Page 1 of 1

คอลัมน์: กระจกไร้เงา: ซอฟต์แวร์ ตัวแปรธุรกิจยุคดิจิทัลอีโคโน

Posted: 29 Oct 2015, 16:10
by brid.ladawan
ในยุคที่การติดต่อสื่อสารเป็นแบบดิจิทัล การดำเนินธุรกิจ ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภค เพื่อให้เกิดการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแท้จริง และอีกปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรต่างๆ สามารถสร้างกำไรได้เพิ่มขึ้นนอกจากรายได้ที่มาจากการขายสินค้าหรือบริการแล้ว การลดต้นทุนและการประหยัดค่าใช้จ่ายก็เป็นสิ่งจำเป็น

ทั้งนี้ จากการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ ไทย หรือทีดีอาร์ไอ พบว่า ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดิจิทัลอีโคโนมีนั้น ธุรกิจไทยได้มีการนำซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ประโยชน์ในหลากหลายธุรกิจ ทั้งในแง่ของการเพิ่มผลิต ภาพ/ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ เพิ่มรายได้ และลดต้นทุน ดังนั้น ภาครัฐควรมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการใช้ซอฟต์แวร์ในธุรกิจไทยโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี (SMEs) ซึ่งยังขาดความตระหนักในเรื่องประโยชน์ที่ได้จากการใช้ซอฟต์แวร์ในองค์กร

นอกจากนี้ ยังมีการสะท้อนความต้องการสนับสนุนมาถึงภาครัฐ ให้มีการสนับสนุนผู้ผลิตซอฟต์แวร์ไทยกลุ่มสตาร์ทอัพ ให้มีจำนวนมากขึ้น โดยภาครัฐอาจใช้มาตรการจูงใจด้านการเงิน เช่น การให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือมาตรการทางภาษี ซึ่งธุรกิจบริการท่องเที่ยวและโรงแรมนั้น การใช้บริการของบริษัทที่รับจัดการด้านซอฟต์แวร์เพื่อบริหารจัดการห้องพัก และการบริหารจัดการงานภายใน และการส่งเสริมการตลาด พบว่า ทำให้โรงแรมมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 38.4 ล้านบาทต่อปี จากการมีระบบจองห้องพักออนไลน์และมีข้อมูลในการวางแผนการตลาด รวมทั้งประหยัดค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงาน 0.4 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ ยังสามารถลดขั้นตอนตรวจสอบด้านบัญชีและการ เงิน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของฝ่ายต่างๆ และเพิ่มประ สิทธิภาพการให้บริการแก่ลูกค้า ขณะที่มีต้นทุนการใช้ซอฟต์แวร์และบุคลากรด้านไอทีเฉลี่ยประมาณ 1.7 ล้านบาทต่อปี

ส่วนธุรกิจบริการขนส่ง ธุรกิจแท็กซี่ นำซอฟต์แวร์มาใช้ในการอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า ทำให้สามารถเพิ่มคุณภาพบริการ รวมทั้งลดเวลาวิ่งรถเปล่าและเปลี่ยนกะ มีรายได้เพิ่มขึ้น อาทิ บริษัท ออลไทยแท็กซี่ ซึ่งพัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้นมาใช้เอง เพื่อแก้ปัญหาด้านประสิทธิภาพและคุณภาพของแท็กซี่ จนทำให้สามารถเพิ่มเวลาให้บริการได้มากกว่า 42.8% เมื่อเปรียบเทียบกับรถแท็กซี่ทั่วไป หรือคิดเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นกว่า 900 บาทต่อคันต่อวัน นอกจากนี้ ผู้โดยสารได้รับบริการที่ดีขึ้น ทั้งในด้านความปลอดภัยและความตรงไปตรงมา ขณะที่มีต้นทุนการใช้ซอฟต์แวร์และบุคลากรด้านไอที เฉลี่ยประมาณ 162 บาทต่อคันต่อวันเท่านั้น

และอีกตัวอย่างธุรกิจที่นำซอฟต์แวร์มาใช้แล้วประสบความสำเร็จ คือ บริการรับเหมาก่อสร้าง ซอฟต์แวร์ช่วยให้ผู้รับเหมาก่อสร้างเกิดความสะดวกในการจัดการกับข้อมูลวัสดุ การวางแผนการรับงาน การจ่ายค่าจ้างคนงาน รวมถึงการจัดทำบัญชี ทำให้รู้ต้นทุนชัดเจนและทำกำไรได้ดีขึ้น

อาทิ บริษัท ศุภกร วิศณุศิลป์ นำซอฟต์แวร์บิลค์ (builk) ซึ่งคิดค้นโดยคนไทยและเปิดให้ใช้งานฟรีมาใช้ในกิจการจนทำให้สามารถลดต้นทุนค่าวัสดุก่อสร้างได้มากกว่า 2% ต่อโครงการ และลดค่าบริหารจัดการ (overhead cost) ได้ประมาณ 0.8% ต่อโครงการ เนื่องจากซอฟต์แวร์ช่วยให้บริหารจัดการโครงการให้เสร็จเร็วกว่าแผน 39%

ส่วนธุรกิจบริการรักษาความปลอดภัย การใช้ซอฟต์แวร์ในการบริการจัดการทรัพยากรบุคคลช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ และลดค่าใช้จ่าย อาทิ บริษัท เอเชีย ซิเคียวริตี้ เมเนจเม้นท์ จำกัด นำซอฟต์แวร์ของบริษัท อินโนวา ซอฟต์แวร์ จำกัด มาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล ทำให้บริษัทสามารถบริหารจัดการจ่ายค่าตอบแทนพนักงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดการจ่ายค่าจ้างผิดพลาดได้โดยเฉลี่ย 83.4 ล้านบาทต่อปี

อีกทั้งช่วยลดจำนวนบุคลากรฝ่ายบุคคลและฝ่ายบัญชีได้ 20 ตำแหน่ง นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มคุณภาพการบริการได้ดีขึ้น เนื่องจากการรายงานข้อมูลแบบ real time ทำให้บริษัทสามารถจัดการกับสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างทันท่วงทีมากขึ้น ขณะที่มีต้นทุนการใช้ซอฟต์แวร์และบุคลากรไอทีเฉลี่ย 6.7 ล้านบาทต่อปี

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า สำหรับกรณีศึกษาการใช้ซอฟต์แวร์ของภาคธุรกิจในยุคดิจิทัลอีโคโนมี ก็เพื่อศึกษาแนวปฏิบัติเชิงยุทธศาสตร์ของการใช้ซอฟต์แวร์เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ ตลอดจนช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs หันมาใช้ซอฟต์แวร์และเห็นประโยชน์ของการใช้ซอฟต์แวร์ให้มากขึ้น จึงเห็นได้ว่าซอฟต์แวร์จะเป็นตัวแปรสำคัญในการดำเนินต่อยอด และขยายธุรกิจต่อไป.

วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม 2558
ขอขอบคุณ : http://www.ryt9.com/s/tpd/2282890