ของเล่นสำหรับคุณหนูนักโปรแกรม

Post Reply
brid.ladawan
Posts: 7045
Joined: 29 Mar 2013, 13:36

ของเล่นสำหรับคุณหนูนักโปรแกรม

Post by brid.ladawan »

ของเล่นสำหรับคุณหนูนักโปรแกรม

สมัยนี้อะไร ๆ ก็เป็นแอพ (app) ไปหมดแล้ว ยิ่งในระบบใหญ่ ๆ ก็ซับซ้อนเสียจนทำเครื่องออกมาไม่ทัน ต้องทำแบบง่าย ๆ แล้วเขียนแอพ (โปรแกรมหรือซอฟต์แวร์) เข้าไปคุมอีกชั้นหนึ่ง เผื่อต้องการอะไรเด็ด ๆ เพิ่มเติมก็เขียนโปรแกรมหรือซอฟต์แวร์เพิ่มได้โดยง่าย หลักการนี้ทางวิศวกรรมเรียกกันว่า software defined system หรือระบบที่กำหนดกะเกณฑ์ด้วยซอฟต์แวร์ ซึ่งจะกล่าวถึงในตอนหน้า ส่วนวันนี้มาพูดถึงเยาวชนรุ่นต่อไป ซึ่งต้องการเป็นนักโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (และอื่น ๆ อย่างการแสดง หรือบริหารบ้านเมือง) เหล่านี้ต้องการคนที่มีทักษะในการวางแผน วางขั้นตอน มีความคิดเป็นระบบ เรียกง่าย ๆ ว่าต้องใช้โปรแกรมเป็นนั่นแหละ แต่โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันต้องมีทักษะทางภาษาไม่มากก็น้อย ทำให้เด็กเล็ก ๆ ไม่สามารถฝึกฝนและสำรวจพรสวรรค์ของตนได้ตั้งแต่เล็ก ๆ ผู้อ่านอาจสงสัยว่าจะเรียนตั้งแต่เด็ก ๆ ไปทำไม ก็ต้องดูตัวอย่างนักกีฬาว่ายน้ำ สมัยนี้เขาฝึกกันตั้งแต่ยังเดินไม่ได้เลยครับ จับเด็กทารกโยนลงน้ำก็ว่ายคล่อง ดำน้ำคล่องเป็นโลมาไปเลย หรือนักเทนนิสเขาก็แขวนลูกบอลเบา ๆ ไว้เหนือเปลเด็กแบเบาะแล้วเอาไม้เทนนิสเด็กเล่นผูกแขนให้เด็กเหวี่ยงตีลูกบอลเล่น ฝึกกันตั้งแต่ยังเรียกพ่อเรียกแม่ไม่เป็นเลยครับ ตอนนี้มีวิธีการสอนเด็กเล็กให้สามารถเขียนโปรแกรมได้หลายวิธี แต่วิธีหนึ่งที่จะมาพูดถึงในวันนี้คือ คีโบ้ (Kibo) ของบริษัทคินเดอร์แลปโรโบติคส์ (KinderLab Robotics: http:// kinderlabrobotics.com/kibo/) ซึ่งทำหุ่นยนต์ของเล่นสองล้อสีสันสวยงามออกมา พร้อมระบบที่ทำให้โปรแกรมสั่งการหุ่นยนต์ทำได้โดยเด็กเล็ก ๆ แม้แต่ที่อายุน้อย ๆ ยังไม่เข้าโรงเรียน โดยการจัดคำสั่งเป็นก้อนสี่เหลี่ยมแบบที่ใช้สอนตัวอักษรให้เด็ก ๆ น่ะครับ ก้อนสี่เหลี่ยมเหล่านี้มีก้านที่ให้เสียบต่อเข้าด้วยกันเป็นแถวยาวแทนโปรแกรม แล้วให้หุ่นยนต์ส่องดูคำสั่งในแถวที่ต่อขึ้น จากนั้นหุ่นยนต์จะทำตามคำสั่งใน “โปรแกรม” ที่เขียน คำสั่งก็เป็นแบบง่าย ๆ เช่น เดินหน้า ถอยหลัง เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา สั่น เล่นเพลง เปิดไฟ โดยใช้รูปภาพที่เด็ก ๆ เข้าใจได้ง่าย และมีบาร์โค้ดสำหรับให้หุ่นยนต์สแกนอ่าน เป็นแนวทางสำคัญในการสร้างนักโปรแกรมซอฟต์แวร์รุ่นจิ๋วเพื่อปูทางให้ก้าวเข้าสู่สังคม Digital Economy ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ของเล่นแบบนี้ทำให้ผู้เขียนอดนึกถึงของเล่นที่เล่นในสมัยเด็ก ๆ ไม่ได้ ที่จำได้แม่นคือยานอวกาศกลม ๆ แบน ๆ มีสามล้อ ล้อหนึ่งหมุนข้าง ๆ ได้สำหรับเวลาที่แล่นไปชนอะไรเข้าก็สามารถเลี้ยวหลบออกจากตรงนั้นได้ตลอด ผู้เขียนเล่นเสียเบื่อก็เลยเอาไขควงรื้อถอดออกมาเป็นชิ้น ๆ ดูมอเตอร์ ดูรังถ่านข้างใน สนุกไปอีกแบบ จะสอนวิทยาศาสตร์น่ะต้องเริ่มกันตั้งแต่เด็ก ๆ เลยแหละครับ โตแล้วไม้แก่ดัดยากครับ ตอนนี้ยังไม่เห็นในร้านทั่วไปหรือร้านขายของออนไลน์ ได้แต่ไปสั่งซื้อที่เว็บของบริษัทเขา สนนราคาก็ร่วม ๆ หมื่น แต่สำหรับการศึกษาของลูก ๆ แล้วก็ถือว่าน่าลงทุนนะครับ หวังว่าร้านขายของเล่น หรือร้านขายคอมพิวเตอร์ หรือขายมือถือในห้างดัง ๆ บ้านเราน่าจะเอาเข้ามาทำตลาดในเร็ววัน เยาวชนไทยจะได้มีโอกาสดี ๆ มากขึ้น. ดร.ยรรยง เต็งอำนวย (เกษียณราชการ) ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะ วิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย“

ที่มา : http://www.dailynews.co.th/it
7 สิงหาคม 2558
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”