กินๆ นอนๆ ..กรดไหลย้อนทำพิษ

Post Reply
brid.ladawan
Posts: 7045
Joined: 29 Mar 2013, 13:36

กินๆ นอนๆ ..กรดไหลย้อนทำพิษ

Post by brid.ladawan »

กินๆ นอนๆ ..กรดไหลย้อนทำพิษ

ช่วงหยุดยาวแบบนี้ ใครหลายคนคงออกไปเที่ยวพักผ่อนกับครอบครัว แต่ใครหลายคนก็คงนอนตีพุงกินขนมอยู่หน้าทีวี ถ้าหากอยากนอนสบายๆ แล้วล่ะก็ ควรจะเลิกกินขนม แล้วนอนดูละคร หนังฯ หรือซีรีส์เฉยๆ เพราะไม่เช่นนั้นการนอนอาจไม่สบายอีกต่อไป หากกรดไหลย้อนเล่นงานแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว

โดยปกติเวลาที่เรารับประทานอาหาร การทำงานของร่างกายในการป้องกันฤทธิ์ของกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปในส่วนของหลอดอาหาร โดยการทำงานของส่วนที่เรียกว่า Lower esophageal sphincter (LES) หรือหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างนั่นเอง ซึ่งหูรูดส่วนนี้จะคลายตัวเพื่อให้อาหารผ่านลงสู่กระเพาะขณะที่เรากลืนอาหาร และจะหดตัวปิดทันทีเพื่อป้องกันอาหาร รวมทั้งกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปในส่วนของหลอดอาหารได้

ซึ่ง โรคกรดไหลย้อน (GERD; Gastro esophageal reflux disease)เกิดจากการที่น้ำย่อยในกระเพาะอาหารซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรดไหลย้อนกลับขึ้นไปในส่วนของหลอดอาหาร จึงทำให้เรารู้สึกแสบร้อนบริเวณอกและลำคอ จุกเสียดคล้ายกับอาการโรคกระเพาะ แต่โดยปกติแล้วร่างกายของเราก็จะมีการไหลย้อนของกรดขึ้นไปในส่วนของหลอดอาหารอยู่บ้างโดยเฉพาะหลังรับประทานอาหาร แต่คนที่เป็นโรคกรดไหลย้อนนี้จะมีปริมาณของกรดที่ไหลย้อนมากและบ่อยกว่าคนปกติที่ไม่ได้เป็นโรคนี้

ส่วนสาเหตุที่เราเป็นโรคกรดไหลย้อนนั้นเกิดจากการทำงานของหูรูดส่วนล่างที่ทำหน้าที่ป้องกันการไหลย้อนกลับของกรดในกระเพาะอาหารมีการทำงานบกพร่อง อาทิเช่น หูรูดเกิดการคลายตัวหรือเปิดบ่อยกว่าปกติทั้งที่ไม่มีการกลืนอาหาร หรือความดันในส่วนของหลอดอาหารลดลงจนไม่สามารถต้านทานแรงดันภายในช่องท้องและการบีบตัวของกระเพาะอาหารได้ ซึ่งความบกพร่องของหูรูดนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดถึงสาเหตุหลัก ซึ่งอาจเกิดจากกการเสื่อมตามอายุ หรือมีความผิดปกติมาตั้งแต่เกิด รวมทั้งอาจเกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารร่วมด้วย

อาการของโรคกรดไหลย้อน

แสบร้อนบริเวณหน้าอกและลำคอ จุกเสียดบริเวณใต้ต่อลิ้นปี่

เรอบ่อย หรืออาจมีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วย

รู้สึกเปรี้ยว/ขมในคอ จากกรดซึ่งมีรสเปรี้ยวหรือรสขมจากน้ำดีไหลย้อนขึ้นมา

กลืนลำบาก, มีเสมหะตลอดเวลา

มีกลิ่นปาก เสียวฟัน (อาจมีฟันผุร่วมด้วย)

หวัด/ไอเรื้อรัง, เสียงแหบ (มักเป็นตอนเช้า) ซึ่งเกิดจากกรดที่ไหลย้อนขึ้นมาทำให้ระคายเคืองที่คอหอย กล่องเสียง และหลอดลม


กลุ่มเสี่ยงของโรคนี้ อาจแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ

1. โรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งพบว่าโรคนี้มีความสัมพันธ์กับความอ้วน โรคเบาหวาน รวมทั้งโรคไส้เลื่อนกะบังลม (hiatal hernia) ซึ่งจะมีกระเพาะอาหารบางส่วนไหลเลื่อนเข้าไปอยู่ในช่องอก ทำให้มีโอกาสเกิดการไหลย้อนของกรดจากกระเพาะอาหารเพิ่มมากขึ้น

2. พฤติกรรมการรับประทานอาหาร เช่น การรับประทานอาหารในแต่ละมื้อที่มากเกินความพอดีในแต่ละมื้อ, การรับประทานอาหารที่มีรสจัด รวมไปถึงการดื่มเครื่องดื่มประเภทชา กาแฟ น้ำอัดลม รวมไปถึงการดื่มสุรา และสูบบุหรี่


ข้อควรหลีกเลี่ยงเพื่อป้องกันโรคกรดไหลย้อน เป็นการดูแลตัวเองง่ายๆ ได้แก่

รับประทานให้พอดีในแต่ละมื้อ และอย่าเปลี่ยนมื้อเย็นให้เป็นมื้อดึก เพราะเมื่อเรารับประทานอาหารไม่เป็นเวลา ทำให้ร่างกายปรับตัวสำหรับการย่อยอาหารได้ไม่ดี

ควรทำกิจกรรมเบาๆ หลังทานอาหาร ก่อนจะนอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง เช่น การนั่งดูทีวี หรือเดินเล่น เพื่อย่อยอาหารก่อนที่จะเอนตัวนอน เพื่อให้อาหารเคลื่อนตัวออกจากกระเพาะอาหารเสียก่อน

หลีกเลี่ยงชา กาแฟ น้ำอัดลม หรืออาหารรสจัด

งดเครียด หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ส่วนของบุหรี่จะไปเพิ่มกรดในกระเพาะอาหารส่งผลให้หูรูดอ่อนแอ


ข้อแนะนำสำหรับคนเป็นโรคนี้

การนอนโดยการเสริมหัวเตียงให้สูงขึ้นประมาณ 6 นิ้ว แต่ไม่ควรใช้วิธีการหนุนหมอนหลายๆ ใบเนื่องด้วยจะทำให้หล้ามเนื้อหน้าท้องเกร็งตัว ซึ่งจะทำให้ไปเพิ่มแรงดันในช่องท้องให้สูงขึ้น ยิ่งทำให้กรดไหลย้อนมากขึ้น

การนอน ควรนอนตะแคงซ้ายมากกว่าการนอนตะแคงขวา ซึ่งท่านอนตะแคงขวานั้น กระเพาะอาหารจะอยู่เหนือต่อหลอดอาหาร ทำให้มีแรงกดต่อหูรูดส่วนล่างของหลอดอาหารมากกว่า จึงทำให้หูรูดเปิดออกง่ายกว่าการนอนตะแคงซ้ายนั่นเอง



ที่มา : www.thaimotility.or.th
July 29, 2015

www.pharmacy.mahidol.ac.th
tags : กรดไหลย้อน
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”