Page 1 of 1

ETDA เผยผลสำรวจเน็ตปี 58 วัย Baby Boomer เสี่ยงถูกล้วงข้อมูล

Posted: 06 Aug 2015, 14:52
by brid.ladawan
ETDA เผยผลสำรวจเน็ตปี 58 วัย Baby Boomer เสี่ยงถูกล้วงข้อมูล

ETDA เผยผลสำรวจเน็ตปี 58 คนใช้เน็ตเพิ่มขึ้น 1 ชั่วโมงต่อวัน พบกลุ่ม Baby Boomer ใช้เน็ตเพิ่มขึ้นแต่ขาดความระวังในการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว หวั่นถูกหลอกได้ง่าย เผยปีนี้เป็นปีแรกที่คนใช้สมาร์ทโฟนเข้าเน็ตมากที่สุดตลอด 24 ชั่วโมง แต่มีอุปสรรคความล่าช้าในการเชื่อมต่อสูงสุด

นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA กล่าวว่า ปีนี้ ETDA ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตปี 58 ระหว่างเดือน มี.ค.-พ.ค.58 ด้วยจำนวนประชากร 10,434 คน โดยเป็นปีแรกที่การสำรวจแบ่งเป็นช่วงอายุ 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม Gen X อายุ 35-50 ปี กลุ่ม Gen Y อายุ 15-34 ปี กลุ่ม Gen Z อายุน้อยกว่า 15 ปี และกลุ่ม Baby Boomer อายุ 51-69 ปี โดยแต่ละกลุ่มมีสัดส่วนการตอบคำถามที่ 26.2%, 64.6%, 2.9% และ 6.5% ตามลำดับ

จากผลสำรวจพบการใช้งานอินเทอร์เน็ตต่อวันเพิ่มขึ้นประมาณ 1 ชั่วโมงต่อวัน จากปี 57 ที่ 7.5 ชั่วโมงต่อวัน เป็น 8.3 ชั่วโมงต่อวัน ในปี 58 ที่สำคัญยังพบว่า กลุ่ม Baby Boom เป็นกลุ่มที่มีการใช้เน็ตเพิ่มขึ้น แต่กลับเป็นกลุ่มที่เสี่ยงที่สุดอีกด้วย เนื่องจากเป็นกลุ่มที่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว เช่น ข้อมูลส่วนตัว ระดับรายได้ และเลขบัตรประจำตัวประชาชนแบบไม่ระมัดระวัง จึงอาจเป็นช่องให้มิจฉาชีพขโมยข้อมูลได้

นอกจากนี้ ปีนี้ยังเป็นปีแรกที่ผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของคนในยุคนี้ที่ใช้สมาร์ทโฟนเป็นอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตกันมากที่สุดถึงตลอด 24 ชั่วโมง โดยกิจกรรมยอดนิยมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ อันดับ หนึ่ง คือ การใช้บริการโซเชียลเน็ตเวิร์ก เช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และไลน์ เป็นต้น คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 82.7 %

ในขณะที่อันดับสอง คือ การสืบค้นข้อมูล 56.6% อันดับสาม คือ การใช้ติดตามข่าวสาร หนังสือพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ 52.2% โดยกลุ่ม Gen X กลุ่ม Gen Y กลุ่ม Gen Z คือ กลุ่มที่เลือกสมาร์ทโฟนในการเชื่อมต่อเน็ตเป็นอันดับหนึ่ง ในขณะที่กลุ่ม Baby Boomer เลือกใช้คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะเป็นอันดับหนึ่ง โดยเน้นหนักไปที่การใช้เพื่อสืบค้นข้อมูล 62.2% ใช้เพื่อรับ-ส่งอีเมล 53.7% และเพื่อการสื่อสารผ่านสังคมออนไลน์ 45.3%

