจจุบัน รุ่น 5.1 แล้ว) ก็นับว่าแอพนี้ไม่กินแรงเครื่องแถมคุณภาพดีอีกด้วย จะเห็นได้ว่า คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ของเราสามารถสร้างของใหม่ ๆ และทำเชิงพาณิชย์ได้ อย่างนี้ศัพท์สมัยใหม่เรียกว่า “นวัตกรรม” ผมเลยเกิดแรงบันดาลใจว่า การศึกษานอกจากเป็นการสร้างคนแล้ว ผู้เรียนในสมัยนี้ก็มีโอกาสสร้างทักษะและอาชีพได้จริง มิใช่เรียนอยู่ในหอคอยงาช้างอีกแล้ว สนใจงานชิ้นนี้อ่านวิทยานิพนธ์ของคุณดารุณีได้ ชื่อ “การใช้เทคนิคการบีบอัดข้อมูลแบบออฟไลน์สำหรับเพิ่มความจุให้คิวอาร์โค้ด” ที่เพิ่งส่งเข้าไประบบออนไลน์ของหอสมุดกลางจุฬาฯ สด ๆ ร้อน ๆ ครับ ผู้ที่สนใจแอพนี้ ส่งอีเมลถึงผมได้ที่ prabhas@chula.ac.th ถ้ามีผู้สนใจมากจะจัดให้ลองโหลดไปเล่นกันดู. ศ.ดร.ประภาส จงสถิตย์วัฒนา ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “

ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์
24 กรกฎาคม 2558