ทั้งนี้ เนื่องจากความสามารถในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต คือ หนึ่งในปัจจัยหลักที่มีความสำคัญ ทั้งต่อการติดต่อสื่อสาร และต่อการทำธุรกรรมออนไลน์ทั้งในด้านการซื้อและการขาย การสำรวจในปีนี้จึงมุ่งหาสาเหตุที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้งานอินเทอร์เน็ต พบว่า ปัญหาหลักอยู่ที่ความล่าช้าในการเชื่อมต่อที่มีสูงถึง 72% ขณะที่อันดับสอง เกิดจากการโดนรบกวนจากโฆษณาออนไลน์ที่มีเป็นจำนวนมาก 41.6% และสุดท้ายเกิดจากปัญหาความยากในการเชื่อมต่อ หรือสัญญาณหลุดบ่อย 33.8%

นางสุรางคณา กล่าวว่า การสำรวจในปีนี้ยังมีภาคผนวกที่มุ่งสำรวจพฤติกรรมการซื้อสินค้า และบริการทางออนไลน์โดยเฉพาะ โดยข้อมูลที่ได้จะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรืออีคอมเมิร์ซ เพื่อใช้กำหนดนโยบายส่งเสริมการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซให้สอดคล้องต่อความต้องการ และพฤติกรรมของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จากการสำรวจปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้า และบริการผ่านช่องทางออนไลน์ 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1.การนำเสนอข้อมูลของสินค้าของเว็บไซต์ 51.2% 2.ความชัดเจน และความน่าสนใจของภาพผลิตภัณฑ์ 50.5% 3.สินค้าหรือบริการถูกกว่าร้านค้าปกติ 46.4% 4.การประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง รวมถึงความสามารถในการสั่งซื้อได้ตลอด 24 ชั่วโมง 46.1% และ 5.โปรโมชัน 41.6 %

ขณะเดียวกัน ผลสำรวจในภาพรวมชี้ว่า หมวดสินค้า หรือบริการที่ได้รับความนิยมสั่งซื้อออนไลน์มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.สินค้าแฟชั่น เช่น เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า และเครื่องประดับ 42.6 % 2.อุปกรณ์ไอที เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ตคอมพิวเตอร์ 27.5% และ 3.สินค้ากลุ่มสุขภาพและความงาม เช่น เครื่องสำอาง และอาหารเสริม 24.4 %

สำหรับช่องทางการจ่ายเงินยอดนิยมในปีนี้ อันดับหนึ่ง และสองยังคงเป็นช่องทางออฟไลน์ ได้แก่ การโอนเงินผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร 65.5% และการโอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม 31.2% ชี้ให้เห็นว่า ผู้ซื้อสินค้า และบริการทางออนไลน์ยังคงกลัวการจ่ายเงินผ่านช่องทางออนไลน์ ส่วนอันดับ 3 คือ การจ่ายเงินผ่านช่องทางออนไลน์ ได้แก่ บัตรเครดิต 26.4%

เมื่อเปรียบเทียบช่องทางการจ่ายเงินกับกลุ่มอายุของผู้ที่เคยซื้อสินค้า/บริการทางออนไลน์ พบว่า กลุ่ม Gen X และกลุ่ม Baby Boomer ใช้บัตรเครดิตในการจ่ายค่าสินค้า และบริการทางออนไลน์สูงว่ากลุ่มผู้ใช้ในวัยอื่น คิดเป็น 50.4% และ 51.5% ตามลำดับ ขณะเดียวกัน ข้อมูลยังระบุว่า สองกลุ่มหลังมีการให้ข้อมูลส่วนตัว เช่น อีเมล ระดับรายได้ และหมายเลขบัตรประชาชนสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ ทำให้เป็นความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายจากการจ่ายเงินค่าสินค้า หรือบริการที่ซื้อทางออนไลน์สูงกว่ากลุ่มวัยอื่นๆ ค่อนข้างมาก

นอกจากนี้ จากการสำรวจยังพบว่า ปัญหาหลัก 3 อันดับแรกจากการซื้อสินค้า และบริการออนไลน์ อันดับหนึ่ง คือ ได้รับสินค้าช้ากว่ากำหนด 58.7% อันดับสอง ได้รับสินค้าไม่ตรงตามในเว็บไซต์ 29.9% และอันดับสาม สินค้าเกิดความชำรุดเสียหาย 24%

ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์
6 สิงหาคม 2558